ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อน มีข่าวต่างประเทศพาดหัวข่าวสยดสยอง “อุโมงค์ญี่ปุ่นพังถล่ม! ตายแล้ว 9 ศพ” ถูกไฟคลอกติดอยู่ในซากรถยนต์รวม 8 ศพ เหตุเกิดเมื่อวันที่3 ธ.ค.55
ระบุชื่อ “อุโมงค์ ซาซาโงะ”ที่อยู่ห่างไปทางตะวันตกของกรุงโตเกียว 80 กิโลเมตร
อุโมงค์ ซาซาโงะ ตั้งอยู่บนทางด่วน ชูโอะ ในจังหวัด ยามานาชิ พังถล่มลงมาบนถนนทางหลวง ซึ่งเป็นเส้นทางเข้า-ออกกรุงโตเกียว
โดยมีบริษัทเอกชน “เซ็นทรัล นิปปง เอ็กเพรสส์เวย์” บริหาร แม้อุโมงค์เส้นนี้จะมีความยาว 4.7 กิโลเมตร แต่ก็มีภาพข่าวผู้บริหาร แถลงข่าวก้มหัวประกาศลาออกจากตำแหน่งยกคณะเพื่อรับผิดชอบ
ยังไม่มีการสรุปว่า สาเหตุเกิดจากอะไรแน่ชัด แต่มีผู้ลาออกรับผิดชอบไปแล้ว
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย สุดสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน มีข่าว “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมช.คมนาคมหน้าใหม่ถอดด้าม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา
มีหน้าที่กำกับดูแล “กรมทางหลวง”
ออกมาให้สัมภาษณ์ปัดฝุ่น อภิมหาโครงการตั้งแต่ปี 2549 ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีการทำประชาพิจารณ์แต่ถูกระบุว่าไม่โปร่งใส ถนนเส้นนี้ “กรมทางหลวง” ได้ดำเนินการวางโครงข่ายมาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้เชื่อมโยง 13 สายทางหลักทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรทางบก
ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นในการวางแผนก่อสร้าง Motorway ครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 13 สายทางหลัก
โครงการนี้ นายโสภณ ซารัมย์ อดีตรมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ก็เคยนำมาปัดฝุ่นเช่นกัน แต่มีอันต้องพักไป
มีการระบุว่า นายอภิสิทธิ์ มีคำสั่งยกเลิกโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนนั้นมี มูลค่า 5.3 หมื่นล้านบาท หลังจากมีการเปิดโปงการทุจริตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการร่วมลงชื่อฟ้องร้องศาลปกครอง
โครงการนี้ คนนครราชสีมา เคลื่อนไหวคัดค้านติดต่อกันถึง 3 รัฐบาล หรือประมาณ 8 ปีมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด
จนล่าสุดรมช.คมนาคมผู้นี้ ออกมาย้ำว่า รัฐบาลเตรียมทุ่มงบ 6.4 หมื่นล้าน เดินหน้าสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะโครงการนี้ จะปรับรูปแบบการลงทุนใหม่จากเดิมแบบ PPP Gross Cost เอกชนลงทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาทางและรัฐจัดเก็บค่าผ่านทาง เป็นว่าจ้างให้เอกชนก่อสร้างก่อนแล้วรัฐผ่อนคืนภายหลังพร้อมดอกเบี้ย
คาดว่าจะเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีอนุมัติเร็ว ๆ นี้ เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ปีนี้ เริ่มสร้างในปี 2556 เสร็จในปี 2559
สำหรับแนวเส้นทางจะเป็นแนวตัดใหม่ พาดผ่าน 3 จังหวัด คือ
1)พระนครศรีอยุธยา ผ่านท้องที่ ต.เชียงรากน้อย ต.คลองจิก อ.บางปะอิน ต.ลำไทร ต.บ่อตาโล่ ต.ลำตาเสา อ.วังน้อย ต.หนองน้ำส้ม ต.โพสาวหาญ อ.อุทัย
2)สระบุรี ต.หนองปลิง ต.คชสิทธิ์ ต.บัวลอย ต.หนองจิก ต.หนองนาก อ.หนองแค ต.หนองปลาไหล อ.เมือง ต.กุดนกเปล้า ต.ห้วยแห้ง ต.ชำผักแพว ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก
3)นครราชสีมา ผ่านท้องที่ ต.พญาเย็น ต.กลางดง ต.หนองน้ำแดง ต.ขนงพระ ต.หนองสาหร่าย ต.จันทึก ต.วังไทร อ.ปากช่อง ต.คลองไผ่ ต.ลาดบัวขาว ต.สีคิ้ว ต.กุดน้อย อ.สีคิ้ว ต.เสมา ต.บุ่งขี้เหล็ก ต.โนนค่า อ.สูงเนิน ต.โป่งแดง ต.ขามทะเลสอ ต.บึงอ้อ อ.ขามทะเลสอ ต.สีมุม ต.บ้านใหม่ ต.ปรุใหญ่ และ อ.เมือง เวนคืนที่ดิน 2,187 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 370 ราย และไม้ยืนต้น 98 ราย รวมค่าเวนคืน 7,200 ล้านบาท
เขาบอกว่า เป็น โครงการนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม สำหรับพี่น้องประชาชน จ.นครราชสีมา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โครงการถนนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา เป็นการตัดถนนใหม่จาก อ.บางปะอิน จ.อยุธยา ผ่าน จ.สระบุรี อ.ปากช่อง (เขาใหญ่ ) จ.นครราชสีมา ถึงตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งจะใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ถนนจะมีช่วง 2 ตอน คือ ช่วงตอนที่ 1 จาก อ.บางปะอิน จ.อยุธยา ถึง อ.ปากช่อง (เขาใหญ่) จ.นครราชสีมา และ ช่วงที่ 2 จาก อ.ปากช่อง ถึงตัวเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม.
โครงการ 6.4 หมื่นล้าน จะถูกผลักดันเข้าไปในงบประมาณรายจ่าย ปี 2556
โดยได้สำรวจออกแบบเสร็จสิ้น ติดอยู่เพียงขั้นตอนของการออกพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดิน พื้นที่ตั้งแต่ บางปะอิน จนถึงเขตเขาใหญ่ นครราชสีมา ที่จะต้องเวนคืนทั้งโครงการฯ เป็นเงินประมาณ 7พันล้านบาท
นอกจากเวนคืนพื้นที่ อ.ปากช่อง บางส่วนยังจะมีการเวนคืน พื้นที่ ใน ต.ปรุใหญ่ , ชุมชนวัดเลียบเขตเทศบาลนครนครราชสีมา รวมถึงบ้านคนชุม ต.ปรุใหญ่
จุดนี้มีการร้องเรียนมาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี2552 จน “กรมทางหลวง” ต้องปรับแบบเลี่ยงแนวเส้นทางใหม่ ตอนนั้นกรมทางหลวงปฏิเสธที่จะแก้แบบ “ก่อสร้างทางยกระดับ”ตามข้อร้องเรียนได้ โดยอ้างว่าจะทำให้มูลค่าการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น
รมช.คมนาคม เล่าถึงปัญหาการเวนคืน จุดทางลงตรง อ.ปากช่อง ว่า เดิมสายทางแนวเดิมไปใกล้กับบริเวณโรงโม่หิน ทางกรมทางหลวงได้ขยับแนวให้ทางลงจุด อ.ปากช่อง อยู่บริเวณ กม.ที่ 2 ถ.ธนะรัตน์ เชื่อมทางเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และไปยัง อ.เมืองนครราชสีมา
ส่วนข้อเสนอให้ยกถนนเป็นถนนสองชั้น เพื่อที่จะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน
ได้มีการหารือกับทางกรมทางหลวง พบว่า 1. เนื่องจากถนนที่ออกจาก จ.สระบุรีมายัง อ.ปากช่อง เป็นถนนที่มีแนวคดเคี้ยวตรงบริเวณ อ.มวกเหล็ก 2. การดำเนินการยกถนนสองชั้นจะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 24,000 ล้านบาท อ้างเป็นภาระที่หนักของกรมทางหลวง
ยืนยันว่า “ยกถนนสองชั้น”ทำไม่ได้
ขณะที่ล่าสุดจาก งบประมาณเพิ่มจาก 5.3 หมื่นล้านบาท ขยับเป็น6.4 หมื่นล้านบาท และ 6.9 หมื่นล้านบาทแล้ว!!
คาดว่าโครงการนี้จะอยู่ในแผนเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทด้วย
ที่ผ่านมาก็มีการตีราคาที่ดินในพื้นที่ อ.ปากช่อง พบว่ามีราคาแพง และมีการซื้อขายกันทุกวัน โดยเฉพาะที่ดินที่ติดถนนธนะรัชต์มีการซื้อขายราคาไร่ละ 3-6 ล้านบาท โดยเฉพาะพบว่า มีนักลงทุนและผู้ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเข้ามากว้านซื้อที่ดินไว้จำนวนมาก
ตามแผนงานนี้ในอนาคตมอเตอร์เวย์เส้นนี้ จะเชื่อมกรุงเทพฯ-เวียดนาม โดยเริ่มต้นสตาร์ตรถที่กรุงเทพฯ ใช้บริการมอเตอร์เวย์สาย 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) ตามแผนเดิมจะเริ่มก่อสร้างในปี 2553 จากนั้น ตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านจังหวัดขอนแก่น ทะลุมุกดาหารผ่านสะพาน ข้ามโขงแห่งที่ 2 เข้าเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว และเชื่อมต่อไปยังเมืองดานัง ของเวียดนาม
โครงการนี้ถูกพับไปหลายครั้ง ดูต่อไปว่าจะสามารถเดินหน้าได้ถึงไหน
แต่ที่สำคัญโครงการนี้ ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
คงจะต้องมีคนออกมารับผิดชอบเหมือน “อุโมงค์ซาซาโงะ”บ้าง