xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทรราชกับความอดทนอดกลั้นของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

“ทรราช” เป็นคำที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เพลโตและอริสโตเติ้ล นิยาม ทรราชว่า เป็นผู้ปกครองที่ปกครองที่ไม่ได้กฎหมายเป็นแนวปฏิบัติ กระทำตามอำเภอใจ แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน และใช้วิธีการที่ป่าเถื่อนโหดร้ายอย่างรุนแรงในการบริหารประเทศ

ต่อมาเมื่อสังคมของหลายประเทศมีการใช้ระบอบการเลือกตั้งผู้ปกครอง ซึ่งด้านหนึ่งมีการยกย่องว่าเป็นระบอบที่เลวร้ายน้อยที่สุดเพราะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเกิดขึ้นโดยปราศจากการนองเลือด และเป็นการใช้สิทธิของประชาชนในการเลือกผู้ปกครองด้วยตนเอง ทว่าในอีกด้านหนึ่งระบอบการเลือกตั้งได้ผลิต “ทรราช” โฉมหน้าใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า “ทรราชของเสียงส่วนใหญ่” (tyranny of the majority)

วลี “ทรราชของเสียงส่วนใหญ่” ใช้ครั้งแรกโดย จอห์น อาดัม ประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. 1788 แต่วลีนี้ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รับรู้มากขึ้น ใน ค.ศ. 1835 จากหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ซึ่งเขียนโดย อเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ นักปรัชญาการเมืองนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส และผู้ที่ขยายวลีนี้ให้แพร่ออกไปในวงกว้าง คือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ซึ่งได้อ้างอิงวลีนี้ในหนังสืออันโด่งดังของเขาเรื่อง “ว่าเสรีภาพ” ใน ค.ศ. 1859

โดยที่ “ความอดทนอดกลั้น” และ“การยอมรับเสียงส่วนใหญ่” เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ได้รับการบรรจุลงไปในชุดของวาทกรรมประชาธิปไตย แต่นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันท่านหนึ่งนาม เฮอร์เบิร์ต มาร์คูส ได้เขียนบทความทางวิชาการใน ค.ศ. 1965 เรื่อง “ความอดกลั้นที่ถูกกดขี่” ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมอุตสาหกรรม “ความอดทนอดกลั้น” ได้ถูกขยายการใช้ออกไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เงื่อนไข และวิถีการปฏิบัติที่ “ไม่ควรจะอดทนอดกลั้น” เพราะความอดทนอดกลั้นในเรื่องที่ไม่สมควรนี้จะเป็นสิ่งที่ทำลายหรือกีดขวางโอกาสของการสร้างสรรค์สังคมที่ทำให้ผู้คนสามารถดำรงอยู่โดยปราศจากความหวาดกลัวประหวั่นใจและความทุกข์ยากลำเค็ญ

ความอดทนอดกลั้นประเภทที่กล่าวมาจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “ทรราชของเสียงส่วนใหญ่” ในการจัดการปราบปรามประชาชน จำกัดสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ

ย้อนมาถึงสังคมไทยในยามนี้ ลองพิจารณานโยบาย การกระทำ และพฤติกรรมที่เข้าข่ายทรราชของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดูว่ามีอะไรบ้าง

ประการแรก นโยบายนำประเทศไทยเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเกิดจากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมในความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย โดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2555 เนื้อหาของแถลงการณ์ร่วมเป็นการแสดงจุดยืนถึงการเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ของสองประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเน้นความร่วมมือทางทหาร 4 ด้าน 1) ความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2) การสนับสนุนการมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 3) พัฒนาความพร้อมและขีดความสามารถใน การปฏิบัติการร่วม ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และ 4) พัฒนาความสัมพันธ์ การประสานงาน และ สร้างความร่วมมือในทุกระดับ

คำว่า “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” “การปฏิบัติการร่วม” และ “การสร้างความร่วมมือในทุกระดับ” หมายความว่า หากสหรัฐกำหนดให้ประเทศจีนเป็นศัตรูและเปิดฉากทำสงครามกับประเทศจีน ประเทศไทยก็จะต้องเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐร่วมทำสงครามด้วย หากสหรัฐต้องการมาจัดตั้งฐานทัพในประเทศไทยที่อู่ตะเภาหรือที่จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทยก็ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการจัดตั้ง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงกระทำเยี่ยงทรราช ทำให้ไทยตกเป็นทาสของสหรัฐ เป็นการชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงอย่างสูงสุดต่อการเป็นพื้นที่สู้รบในสงคราม มิหนำซ้ำยังส่งเสริมให้ทหารลูกหลานคนไทยต้องออกรบไปตายแทนทหารสหรัฐอเมริกาด้วย หากมีสงครามระหว่างสหรัฐกับจีนเกิดขึ้นในอนาคต

พิจารณาจากท่าทีของประเทศสหรัฐซึ่งเปิดเกมรุกทางทหารเข้ามาในภูมิภาคเอเชียเพื่อปิดล้อมประเทศจีน จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้เพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้นทุกวัน และในท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่สอง นโยบายปราบปรามประชาชนด้วยอำนาจเถื่อนและความรุนแรง รัฐบาลได้ใช้นโยบายนี้จัดการปราบปรามประชาชนผู้ใช้สิทธิชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2555 อย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการชุมนุมของประเทศไทย ความรุนแรงแรงได้เริ่มต้นโดย รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงก่อนวันจัดการชุมนุมเสียอีก อันเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและใช้อำนาจหน้าที่อย่างมิชอบ เพราะ การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น ในกฎหมายระบุว่า จะต้องมีปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในและเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน

แต่การชุมนุมของประชาชนในนามองค์การพิทักษ์สยามเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2555 นั้น ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่า แกนนำการชุมนุมได้ประกาศว่า จะจัดการชุมนุมอย่างสงบ สันติ อยู่กับที่ ไม่ยึดสถานที่ราชการ และจะชุมนุมเพียง 2 วัน เมื่อวันชุมนุมจริง แกนนำก็ปฏิบัติตามที่ได้ประกาศเอาไว้ อีกทั้งศาลรัฐธรรมก็มีการวินิจฉัยไปในทางเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าการชุมนุมของประชาชนไม่เป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงภายในใดๆทั้งสิ้น

แต่ทว่ารัฐบาลทรราชกลับประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงโดยไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายแม้แต่น้อย ทั้งยังละเลย เพิกเฉย ไม่ไยดีกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลทรราชมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการใช้ความรุนแรงและป่าเถื่อนจัดการประชาชนผู้ประสงค์ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

เมื่อรัฐบาลทรราชมีความตั้งใจกระทำการชั่วร้ายเป็นที่แน่นอนแล้ว ในวันชุมนุม รัฐบาลได้สั่งการให้ใช้กำลังตำรวจจำนวนมหาศาลปราบปรามประชาชนอย่างรวดเร็วทันที ทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาเปิดการชุมนุมอย่างเป็นทางการ และการปราบปรามประชาชนก็ได้กระทำอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาชุมนุม รวมทั้งมีการเตรียมการปราบปรามประชาชนด้วยมาตรการรุนแรงยิ่งขึ้นหากแกนนำการชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมในตอนเย็นของวันดังกล่าวเสียก่อน

ตำรวจซึ่งรับนโยบายของรัฐบาลทรราชมาปฏิบัติได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนผู้ชุมนุม 2 ครั้ง ในช่วงตอนเช้าและตอนบ่าย ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายจากแก๊สน้ำตาจำนวนหลายร้อยคน ทั้งผู้หญิง ผู้สูงอายุ และพระสงฆ์ อีกทั้งยังมีการทำร้ายทุบตีประชาชนอย่างรุนแรงป่าเถื่อนจนมีคนได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน และจับกุมคุมขังประชาชนและนักข่าวอีกจำนวนนับร้อยคน

ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่รัฐบาลฉีกกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเจตนา และใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน ทำร้าย และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่วันแรกของการจัดชุมนุม นับว่ารัฐบาลทรราชยิ่งลักษณ์ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย ในอนาคตหากลูกหลานไทยเรียนประวัติศาสตร์ของทรราช เรื่องนี้คงเป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญเรื่องหนึ่ง

ประการที่สาม นโยบายโกงชาติขายประเทศ โดยใช้วิธีการทุจริตทุกประเภท ทุกโอกาส ในทุกนโยบายและทุกโครงการ ตัวอย่างที่ชัดเจนอื้อฉาวไปทั่วโลกคือ นโยบายจำนำข้าวอ้างชาวนาเพื่อการทุจริต

รัฐบาลกำหนดและนำนโยบายจำนำข้าวไปปฏิบัติโดยไม่ใส่ใจกับคำท้วงติงจากใคร องค์การใดในสังคมทั้งสิ้น แม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ระบุว่า มีการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนนโยบาย และมีจดหมายอย่างเป็นทางการไปแนะนำให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายนี้ แต่ปรากฎว่ารัฐบาลทรราชยิ่งลักษณ์ก็หาได้ฟังไม่ ยังคงดำเนินการต่อไป โดยเงินงบประมาณของนโยบายจำนวนหลายแสนล้าน มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ถึงมือชาวนา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งหนึ่งไหลไปสู่เครือข่ายนักการเมืองทรราช และนักฟอกเงิน อันเป็นมือไม้ของคนในรัฐบาล

การทุจริตของรัฐบาลที่ปรากฏต่อสาธารณะอย่างชัดเจนมีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องน้ำ นโยบายเกี่ยวกับสินค้าเกษตรทุกชนิด ทั้งหอมแดง ยางพารา มันสำปะหลัง นโยบายเกี่ยวการจัดซื้ออาวุธ นโยบายเกี่ยวการสร้างถนน เกี่ยวกับบ่อบาดาล เป็นต้น เรียกว่าแทบไม่มีโครงการใดเลยที่รัฐบาลทรราชนี้กระทำจะปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น

นับวันรัฐบาลทรราชก็ยิ่งเหิมเกริมมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้รัฐบาลทรราชจะยิ่งเพิ่มและขยายขอบเขตการใช้อำนาจตามอำเภอใจ อย่างป่าเถื่อน รุนแรง ไม่สนใจไยดีกับกฎหมาย กฎทางสังคม และกฎทางศีลธรรมใดๆ เพราะพวกเขาถือดีในการควบคุมอำนาจรัฐซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยอำนาจเงินอย่างกองทัพตำรวจและกองกำลังเถื่อนเสื้อแดงเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติอันชั่วร้ายนั่นเอง

นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2555 เนื้อหาสาระของความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยสิ้นสุดลงเพราะ รัฐบาลทรราชได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกกฎหมาย ฉีกคำสั่งศาล ทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

คำถามคือ ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางยังสามารถอดทนอดกลั้นกับนโยบาย การกระทำ และพฤติกรรม ของบรรดาทรราชเหล่านี้ได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาใดๆ

คำตอบคงไม่ได้อยู่ในสายลม ฝากถึงบรรดาพี่น้องชนชั้นกลางและประชาชนวัยหนุ่มสาว ลองครุ่นคิดไตร่ตรองดูว่า จะปล่อยให้รัฐบาลทรราชย่ำยีตัวท่านเองและสังคมไทยไปอีกนานเพียงใด หวังว่าผู้คนคง “ไม่อดทนอดกลั้น” กับเรื่องที่ “ไม่สมควรจะอดทนอดกลั้น” จนกระทั่งสังคมไทยล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาเสียก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น