xs
xsm
sm
md
lg

สำรองLPGเริ่มเสี่ยง ปตท.หนุนลอยตัวปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.หนุนก.พลังงานลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มปีหน้า เผยขณะนี้ปริมาณสำรองเหลือแค่1-2 วัน มีความเสี่ยงเนื่องจากแหล่งซัปพลายใหญ่อยู่ตะวันออกกลาง และยังลดภาระการอุดหนุนของปตท.และประเทศชาติ ด้านรมว.พลังงานหนุนเกษตรกรปลูกหญ้าเลี้ยงช้างเพื่อหมักทำก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า มั่นใจต้นปีหน้าออกกฎระเบียบชัดเจน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากราคาขายก๊าซหุงต้ม (LPG)ในประเทศที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกถึง 3 เท่าตัว ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถของคลังและท่าเรือไม่เพียงพอที่จะรองรับการนำเข้าก๊าซหุงต้มได้เพิ่มขึ้น และปริมาณสำรองก๊าซหุงต้มในประเทศเหลือแค่ 1-2 วันซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง ด้านความมั่นคงและการขนส่งเนื่องจากแหล่งซัปพลายใหญ่มาจากตะวันออกกลาง

ดังนั้นนโยบายรัฐที่จะปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในปีหน้า ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศไม่ต้องอุดหนุน ขณะเดียวกันภาระการอุดหนุนราคาก๊าซฯของปตท.ก็จะลดลงด้วย แต่จะลดภาระเท่าใดยังต้องรอดูความชัดเจนของการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มก่อน

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานให้ปตท.จัดทำแผนขยายเพิ่มสถานีบริการNGVให้ชัดเจนเพื่อแลกกับการปรับขึ้นราคาก๊าซฯนั้น ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนเพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน โดยยอมรับว่าการขยายสถานียังมีปัญหาหลายด้าน

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในปีหน้าคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบน่าจะอยู่ที่ 105-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองค่อนข้างมาก โดยล่าสุดทางอิสลาเอลจะเลื่อนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเป็นต้นปี56 และปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะสเแปรตลีย์แถบทะเลจีนใต้ คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา Green Energy Forum : พลังงานสีเขียว ดุลยภาพสู่ความยั่งยืน ว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบานสนับสนุนพลังงานสีเขียวอย่างจริงจังโดยเฉพาะก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า อาทิ หญ้าเนเปียร์หรือหญ้าเลี้ยงช้างนำมาหมักเพื่อให้ก๊าซชีวภาพ ซึ่งพบว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าดังกล่าวไม่สูงมากอยู่ที่ 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ โดยอัตราค่าไฟฟ้าแบบFeed in Tariff จะอยู่ที่ 4.50 บาท/หน่วย ตลอดอายุสัญญา 25 ปี ซึ่งต่ำกว่าราคาค่าไฟที่ซื้อจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 9.70 บาท/หน่วย (รวมแอดเดอร์ 6.50 บาท) ทำให้ค่าเอฟทีไม่สูงมากนัก

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเลี้ยงช้างให้ได้ 7,000 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 20%จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 1% เนื่องจากไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 67% ถ่านหิน 20%พลังน้ำ 5 % เนื่องจากหญ้าเลี้ยงช้างเพาะปลูกในที่ดอน ทนแล้งได้ดี โดยสร้างรายได้ให้เกษตรกรตันละ 300 บาทสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังโดยกระทรวงพลังงานจะออกประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนและแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานชีวภาพที่ผลิตจากหญ้าเลี้ยงช้างได้ในช่วงม.ค.-ก.พ.56 คาดว่าจะเห็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพนี้ในปี 2558 ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีการนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่และนครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น