xs
xsm
sm
md
lg

สอบโกงครุภัณฑ์ ศธ.ต้องก้าวข้ามเกมการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**งวดเข้าปลายปี “มังกรไฟ” 2555 อุณหภูมิการเมืองใกล้เข้าสู่องศาเดือดขึ้นทุกขณะ และในขณะที่ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่ “ศึกซักฟอก” การอภิปรายไม่ไว้วางของทั้ง ส.ส.-ส.ว. ที่จ่อคอหอยรัฐบาลอยู่ หรือจะเป็นการ “เป่านกหวีด” ระดมคน 1 ล้านคน ออกมาขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย “องค์การพิทักษ์สยาม” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันปลายเดือนพ.ย.นี้
ระหว่างนี้ก็มีประเด็นร้อนๆ ออกมาเป็นเครื่องเคียงเป็นระยะๆ ทั้งคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่สั่งให้ถอดยศ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง และสกัดให้ล้มคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการยื่นต่อประธานสภาฯ
**ที่น่าสนใจที่สุดในห้วงเวลานี้ เห็นจะเป็นการที่ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ “ดีเอสไอ” ออกมาเปิดผลสรุปเบื้องต้น “คดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี 2)” ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ “ไทยเข้มแข็ง” วงเงินงบประมาณ 5,300 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งเกิดในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดก็จะเห็นได้ชัดว่า “คดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี 2)” ที่ว่านี้ มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้น และผู้ที่เกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ก็เป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี “วิลาศ จันทรพิทักษ์” ส.ส.จอมเก๋า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ย้อนไปในวันนั้น จะพบว่า “วิลาศ” ไล่สอบเปิดโปงความไม่ปกติผ่านสื่อมาหลายต่อหลายครั้ง แม้จะได้รับการ “ขอร้อง” จากผู้ใหญ่ในพรรคหลายครั้งก็ตาม เพราะเกรงว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่ และกระทบความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็คือ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีเป็นเจ้าของโควต้า รมช.ศึกษาธิการ
เนื่องจากบทสรุปของ กมธ.ป.ป.ช.นั้น สาวไปถึงแค่เพียง “นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์” อดีต รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย ที่กำกับดูแล สอศ. โดยไม่แตะต้อง หรือพูดถึงความเกี่ยวโยงของ “เจ้ากระทรวง” ซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการทุจริตงบประมาณไทยเข้มแข็งที่ว่านี้แต่อย่างใด
**ตรงนี้เป็นเพียงข้อแตกต่างจุดเดียวของผลสอบของ “คนประชาธิปัตย์” ในวันนั้นกับของ “ดีเอสไอ” ในวันนี้
ตามคำแถลงของ “ธาริต” เมื่อวันก่อน ระบุชัดว่า ผลสอบสวนพบมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 4 ราย ประกอบด้วย “ชินวรณ์ บุญยเกียรติ” รมว.ศึกษาธิการในขณะนั้น “นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์” รมช.ศึกษาธิการในขณะนั้น พ่วงด้วย 2 บิ๊กข้าราชการ “เจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ” ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และ “บำรุง อร่ามเรือง” ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ที่จะขาดไปก็เพียง “ศศิธารา พิชัยชาญรณรงค์” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะอดีตเลขาธิการสอศ. ที่เบื้องต้นได้รับการกันตัวไว้เป็นพยาน เนื่องจากเจ้าตัวให้การในชั้นสอบสวนซัดทอดไปถึง “ชินวรณ์” เนื่องจากเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ และออกคำสั่งตามที่ “รมช.นริศรา” ชงมาให้หลายครั้ง
ทำให้ “ชินวรณ์” โดน “หางเลข” ไปด้วย ส่วนจะมีเอี่ยวผลประโยชน์ใดหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่มีผลสอบของคณะกรรมการชุดใดฟันธงออกมา
หากมองอย่างผิวเผินคงต้องบอกว่า “ดีเอสไอ” ที่มีอธิบดีชื่อ “ธาริษ เพ็งดิษฐ์” ร่วมวงเล่นเกมการเมืองตัดกำลังฝ่ายค้าน หวังลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านที่กำลังลับมีดจ่อเชือด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และอีก 3 รัฐมนตรี ในข้อหาบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบ โดยรับ “ใบสั่ง” มาไล่เบี้ย “เช็คบิล” รัฐบาลที่แล้ว ตามสไตล์ “ลมเปลี่ยนทิศ ธาริตเปลี่ยนสี” ที่ถูกค่อนขอดมาตลอด นับตั้งแต่เปลี่ยนท่าทีในการสอบสวนคดีผู้เสียชีวิต 98 ศพในเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.–พ.ค.53
แต่เมื่อไล่เรียงเรื่องราวก็จะพบว่า มีพฤติกรรมการกระทำผิดที่ชัดเจน ดังนั้นจะมองเรื่องนี้เป็นเพียง “เกมการเมือง” คงไม่ได้ เพราะรายการจัดซื้อที่ผิดปกติเป็นหางว่าว หรือเรียกได้ว่า “โกงกันแบบหยาบช้า” ก็คงไม่ผิดนัก
ไล่ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” โดยการเข้าไปล้วงลูก แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการจัดหาครุภัณฑ์ จนทำให้เรื่องฉาวโฉ่หนักถึงขั้นที่ กมธ.ป.ป.ช. เคยเปิดโปงเมื่อช่วงเดือนเม.ย.54 ว่า มีหลายสถานศึกษาที่ปฏิเสธไม่รับครุภัณฑ์ต่างๆ 13 รายการ มูลค่าราว 884 ล้านบาท เนื่องจากราคาแพงเกินจริง และไม่วายที่ สอศ.ต้อง “แก้เกม” โดยส่งคณะกรรมการจากส่วนกลางลงไปตรวจรับยังสถานศึกษาต่างๆ เอง อาทิ
ห้องปฏิบัติการสาขาเทคโนโลยีระบบการควบคุมอัตโนมัติ 14 ชุด มูลค่าราว 97 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 63 ล้านบาท ชุดครุภัณฑ์สำหรับงานเชื่อมและการตรวจสอบคุณภาพงานเชื่อมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง 14 ชุด มูลค่าราว 97 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 61 ล้านบาท ชุดห้องปฏิบัติการควบคุมเครื่องกลไฟฟ้าด้วยเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ 5 ชุด มูลค่าราว 78 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 39 ล้านบาท ชุดครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง 15 ชุด มูลค่าราว 89 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 58 ล้านบาท หรือชุดเครื่องมือบริการหัวฉีดดีเซล คอมมอลเรล 15 ชุด มูลค่าราว 81 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 59 ล้านบาท เป็นต้น
และที่ "ตลกร้าย" ไปกว่านั้นคือ การจัดซื้อที่ไม่ตรงความต้องการครุภัณฑ์ของสถานศึกษา ยกตัวอย่าง วิทยาลัยการท่องเที่ยวได้รับเครื่องจักรอุตสาหกรรม วิทยาลัยประมง ได้รับเครื่องตั้งศูนย์ถ่วงล้อ วิทยาลัยอาชีวศึกษาบางแห่งที่เน้นสอนด้านพาณิชยกรรม และคหกรรม ได้รับเครื่องทดสอบความแข็งแรงของวัสดุก่อสร้าง หรือกระทั่งเทคนิคบางแห่ง ที่ไม่ได้เปิดสอนวิชาพลังงานทดแทน แต่ก็ได้รับชุดครุภัณฑ์ปฏิบัติการพลังงานทดแทนที่มีมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท
**กลายเป็นการถลุงงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมโหฬารนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “ผู้รับผิดชอบ” ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้นอกเหนือจาก “รัฐบาลประชาธิปัตย์” ที่ไม่ควรออกมาโอดครวญว่า เรื่องนี้เป็น “เกมการเมือง” ของฝ่ายพรรคเพื่อไทยโดยอาศัย “ดีเอสไอ” เป็นเครื่องมือ แต่ควรที่จะร่วมมือในการให้ข้อมูล ส่วน “รัฐบาลเพื่อไทย” ก็ไม่ควรใช้เรื่องนี้มาต่อรองหรือ “ซูเอี๋ย” กับฝ่ายตรงข้าม กลายเป็น “มวยล้ม” ให้ชาวบ้านต้องเสียอารมณ์
**ถึงเวลาต้องหา “คนผิด” แล้วเอาตัว “คนโกง” มาลงทัณฑ์
กำลังโหลดความคิดเห็น