xs
xsm
sm
md
lg

กำเนิด และหายนภัยของ “ปิโตรธิปไตย” / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
1. ความหมาย


ถ้าคำว่า “ประชาธิปไตย (Democracy)” หมายถึง “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หรือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่” ซึ่งบัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน แล้วคำว่า “ปิโตรธิปไตย (Petrocracy)” ควรจะหมายความว่าอย่างไรดี

คำว่า Democracy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกที่ว่า demokratía โดยที่ demo หมายถึงประชาชน (people) และ kratia หรือ kratos หมายถึงอำนาจ หรือพลัง (power) หรือรูปแบบการปกครอง (cracy)

คำว่า Petrocracy ซึ่งผมค้นมาได้จากอินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าคำนี้ยังไม่มีการบัญญัติในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่จากการผสมระหว่าง petroleum (ปิโตรเลียม) กับ cracy ดังนั้น ถ้าแปลตามแนวคิดของราชบัณฑิตยสถานก็น่าจะสรุปได้ว่า “ปิโตรธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติของกลุ่มทุนปิโตรเลียมเป็นใหญ่”

เมื่อต้นปี 2552 ผมได้รวมบทความที่เกี่ยวกับพลังงานเล่มหนึ่ง ภายใต้ชื่อหนังสือว่า “ปิโตรธิปไตย” โดยมีคำขยายความเพิ่มเติมว่า “การครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม” บัดนี้หนังสือเล่มนี้ได้จำหน่ายหมดไปนานแล้วครับ (ฮา)

​เหตุผลที่ผมได้ให้ความหมายของปิโตรธิปไตยว่าเป็นการครอบงำโลกด้วย ปิโตรเลียม ก็เพราะว่า กลุ่มทุนปิโตรเลียมเป็นทุนขนาดใหญ่ และไร้พรมแดน แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ดังนั้น มติของกลุ่มทุนปิโตรเลียมจึงเป็นมติที่ใช้กำหนดทิศทางการ “พัฒนา” ของแต่ละประเทศ และสามารถครอบงำโลกได้ทั้งใบไปพร้อมๆ กัน

​ปิโตรเลียม (หมายถึงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) เป็นทรัพยากรที่อยู่ลึกลงไปในใต้ดิน ใต้ทะเลนับพันๆ เมตร แล้วประชาชนธรรมดาๆ ที่ไหนจะมีปัญญาลงไปเอาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และผูกขาดไม่กี่รายเท่านั้นที่จะทำได้

ในเมื่ออำนาจในการจัดการปิโตรเลียมเป็นของกลุ่มทุนผูกขาดจำนวนน้อยราย ประกอบกับกลุ่มทุนปิโตรเลียมเหล่านี้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ และของโลกด้วยแล้ว มีหรือที่พวกเขาจะยินยอมให้ชาวโลกไปใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวลที่ไม่อยู่ในอำนาจ หรือสัมปทานของพวกเขา

ในเชิงภาษา “ปิโตรเลียม” หมายถึงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แต่ในที่นี้เมื่อพูดถึงกลุ่มทุนปิโตรเลียมจะหมายรวมถึงกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล ซึ่งได้รวมถึงพ่อค้าถ่านหินเข้าไปด้วย เพราะเชื้อเพลิงทั้ง 3 ชนิดนี้มีลักษณะร่วมกัน คือ รวมศูนย์ ผูกขาดได้ง่าย เป็นตัวก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และหายนภัยต่อชาวโลกอย่างใหญ่หลวง (ซึ่งจะกล่าวในตอนสุดท้าย)

สำหรับประเทศไทยเราเอง ผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ หรือเป็นสมองของประเทศ แทนที่จะเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตามเจตนารมณ์การก่อตั้ง) หรือสถาบันวิชาการอย่างมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันมีมากถึงเกือบ 200 แห่ง) แต่หลายกลุ่มพ่อค้าโรงไฟฟ้าที่มีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และพ่อค้าถ่านหินเป็นผู้ป้อนเชื้อเพลิงรายใหญ่ให้

คุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นบุกเบิก ได้แต่งเพลง “คนกับหมา” มีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “ชีวิตฉันมีแต่หมาพาไป จะเดินหนใดมีหมานำ” ผมอยากจะสรุปในตอนนี้ว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศเราได้ถูกกำหนดโดยพ่อค้าพลังงาน เพื่อพ่อค้าพลังงานมานานเกินไปแล้ว

2. กำเนิดปิโตรธิปไตย
 
​ในหัวข้อนี้จะตอบคำถามว่า ระบอบปิโตรธิปไตยได้เกิดขึ้นเมื่อใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร

เอาคำถามแรกก่อนครับ คือเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าเราย้อนไปดูสถิติการใช้พลังงานของชาวโลกย้อนหลังไปสักประมาณ 200 ปี (ดังกราฟการใช้พลังงานต่อหัวประชากรข้างล่างนี้ http://gailtheactuary.files.wordpress.com/2012/03/world-energy-consumption-by-source.png) พบว่า

(1) การใช้พลังงานเฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวโลกได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว

(2) เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน แหล่งพลังงานทั้งหมดมาจากสิ่งมีชีวิต (Biofuels) ซึ่งส่วนมากเป็นเชื้อเพลิงจากไม้ แต่ในปัจจุบัน (2010) มากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมดมาจากปิโตรเลียมคือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และหากรวมพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) เข้าด้วยกัน ก็คิดเป็นประมาณ 80% ของพลังงานทั้งหมด

(3) มนุษย์ได้นำน้ำมันมาใช้ในเชิงพาณิชย์เมื่อประมาณ 100 ปีมานี้เอง

(4) โดยการใช้ความรู้คณิตศาสตร์ (แคลคูลัสเบื้องต้น) เราสามารถคำนวณได้ว่า กว่า 90% ของปิโตรเลียมที่ได้ถูกใช้ไปแล้วนั้น เป็นการใช้หลังจากปี ค.ศ.1950 หรือเมื่อ 62 ปีมานี้เอง

(5) ในขณะที่การใช้ปิโตรเลียมซึ่งเป็นสินค้าผูกขาดของกลุ่มพ่อค้าพลังงานได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พลังงานจากสิ่งมีชีวิต (ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป และผูกขาดได้ยาก) ได้ลดลงจากร้อยละ 100 ในปี 1820 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นในปี 2010
 

 
จากข้อมูลดังกล่าว ถ้าต้องระบุให้ชัดเจนว่า ยุคระบอบปิโตรธิปไตยได้เกิดขึ้นเมื่อใด โดยใช้ความรู้ในวิชาแคลคูลัส (เรื่องจุดเปลี่ยนเว้า) ก็ต้องถือว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงประมาณ 10 ปี และหลังการเกิดองค์การสหประชาชาติได้ 5 ปี

คราวนี้มาถึงคำถามที่สอง คือ เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบนี้ต้องมีสองด้านครับ

ด้านหนึ่ง ความหมายที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ไว้ที่ว่า “ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” ได้ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) เข้าใจว่า การเลือกตั้งคือหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

แต่นักปราชญ์ นักปฏิวัติ และนักเขียน 3-4 ท่านต่อไปนี้ มีความเห็นต่างในบางแง่บางมุม ทั้งในมุมที่สำคัญมาก และสำคัญรองๆ ลงมา

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้แย้งว่า “ประชาธิปไตย ต้องถือประโยชน์ที่ถูกต้องของประชาชนทั้งหมดเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนบ้าบอแล้วก็ฉิบหายหมด” (สัมภาษณ์โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)

ผมเห็นว่าประเด็นนี้เป็นหัวใจหลักเลยทีเดียว ปัญหาต่างๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ยาเสพติด รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ น่าจะเริ่มต้นจาก “ความบ้าบอ” ทั้งหลาย

ท่านที่สองคือ เช เกวารา (1961) ได้ให้ความเห็นว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถประกอบด้วยการเลือกตั้งที่แทบทุกครั้งจะเป็นเรื่องหลอกลวง และจัดการโดยเศรษฐีที่ดิน และนักการเมืองมืออาชีพเพียงอย่างเดียว

ท่านที่สาม David Cromwell ผู้เขียนบทความเรื่อง “พลังงานท้องถิ่น ประชาธิปไตยท้องถิ่น” โดยอ้างถึงหนังสือเรื่อง “ใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์” (1996-เขียนโดย Daniel Berman and John O’Connor) ได้ข้อสรุปที่ตกผลึกว่า “ประชาธิปไตยคือสัญญาหลอกๆ (false promise) ถ้าไม่ได้รวมถึงพลังการขับเคลื่อนที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจพลังงาน (ของท้อง ถิ่น)”

​คุณ David Cromwell ได้ขยายความว่า “สังคมได้เสพติดพลังงานฟอสซิลก็เพราะบรรษัทที่โลภ และรัฐบาลได้ร่วมมือกันให้การสนับสนุนทั้งในรูปภาษี และเงินชดเชยแก่อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล” และอีกตอนหนึ่งว่า “นี่เป็นการขับเคลื่อนไปบนถนนไฮเวย์แห่งการทำลายล้างตัวเอง หนทางที่จะออกจากถนนแห่งการฆ่าตัวตายนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิวัติสองอย่างซึ่งเป็นฝาแฝดกันคือ”

​“หนึ่ง หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งเป็นพลังงานในท้องถิ่น) และสอง สนับสนุนพลังของประชาธิปไตยท้องถิ่น”

​ท่านสุดท้าย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความเห็นของใคร (ลายเซ็นอ่านไม่ออก) ว่า “ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ทุกๆ ความคิดที่ผิดพลาดแม้เพียงน้อยนิด แต่อาจจะเติบใหญ่ไปเป็นนโยบายแห่งชาติได้”

​จากข้อท้วงติงของท่านพุทธทาสภิกขุต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย จากคำท้วงติงเรื่องการหลอกลวงเรื่องการเลือกตั้ง (โดยเช เกวารา) จากการปฏิวัติฝาแฝด (การใช้พลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนประชาธิปไตยท้องถิ่น) จนถึงท่านสุดท้าย การที่สังคมไทยมักปล่อยให้ความคิดที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ผ่านเลยไป (เช่น การรับจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก และการถมทะเล)

​ทั้งหมดนี้คือหน่ออ่อนที่ทำให้ระบอบปิโตรธิปไตยเกิดขึ้น

​สำหรับด้านที่สอง ที่ทำให้ระบอบปิโตรธิปไตยเติบใหญ่อย่างรวดเร็วก็เพราะกระบวนการล้างสมองด้วยงบโฆษณามหาศาล

สำหรับเรื่องหายนภัยของระบอบปิโตรธิปไตยนั้น ขออนุญาตเก็บไว้ในตอนต่อไปนะครับ เพราะกำลังจะเดินทางไปร่วมพูดคุยกับชาวอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เพื่อเสริมสร้างพลังของประชาธิปไตยท้องถิ่น และสิทธิชุมชน ครับผม
 


กำลังโหลดความคิดเห็น