xs
xsm
sm
md
lg

บางมุมรัฐมนตรีใหม่ VS บางคำถามชวนคิด?

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 เข้าบริหารงานนับแต่โปรดเกล้า 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ เดือนกว่าแล้ว เวลาผ่านไปรวดเร็ว

รู้สึกว่า เหมือนเราเพิ่งพูดถึงท่านนายกรัฐมนตรี ว่าจะปรับ ครม.เอาใครเข้า ใครออกบ้างเมื่อนี่เอง เผลอแป๊บเดียว ผ่านไปเดือนกว่า

เวลาไม่เคยรอใคร

นี่ก็จะสิ้นปี ขึ้นปีใหม่ 2556 อีกแล้ว

บรรดารัฐมนตรีทุกท่าน จึงต้องเร่งสปีดเดินหน้าผลงาน แข่งเวลา แข่งกับตนเอง

เวลามีเท่ากัน แต่ได้(ผลงาน)ไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร อันนี้น่าคิด การบริหารเป็นศิลป์ ผู้เขียนมักพูดเสมอเวลาไปบรรยายที่ไหน เรียนตำราบริหารมาเล่มเดียวกัน แต่นั่งบริหารจริง สำเร็จต่างกัน ส่วนหนึ่งอยู่ที่ฝีมือ

และยังมี “ส่วนอื่นๆ” อีก?!

มิเพียงผลงานที่ได้ไม่เท่ากัน ยังไม่เท่ากันในเรื่องการเป็นที่รู้จักรัฐมนตรีแต่ละท่านนั้นๆ คุ้นชื่อ คุ้นหู และเป็นที่กล่าวขานถึงของสังคม ประชาชน เพราะอะไร มุมนี้ก็น่าคิด

คำว่า “ส่วนอื่นๆ” จึงหมายถึง ชั้นเชิง ลีลา ความพลิ้ว ลูกล่อลูกชน การทำตัวเป็นข่าว ฯลฯ ซึ่งตรงนั้น (ครม.) เป็นอะไรที่สุดๆ แล้ว ทุกกระบวนท่า เรียกว่า ครบเครื่อง ครบวงจร

คนที่บริหารการเมืองได้ จึงไม่ธรรมดา

การริเริ่มนโยบายใดๆ ว่ายากแล้ว

การนำไปปฏิบัติให้ไหลลื่นยากกว่า เนื่องเพราะต้องฝ่าทั้งปัญหา ความต้องการ ผลกระทบ ผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งพอใจ และไม่พอใจ ใครเป็นรัฐมนตรีบริหารนโยบาย ก็ต้องอธิบายชี้แจงกันไป มีรุก มีถอย มียืด มีหยุ่นตามสภาพการณ์ที่เป็นไป

ตั้งเป้า 100 ได้จริง 80 ก็ OK แล้ว ให้ใกล้เคียงเป้าหมายมากที่สุด ใกล้เคียงมากเท่าไร สำเร็จเท่านั้น

ถ้าได้ 100 ยิ่งดี เป็นไปตามเป้า

เกิน 100 ถือว่าทะลุเป้า มีโอกาส แต่อาจเป็นไปได้ยาก

กว่าจะขับเคลื่อนนโยบายออกมาเป็นผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้สังคมชื่นชม กล่าวขานถึง จึงไม่ง่าย ขึ้นชื่อว่างานการเมือง มิใช่แค่ที่เห็น เป็นโอกาสและความท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะรัฐมนตรีใหม่เพิ่งดำรงตำแหน่งเป็นครั้งแรก ที่จะต้องเร่งสร้างผลงาน ขณะเดียวกัน ทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จักของสังคมอีกด้วย

เป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องใช้การประชาสัมพันธ์ (PR) ใส่เข้าไปในการบริหาร

มิเช่นนั้น ดีไม่ดี อาจเกิดกระแสรัฐมนตรีโลกลืมขึ้นใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ก็เป็นไปได้

อาจจัดเจนกับงานก่อนหน้า แต่กับงานการเมือง เข้ามาบริหารกระทรวง จะเล่นบทบาท ลีลาในการนำ จัดเจนอย่างไร จึงจะ “เอาอยู่”

ถ้าเอาอยู่ ก็กระเพื่อมผลงานรัฐบาล

เอาไม่อยู่ ก็กระทบผลงานรัฐบาล

อย่าลืมว่า รัฐมนตรีใหม่ ถือเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมดใน ครม.ทีเดียว

แต่เชื่อว่า เดือนเศษที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีใหม่คงมองการทำงาน และเห็นแล้วว่า ได้ผลของงานอย่างไร พอใจหรือไม่ ประการใด ทำอะไรไปแล้วบ้าง อะไรยังค้างอยู่ อะไรยังไม่ได้ทำ และจะทำอะไรต่อไป

แน่นอนว่า ทุกท่านย่อมพอใจในผลงานเดือนเศษๆ ของตนเองไม่มากก็น้อย

แม้จะพอใจการทำงาน ก็ยังมีบางมุมรัฐมนตรีใหม่ กับบางคำถามชวนคิด?! ซึ่งน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานการบริหารการเมืองร่วมกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กระทรวง ดังนี้

ประการแรก แม้เดือนกว่าๆ ที่ผ่านไป จะได้ผลพอใจการทำงาน ก็ต้องดูว่า งานที่ทำเป็นประโยชน์ใหญ่ VS ประโยชน์เล็กให้แก่ประชาชน ถ้าเป็นประโยชน์เล็กๆ เหมือนเบี้ยหัวแตก กระจัดกระจายไร้พลัง ควรใช้สูตร “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” จะดีหรือไม่ ประการใด

ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ใหญ่ เฉกเช่นอดีตรัฐมนตรีปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เคยทำผลงานจัดระเบียบสังคมไว้โด่งดัง กระเพื่อมไปทั่วทั้งประเทศ ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครองชื่นชม รู้จัก “รัฐมนตรีไม้บรรทัด” เป็นใครจำได้ ไม่มีลืม ส่วนประโยชน์เล็กๆ ให้ข้าราชการประจำทำไป

ประการที่ 2 แม้จะพอใจการทำงานที่ผ่านมา ก็ต้องดูว่า ทำในบทบาท Creative VS Routine ในฐานะรัฐมนตรีใหม่ หรือเจ้ากระทรวง คงจะต้องคิดริเริ่มงาน ออกแบบโครงการใหม่ๆ ที่ทำแล้วส่งผลลัพธ์ใหม่ๆ หรือสร้างความสำเร็จใหม่ๆ ชนิดไม่มีใครเคยทำมาก่อน

หากทำได้ เป็นโอกาสแจ้งเกิด

ขอยกตัวอย่าง ถ้าไม่โครงการธงฟ้า จะมีโครงการ วิธีการใหม่ๆ อะไรอีกมั้ยที่จะมาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนที่ดีกว่า เห็นผลกว่า

โครงการร้านค้าถูกใจ จัดว่าใหม่ แต่เอาเข้าจริงไม่เวิร์กเท่าที่ควร ปัญหาเยอะ จะพัฒนาแตกไลน์ ต่อยอดอย่างไรให้ได้เสียงตอบรับ และพึงพอใจจากประชาชนผู้บริโภค หากทำได้ จะเป็นผลงาน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ให้สังคมได้ชื่นชม กล่าวขานถึง

รูทีนให้ข้าราชการประจำว่าไป

อยู่ที่ผู้นำกระทรวงยุคใหม่ จะพิจารณา

ฝ่ายการเมืองมีหน้าที่มานำกระทรวง หากไม่นำ ไม่พิจารณา แล้วยังเผลอไปแย่งงานปลัดกระทรวงมาทำ สังคมจะพึ่งใคร

บางท่าน อดีตรัฐมนตรีหมดวาระไปแล้ว สังคมยังนึกไม่ออกว่า เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด เนื่องเพราะขณะดำรงตำแหน่งไม่ได้แจ้งเกิดผลงานอะไรใหม่ๆ ให้สังคม อาจแจ้งเกิด แต่ไม่แรงพอ ซึ่งน่าเสียดายโอกาสไม่น้อย

ประการที่ 3 ผลงานที่ทำมีความโดดเด่น VS ราบเรียบ ก็ต้องดูว่า มุ่งทำผลงานให้โดดเด่น เด่นทั้งงาน เด่นทั้งการรับรู้ของสังคม หรือทำงานไปเรื่อยๆ เรียบๆ อยู่เบื้องหลัง โดยไม่สนใจใคร ไม่สนใจสื่อ ไม่จำเป็นต้อง PR บอกกล่าวใคร เพราะไม่ต้องการโดดเด่น เพียงขอทำงานเงียบๆ ให้ประชาชน ก็พอใจแล้ว หรืออย่างไร

มีมุมมองชวนคิด : 1) มุ่งทำงาน มีผลของงานออกมาโดดเด่นในตัวผลงานเอง โดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนรู้เอง หรืออย่างไร 2) ผลงานโดดเด่นด้วย ใช้ประชาสัมพันธ์ด้วย และสื่อหนุนนำด้วย ดีมั้ย 3) ผลของงานไม่เท่าไร ตีปี๊บเก่ง เล่นพีอาร์เป็น เอามั้ย 4) ผลของงานไม่โดดเด่น พีอาร์เอาไม่อยู่ ไม่มีใครรับรู้ สื่ออาจหนุนนำ หรือไม่หนุนนำ จะทำอย่างไร

ผลงานไม่โดดเด่น เท่ากับไม่เข้าตา

ไม่เข้าตา ก็ไม่เห็นฝีมือ

เมื่อไม่เห็นฝีมือ อาจนำไปสู่การปรับ ครม.รอบใหม่?!

อยู่ที่มุมรัฐมนตรีใหม่ จะพิจารณา

ประการที่ 4 ที่ผ่านมามีผลงานได้ลงข่าวหน้าหนึ่ง VS หน้าในของหนังสือพิมพ์ ลงหน้าหนึ่งก็เตะตาประชาชน เตะตา ครม.ด้วย ได้ลงแค่คอลัมน์เล็กๆ ที่อยู่หน้าใน ก็ถอยห่างไปนิด

ได้ลงหลายฉบับ VS ฉบับเดียว ลงหลายฉบับ ข่าวสารผลงาน (มีโอกาส) เข้าถึง ครอบคลุมประชาชนเป้าหมาย ลงฉบับเดียว แปลว่า ผลงานไม่เป็นที่โฟกัสของสื่อเท่าที่ควร ก็ต้องดูว่า ทำไมสื่อไม่สนใจ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ขออนุญาตไม่กล่าวในที่นี้

ทำอย่างไรให้ผลงานได้ลงหน้า 1 และลงหลายฉบับ รองลงมาหากไม่ได้ ก็ให้ได้ลงหน้า 1 บางฉบับหรืออย่างน้อย ได้ลงหน้าในหลายๆ ฉบับ จะดีหรือไม่ ประการใด ต้องถามรัฐมนตรีใหม่ ต้องการขนาดไหน อย่างไร

ประการที่ 5 ปิ๊งไอเดียที่จะแก้ปัญหา กำหนดความต้องการที่จะทำนั่นทำนี่บ่อยๆ VS นานๆ ที เป็นผู้นำกระทรวง ควรต้องนำความคิดความต้องการอยู่เสมอๆ เป็นระยะๆ และไม่ควรช้า เพราะจะไม่ทันปัญหาซึ่งเกิดขึ้นทุกวัน

นานๆ ปิ๊งไอเดียที ระวังประชาชนจำไม่ได้ว่า กระทรวงมีรัฐมนตรีใหม่ชื่ออะไร ก็เป็นไปได้ เพราะผลงานไม่แรงพอ

ประการที่ 6 ได้ประชุมข้าราชการระดับสูงของกระทรวง (ปลัดกระทรวง อธิบดี) สร้างความรู้จักคุ้นเคย เป็นกันเอง สร้างมิตรไมตรีอันดี เพื่อหาความร่วมมือในการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ากระทรวง หรือในเวลาอันรวดเร็วหรือไม่

มุ่งสร้างความศรัทธา มิใช่สร้างความขัดแย้ง

การมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวง อธิบดี ถือเป็นคู่หู รู้ใจในการทำงาน ลื่นไหลแค่ไหนอยู่ตรงนี้ การเป็นผู้นำยุคใหม่ ต้องนำด้วยศรัทธา

เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านไม่พลาดในประการนี้ แต่จะพลาดในประการที่ 7

ประการที่ 7 สื่อสารกับข้าราชการกระทรวง ในฐานะกลไกรัฐบ้างหรือไม่ ข้าราชการทุกคน คือ กำลังสำคัญในการทำผลงานให้รัฐมนตรีใหม่ หรือถือว่าเป็นหน้าที่ ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ต้องสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อสารกับข้าราชการระดับ 1-6 (บ้าง)

หลังจากรัฐมนตรีมอบนโยบายปลัดกระทรวง ปลัดมอบอธิบดี และอธิบดีมอบรอง, รองมอบ ผอ.กอง, ผอ.กองมอบหัวหน้าฝ่าย, หัวหน้าฝ่ายมอบลูกน้อง ซี 1-6

ซี 1-6 ไม่รู้จะไปมอบใคร เป็นผู้ปฏิบัติ ลงมือทำ เสร็จแล้วได้ผลสำเร็จในงานอย่างไร ยังต้องรายงานเบื้องบน เป็นทอดๆ ขึ้นไปกระทั่งถึงรัฐมนตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐมนตรีใหม่ควรลงมาสัมผัสสัมพันธ์ข้าราชการ ซี 1-6 อาจจัดประชุมพบปะเสวนารับฟังปัญหา ความต้องการ ความเป็นอยู่ของเขาบ้าง หรือไม่ ประการใด ผู้ปฏิบัติมีอะไรขาดเหลือ เครื่องไม้เครื่องมือ งบประมาณมีพอใช้มั้ย รวมไปถึงสวัสดิการ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ

ถือเป็นการฉีกแนวทางบริหารกระทรวงยุคใหม่ ใครไม่ทำ ตนทำ หากเห็นว่ามันใช่ ไม่เห็นผิดกติกาตรงไหนที่เจ้ากระทรวง จะสื่อสารกับระดับล่าง มองข้ามกันเองมากกว่า

มิใช่ใช้งานอย่างเดียว ไม่เคยเหลียวแล ส่งเสริมความก้าวหน้า สื่อสารกับซี 1-6 ได้ ก็ได้ใจ ครองใจ แม้มิใช่บทบาท อยู่ที่กุศโลบายการบริหารของใครก็ของใคร ไม่ควรมองว่า เป็นหน้าที่ปลัดกระทรวง อธิบดีจัดไป

วันใดรัฐมนตรีใหม่จัดเต็ม เชิญประชุมพบปะเสวนาข้าราชการซี 1-6 ทั้งหมดของกระทรวง วันนั้นเป็นเซอร์ไพรส์ทางบริหารอีกมิติ

อยู่ที่มุมรัฐมนตรีใหม่จะพิจารณา

ประการที่ 8 ได้เชิญพบโฆษกกระทรวง ทีมงานประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ในเวลาอันรวดเร็ว หรือไม่ เพื่อให้ทิศทาง เป้าหมายในการทำประชาสัมพันธ์กระทรวงคู่ไปกับการบริหารงานของรัฐมนตรี ต้องการให้เน้น PR อย่างไร จะได้ปฏิบัติถูกต้อง ตรงจุด จะให้เน้น PR นโยบาย ผลงาน อย่างไร แค่จัดไป จัดเต็ม หรือต้องการจัดหนัก

นอกจาก PR นโยบาย ผลงาน ให้เน้น PR ตัวบุคคล(รัฐมนตรี)ด้วย หรือไม่ ประการใด จะได้ออกแบบงาน PR กระทรวง ให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐมนตรี

มีบางมุมชวนคิด ก็คือ หากเป็นไปได้ รัฐมนตรีควรถามไถ่ทีมประชาสัมพันธ์กระทรวง (บ้าง) ขาดเหลืออะไรบ้าง อุปกรณ์ เครื่องมือ งบประมาณ มิใช่ใช้งานอย่างเดียว ควรมุ่งสร้างพลังจูงใจ และให้กำลังใจในการทำงานแก่ข้าราชการ PR บ้าง เช่นเดียวกับประการที่ 7

ฉีกแนวบริหารอย่างยิ่ง หากรัฐมนตรีใหม่จะเชิญพบทีมงานประชาสัมพันธ์ของกรม( ทุกกรม) และทีมงานประชาสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจในสังกัด นโยบายการบริหารงานของรัฐมนตรี ก็คือ กรม รัฐวิสาหกิจ เอาไปทำ นั่นเอง เล่น PR ทุกระนาบมิติมีแต่ได้ มิเพียงข่าวสารผลงานกระทรวงเข้าถึงประชาชนได้ไม่มีหลุด ยังสร้างการเป็นที่รู้จักให้รัฐมนตรี และเป็นที่กล่าวขานถึงของสังคม ประชาชนอีกด้วย

ประการที่ 9 ใช้การนำด้วยอำนาจให้น้อยลง หรือให้น้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็น และหันไปใช้การนำด้วยศรัทธาให้มากขึ้น จะดีหรือไม่ ประการใด กลวิธีสร้างศรัทธา VS อำนาจ กลวิธีใดจะยั่งยืน และเป็นรัฐมนตรีในดวงใจข้าราชการกว่ากัน?

ประการที่ 10 ได้ทักทาย พบปะพูดคุยกับผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงในวันแรกที่เข้ารับหน้าที่ หรือในเวลาอันรวดเร็วหรือไม่ หยิบยื่นมิตรไมตรีให้ผู้สื่อข่าว สร้างความเป็นกันเอง ไม่ต้องรอให้ผู้สื่อข่าวขอเข้าสัมภาษณ์ก่อนถึงจะทักทาย พบปะพูดคุยกัน ชิงรู้จักผู้สื่อข่าวก่อนบ้างดีมั้ย ได้ลงหน้า 1 หรือหน้าในก็อยู่ที่นี่ ตรงนี้ ถือเป็นศิลปะผู้นำ

ประการที่ 11 เมื่อไปราชการต่างจังหวัด ที่ผ่านมาได้ถามหา หรือเชิญพบประชาสัมพันธ์จังหวัดนั้นๆ รวมถึงผู้สื่อข่าวท้องถิ่นบ้างหรือไม่ เพื่อสร้างมิตรไมตรี สัมผัสสัมพันธ์ในการทำข่าวภารกิจครั้งนั้นๆ เพราะการบริหารนโยบายกระทรวง ก็พาดผ่านลงไปที่ต่างจังหวัดทั้งนั้น ทั้งที่รู้ว่า PR นั้นดีมีแต่ได้ แต่มักลืม ละเลย หรือมองข้าม นึกขึ้นได้อีกทีต่อเมื่อมีปัญหา หรืออย่างไร?

อ้างไม่มีเวลา อ้างได้ แต่อ้างแล้ว จะแข่งเวลา เพื่อสร้างผลงาน และสร้างการเป็นที่รู้จักรัฐมนตรีได้หรือไม่

หากไม่ฉวยใช้โอกาสและจังหวะเวลาที่เหมาะสม!!
กำลังโหลดความคิดเห็น