ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็กที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธาน ก็มีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551ในพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร คือ เขตพระนคร เขตดุสิต และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตั้งแต่วันที่ 22-30 พ.ย. เพื่อควบคุมดูแลการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม(อพส.)บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 พ.ย.
ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิมแสดงท่าทีมาตลอดว่าจะยังไม่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยจะรอดูสถานการณ์ก่อน ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงบางคน อาทิ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และปรามาสว่า พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ผู้นำการชุมนุมเป็นเพียงทหารแก่คนหนึ่งเท่านั้น
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามนั้นต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อน และรอดูว่าแผนกรกฎ 52 ที่รัฐบาลประกาศใช้ไว้แต่แรกได้ผลหรือไม่
รวมทั้งยังบอกว่า จากการปริมาณคนร่วมชุมนุมอาจจะมากพอสมควร แต่ดีกรีความรุนแรงยังไปไม่ถึงขั้นที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังคิดว่าใช้แผนกรกฎ 52 ควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา คนในรัฐบาลได้ออกมาปล่อยข่าวสร้างกระแสในทำนองว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างการชุมนุม อาทิ การลงขัน 6 พันล้านบาทล้มรัฐบาล การจับตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี การปิดล้อมรัฐสภา การจ้างคนเสื้อแดงเทียม 5 พันคนมาสร้างสถานการณ์การชุมนุม การยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ที่ชุมนุม เป็นต้น
ซึ่งเมื่อคนในรัฐบาลออกมาแถลง เลขาธิการ สมช.ก็ออกมารับลูกว่ามีข้อมูล จนมีการตั้ง ครม.ย่อยขึ้นมารับผิดชอบดูแลการชุมนุม ประกอบด้วยรัฐมนตรี 9 คน มี ร.ต.อ.เฉลิมเป็นประธาน
วันที่ 21 พ.ย. ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 1 วัน ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่มีหมวกอีกใบเป็นแกนนำคนเสื้อแดง ประกอบด้วย นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และจ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ ได้เรียงหน้ากันแถลงข่าวที่รัฐสภา ผูกเรื่องราวเป็นฉากๆ ว่า จะมีการก่อเหตุรุนแรงโดยกลุ่มผู้ชุมนุมตามรูปแบบความเป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ 1. ก่อเหตุการณ์คล้ายกับ 7 ต.ค.2551 แล้วเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบหรือก่อการจลาจลให้ทหารออกมายึดอำนาจ 2. สร้างสถานการณ์ให้คนไทยสองกลุ่มเกิดการเผชิญหน้ากัน จนบาดเจ็บล้มตายและนำไปสู่การให้ทหารออกมา 3.ส่งคนเข้ามาแฝงตัวในสภาเพื่อก่อเหตุร้าย และ 4.ส่งคนเข้ามาแฝงและจับกุมตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
หัวโจกเสื้อแดงในสภายังสำทับเรื่องเงินลงขัน 6 พันล้าน การยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อสร้างเหตุจลาจล การจ้างคนเสื้อแดงเทียมมาก่อกวนสร้างสถานการณ์
โดยเฉพาะ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ แถลงเป็นตุเป็นตะว่า ได้รับรายงานจากสายข่าวสนามม้าว่ามีทหารยศพลเอก ชื่อย่อ “น.” สั่งให้คนไปซื้อเหล็กแป๊ป 100 ท่อน และไม้ตีหัวตะปู รวมถึงไม้ชนิดอื่นๆ รวมกว่าพันท่อนไว้เตรียมก่อเหตุ
จากข้อมูลที่แกนนำคนเสื้อแดงนำมาแถลงดังกล่าว แม้จะดูเลื่อนลอย แต่ ครม.ย่อยก็มีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)เสนอในที่ประชุม
พล.ต.อ.อดุลย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ อ้างเหตุผลการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ว่า เพื่อดูแลผู้ชุมนุมให้ปลอดภัยและทำให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือรองรับการปฏิบัติงาน รวมถึงการดูแลสถานที่ราชการ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบสิทธิ์ของประชาชน โดยเจ้าหน้าจะยึดหลักกฎหมายในการปฏิบัติการพร้อมจะมีการแจ้งเตือนก่อนดำเนินการ
ผบ.ตร.บอกว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 5 หมื่นคน ไม่ถึง 1 ล้านคนตามที่ พล.อ.บุญเลิศประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร.ยังอ้างว่าการข่าวมีข้อมูลบางอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการระดมผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก หวังให้เกิดความรุนแรง ส่วนกระแสข่าวการจับตัวนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกันรวมทั้งการบุกยึดสถานที่ราชการนั้น ทางเจ้าหน้าที่กังวลและทราบข้อมูลของกลุ่มที่จะก่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลด้านการข่าว ดังนั้นจึงได้ประกาศให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการทำงาน โดยจะเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการในพื้นจำนวน 112 กองร้อย กองร้อยละ 150 นายจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ท่าทีที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของรัฐบาลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดความน่าสงสัยว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในครั้งนี้ มีเบื้องหลังอย่างไรกันแน่
ภายหลังทราบข่าวว่ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อควบคุมการชุมนุม พล.อ.บุญเลิศกล่าวว่า ตนไม่มีความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่เท่าที่ถามผู้รู้ทางกฎหมายอธิบายว่า การออก พ.ร.บ.นี้น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะตนประกาศชัดเจนว่าการชุมนุมจะปราศจากอาวุธ ไม่ยืดเยื้อ และไม่ยึดสถานที่ อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฯ จะไม่กระทบการชุมนุมแน่นอน เพราะตอนที่มีการเผาบ้านเผาเมือง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็มีการประกาศใช้ แต่ก็ไม่ได้ผล และตนก็มีแค่มือเปล่า
“การประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวของรัฐบาลถือเป็นการเรียกแขกให้ อพส. ซึ่งนิสัยของคนไทยนั้น ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ใช่ตาข่ายเหล็กที่จะกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม และมองว่ารัฐบาลประกาศใช้ เพราะกลัวผม” พล.อ.บุญเลิศกล่าว
ด้าน พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี โฆษกองค์การพิทักษ์สยาม บอกว่า เจตนาของการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อเป็นการระงับเหตุ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามจะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงเหตุผลการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อประชาชน หากไม่มีเหตุผลเพียงพอแสดงว่าเป็นการใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งประชาชน
ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการไทย เห็นว่า การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นห่วงว่าอาจสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขณะนี้กำลังอยู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือช่วงไฮซีซันที่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามาก ซึ่งหากมีประเทศใดไม่เข้าใจสถานการณ์อาจมีการออกประกาศเตือนและทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางเข้ามาไทยได้
ทั้งนี้ สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่ภาครัฐจะเร่งออก พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้ เพราะการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามส่วนตัวเชื่อว่ายังไม่น่ามีชนวนเหตุที่จะเกิดความรุนแรง และเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่น กรีซ สเปน ก็มีการชุมนุมเดินขบวนแสดงความคิดเห็นกันได้
นั่นแสดงว่า หลายๆ ฝ่ายยังไม่เห็นด้วยต่อการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาควบคุมการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พ.ย.ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่มีน้ำหนักพอให้เชื่อได้ว่าจะเกิดเหตุรุนแรง นอกจากการสร้างข่าวของฝ่ายรัฐบาล แบบพูดเองเออเอง แล้วรับลูกกันเองเท่านั้น
การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครั้งนี้จึงถูกมองว่า เป็นการโหมกระแสการชุมนุมของ อพส.เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนออกจากปัญหาอื่นๆ ของรัฐบาล ทั้งเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน และการอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในช่วงเดียวกับการชุมนุม ซึ่งรัฐบาลน้องสาวของ นช.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกเปิดโปงความล้มเหลวในการบริหารงานออกมาอย่างล่อนจ้อน
-รัฐบาลระดมกำลังตำรวจจำนวนมาก มาควบคุมดูแลการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ