xs
xsm
sm
md
lg

เมกะโปรเจกต์ดันหุ้นรับเหมา งานระบบราง-ถนนทยอยให้โกยเหลือเฟือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เค้กก้อนใหญ่ค่อยๆ เข้าปากหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากโครงการเมกะโปรเจกต์ระบบราง และทางหลวงพิเศษของภาครัฐที่เริ่มทยอยปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง พบปี 2555-2563 รัฐต้องเดินหน้าระบบราง และถนนเป็นวงเงินร่วม1.4 ล้านล้านบาท แม้ต้องหักเงินค่าเวนคืนที่ออก แต่ก็ยังเหลืออีกเม็ดเงินมากพอสำหรับงานก่อสร้างช่วยล่อใจเอกชนเข้าประมูล โบรกเกอร์เชื่อบริษัทรับเหมารายใหญ่-กลาง เริ่มตั้งแต่อิตาเลียนไทย, ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ, เพาเวอร์ไลน์, เนาวรัตน์ รับส่วนแบ่งถ้วนหน้า สอดคล้องกับต่างชาติที่ดอดเข้าเก็บหุ้นไว้ในพอร์ตก่อนหน้าดันราคาหลายตัวปรับขึ้น
      

    อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของภาครัฐหนีไม่พ้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง ทั้งระบบทาง และระบบราง แม้ปัจจุบันบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศไทยหลายแห่งจะเริ่มหันไปเข้ารับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อน แต่ทุกบริษัทก็ยังให้ความสำคัญต่อการเข้ารับดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วยเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินจากมูลค่าโครงการจำนวนมหาศาลที่จะถูกเข้ามาบันทึกในบัญชีรับจ่ายของบริษัท ตามที่ได้ชนะการประมูลด้วย มีการคาดการณ์กันว่า
   

       ในปี2555 ทั้งตลาดรับเหมาก่อสร้าง (ภาครัฐ และเอกชน) จะมีมูลค่างานก่อสร้างรวมประมาณ 900,000 ล้านบาท และมีการแข่งขันค่อนข้างสูงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายกลาง ส่วนมูลค่างานก่อสร้างในปี 2556 คาดว่าจะมีวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นโอกาสให้แก่กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็กที่เข้าร่วมประมูล

          ล่าสุด ข้อมูลจาก คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้ระบุถึงมูลค่าโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปี 2555-2559 ไว้ว่า มีกรอบวงเงินลงทุนตามระยะเวลาดังกล่าวทั้งสิ้นรวม 2,274,356 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่การลงทุนในระบบรางสูงถึง 1,201,948 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52.85% (ค่าดำเนินการก่อสร้าง-ค่าเวนคืน ฯลฯ) ถัดมาคือการลงทุนในด้านพลังงาน 515,689 ล้านบาท หรือ 22.67% ที่เหลือได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบก 222,347 ล้านบาท หรือ 9.78% การลงทุนด้านการขนส่งทางน้ำ 128,422 ล้านบาท การลงทุนด้านสาธารณูปการ 99,204 ล้านบาท หรือ 4.36% การลงทุนด้านการลงขนส่งทางอากาศ 69,849 ล้านบาท หรือ 3.07% และการลงทุนด้านสื่อสาร 36,897 ล้านบาท หรือ 1.62%

          แต่ถ้าแบ่งเป็นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง และการขนส่งทางบก พบว่า โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งตามนโยบายรัฐบาลได้วางเป้าไว้ว่าในปี 2572 (ค.ศ.2029) กรุงเทพมหานครจะมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกันทั้งสิ้น 12 สาย ความยาว 509 กิโลเมตร (กม.) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 7 เส้นทาง แบ่งเป็นสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สายสีเขียวอ่อน แบริ่ง-สมุทรปราการ และ ตากสิน-เพชรเกษม


          ทั้งนี้ พบว่า มีโครงการที่จะเปิดประมูลในปี 2556 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สายสีเขียว (หมาชิต-สะพานใหม่) 11.4 กม. 12 สถานี วงเงิน 33,212 ล้านบาท (ค่าดำเนินการก่อสร้าง-ค่าเวนคืน ฯลฯ) สายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) 36 กม. วงเงิน 42,067 ล้านบาท และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) 38กม. วงเงิน 137,750 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง แบ่งเป็น 6 สายเร่งด่วน (ปี2555-2557) ระยะรวม 873 กม. วงเงิน86,517 ล้านบาท และอีก 6 โครงการที่จะเริ่มในปี (2558-2563) ระยะทางรวม 1,025 กม. วงเงิน 84,884 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้ง 2 เฟส 171,401 ล้านบาท


          ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงอีก 5 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ สู่นครราชสีมา หัวหิน พัทยา พิษณุโลก และเชียงใหม่ รวมระยะทาง 1,396 กม.ซึ่งยังไม่ระบุวงเงิน ปิดท้ายด้วยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) อีก 5 เส้นทาง แบ่งเป็น 1.สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 196 กม. วงเงิน 69,100 ล้านบาท 2.สายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด 89 กม. วงเงิน 14,895 ล้านบาท 3.สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี 96 กม. วงเงิน 45,886 ล้านบาท 4.นครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ 118 กม. วงเงิน 38,290 ล้านบาท และ 5.บางปะอิน -นครสวรรค์ 206 กม. วงเงิน 32,380 ล้านบาท


          โดยภาพรวมทั้งหมด หากนับเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพที่จะมีการประมูล 3 โครงการในปีหน้า รวมกับโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 2 ระยะ (ปี2555-2557 และปี 2558-2563) และโครงการทางหลวงพิเศษอีก 5 เส้นทางจะพบว่า ภาครัฐจะต้องใช้เงินในการดำเนินโครงการรวมเป็นวงเงินประมาณมากกว่า 584,981 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีโอกาสเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการ โดยเฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่ และกลาง เริ่มตั้งแต่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) เป็นต้น


          “จากโครงการต่างๆ ทีเปิดประมูล หากวัดกันตามสถิติที่ผ่านมา บมจ.ซิโนทัยฯ คาดว่าจะได้รับงานดังกล่าวสัดส่วน 1 ใน 3 ของงานที่บริษัทเตรียมเข้าร่วมประมูลด้วย โดยบริษัทสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลงานทุกโครงการ” นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ คนใหม่ ให้ความเห็นเรื่องการยื่นประมูลงานที่ผ่านมาของบริษัท


          ขณะที่โบรกเกอร์อย่าง นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างของไทย จากที่แต่เดิมไม่ค่อยได้รับความสนใจ จนทำให้ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับพอร์ตจากหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากแล้ว หันมาลงทุนในหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร


          สำหรับมุมมองในด้านบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ที่ประเมิน ITD ว่า มีงานในมือแข็งแกร่ง แต่กำไรก็ยังต่ำ เพราะแม้มีงานในมือ 9.7 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับโครงการที่ชนะประมูล และโครงการที่กำลังจะเซ็นสัญญาซึ่งทำให้งานในมือขึ้นไปแตะ 2.09 แสนล้านบาท (ระยะเวลาการทำงานราว 3-4 ปี)


          อย่างไรก็ตาม งานในมือไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับอัตรากำไร แม้จะมีโครงการก่อสร้างของรัฐบาล เช่น โครงสร้างระบบขนส่งมวลชนรวมอยู่ด้วย โดยมองว่าในปี 2555-56 ของ ITD อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ระหว่าง 7.7-8.2%


          ขณะที่ บล.ทรีนิตี้ ประเมินบมจ.ช.การช่าง (CK )ว่า งานในมือปัจจุบันสูงถึง 134,963 ล้านบาท รองรับยอดรับรู้รายได้ถึง 6 ปี นอกจากนี้ยังมี Mega Project จากในอนาคตที่จะมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ อีกมากเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่อง


          ล่าสุด CK ได้ยื่นประมูลโครงการวางรางรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะที่ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะมีการเปิดประมูลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสี เขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โครงการ SPP เฟส 2 ที่บางปะอิน และเตรียมเข้าร่วมประมูลงานบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท มองว่าโครงการ Mega Project นี้จะหนุนรายได้อนาคตโตต่อเนื่อง”


          ส่วน บล.ทิสโก้ ประเมิน STEC ไว้ว่า คาด STEC จะรายงานผลประกอบการสูงเป็นประวัติการณ์ในปีหน้า แม้ราคาหุ้นของ STEC ปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เพราะยังมี upside อีกมากจากงานในมือที่มีอยู่สูง นอกจากนี้ STEC ยังมีศักยภาพที่จะได้รับงานใหม่รออยู่อีกมากมายในปีหน้าจากวงจรการลงทุนภาครัฐรอบใหญ่ โดยศักยภาพบริษัทจึงเชื่อว่า STEC จะมีศักยภาพได้รับโครงการใหม่จำนวนมาก จากของการลงทุนภาครัฐมูลค่ารวมกว่า 2.27 แสนล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น