xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโฆษกรัฐบาลขึ้นชั้น “รัฐมนตรี”

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

ไพศาล อินทสิงห์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์ 3 มีพ้นออกไป มีใหม่เข้ามา และคนเก่าสลับตำแหน่งรวม 23 ท่าน สำรวจตรวจสอบประวัติภูมิหลังการทำงาน ดูแล้วมีหลากหลายลักษณะที่มา

หนึ่งในนั้น คือ มาจากโฆษกรัฐบาล ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

ถูกต้องแล้วครับ ผู้เขียนหมายถึง ท่านศันสนีย์ นาคพงศ์ จากโฆษกรัฐบาลขึ้นชั้นรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเที่ยวนี้ด้วย

เก้าอี้รัฐมนตรีมีจำกัด แต่คนต้องการนั่งมีมาก การจะเบียดเข้าไปได้ จึงไม่ง่าย ย่อมต้องถูกพิจารณาคัดสรร กลั่นกรอง กระทั่งเห็นว่า เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในมุมมอง และทัศนะของนายกรัฐมนตรี

ทั้งมิติด้านงาน มิติทางการเมือง และอื่นๆ โดยเฉพาะ “ความเหมาะสม”

ด้านงานได้ มิติทางการเมืองไม่ได้ ก็จบ

การเมืองได้ มิติด้านงานไม่ได้ ก็ไม่รอด

มิติด้านงาน และการเมืองได้ทั้งคู่ แต่ยังไม่เหมาะสม ก็เป็นไปได้ยาก

ถึงบอกว่า การฝ่าด่านเพื่อจะเบียดเข้าไปนั่งใน ครม.ไม่ง่าย

จะด้วยเหตุผล ความเหมาะสมใดก็ตาม ถือว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีให้โอกาสโฆษกรัฐบาลแล้ว

จากนี้อยู่ที่ ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ทุกท่าน ต้องแสดงแสนยานุภาพ รวมทั้งโฆษกศันสนีย์ที่ขึ้นชั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใครมีฝีมือเท่าใด ต้องแสดงอย่างเต็มที่ เพื่อกำกับ ขับเคลื่อน ผลักดัน “นโยบาย” ของรัฐบาลออกมาเป็น “ผลงาน” ให้ได้มากที่สุด

จากนโยบายต้นทาง ณ ทำเนียบรัฐบาลไปสู่ผลงานปลายทาง ณ ประชาชน

ตอบแทนนายกรัฐมนตรีที่ให้โอกาสในการทำงาน ไม่มีการตอบแทนใดดีไปกว่าการตอบแทนด้วย “ผลงาน”

มองว่า โฆษกรัฐบาลทำได้ และ(น่าจะ)ดีด้วย

ขอเชียร์และหนุนครับ

ที่มองและกล้าพูดเช่นนั้น เพราะ “การผ่านงานเป็นโฆษกรัฐบาล ส่วนหนึ่งถือเป็นความได้เปรียบ” (ที่น่าสนใจ)

คุณสมบัติและประสบการณ์ด้านประชาสัมพันธ์ของโฆษกรัฐบาลศันสนีย์ เป็นผลดี และประโยชน์เอื้อและหนุนนำ (ทางการบริหาร)

มองอย่างนั้น มีเหตุผลอย่างไร

ผู้อ่านอาจเห็นต่าง เห็นแย้งผู้เขียนก็ได้ ถือว่า เรียนรู้ร่วมกัน เป็นประโยชน์ในหลากหลายมิติกับสังคม

ทั้งนี้ มีแนวคิด และมุมมองที่อยากนำเสนอ แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อ่าน ประชาชน โดยเฉพาะผู้อ่านที่อยู่ในวิชาชีพ PR เป็นประชาสัมพันธ์องค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึง PR ที่สนใจ

โดยผู้เขียน มีเหตุผลประกอบการพิจารณา “การผ่านงานเป็นโฆษกรัฐบาล(PR) ส่วนหนึ่งถือเป็นความได้เปรียบ” 6-7 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 โฆษกทำงานกับสื่อ การทำงานกับสื่อเป็นผลดี เพราะสื่อ คือ ผู้ที่สัมผัส เชี่ยวชาญรอบรู้เรื่องต่างๆ ทั้งจากบุคคลและสถานการณ์ ไม่ว่าเรื่องการบริหารงาน การปฏิบัติ ปัญหาความต้องการขององค์กรและประชาชน สื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความจริง ความรอบด้าน เข้าถึงความจริง เหตุการณ์ต่างๆ เป็นปัจจุบันทันเกม ทันการณ์ ผ่านมาหมดอะไรใช่ ไม่ใช่ จริง ไม่จริง ลับลวงพรางอย่างไร ความชัดเจน จัดเจนในวิชาชีพสื่อ ถือเป็นประสบการณ์ทรงคุณค่า ใครทำงานสัมผัสสื่อ จึงมีโอกาสได้แนวคิด เหลี่ยมมุมความคิดดีๆ ไม่ต้องไปเรียนรู้ที่ไหน เรียนรู้จากสื่อดีที่สุด

ประการที่ 2 การทำงานโฆษก เป็นการทำงานกับระดับบริหารในองค์กรอย่างทำเนียบรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี การทำงานในบทบาทนี้ ทำให้โฆษกรัฐบาลได้สัมผัสเรียนรู้แนวคิดบริหาร วิธีคิด กลยุทธ์ กลวิธีต่างๆ ความล้ำลึก ความพลิ้ว ลีลาผู้นำ ถือเป็นบันไดประสบการณ์สำเร็จรูป เป็นความได้เปรียบของโฆษกศันสนีย์ในวันวาน ก่อนขึ้นเป็น “ตัวจริง” ในวันนี้

ประการที่ 3 (โฆษก) ประชาสัมพันธ์กับการบริหารเป็นของคู่กัน เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะไม่มีการบริหารงานใดประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ ฉะนั้น ทั้ง PR และบริหาร ย่อมมองในมุมเดียวกันเสมอสู่จุดหมาย ทำอย่างไรให้องค์กรสู่ความสำเร็จ โฆษกรัฐบาล ย่อมผ่านการมองในฐานะผู้นำรัฐบาล

การมีวิธีคิด และมุมมองร่วมกับนายกรัฐมนตรี ถือว่า ไม่ธรรมดา

ประการที่ 4 ประสบการณ์ทำงาน(โฆษก)ประชาสัมพันธ์ เป็นโอกาสสัมผัสใกล้ชิดระดับบริหารอื่นๆ ที่หลากหลาย มิเพียงในองค์กรทำเนียบรัฐบาล นายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรี แต่ยังภายนอกองค์กรด้วย รวมทั้งผู้บริหารองค์กรภาคธุรกิจเอกชน ในฐานะเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย โดยเฉพาะ PR เป็นงานเชิงนโยบาย การจะประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ออกไปสู่สาธารณะ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากระดับนโยบาย ผลพวงจากการพบปะพูดคุย ประสานการทำงานตรงนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ ซึมซับมุมมองเคล็ดลับการทำงาน แนวคิดเชิงธุรกิจของผู้บริหารคนนั้นๆ ถือเป็นมูลค่าเพิ่มเชิงประสบการณ์

ยิ่งหลากหลายเท่าใด ยิ่งได้เท่านั้น

ได้มากเท่าใด ก็นำไปใช้(บริหาร)ได้มากเท่านั้น

“ลักษณะงานในสายงานประชาสัมพันธ์ เอื้อต่อการเข้าถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นความได้เปรียบ และโอกาสมากกว่าสายงานอื่นๆ” (บ่อยครั้ง เรามักจะได้เห็นนักประชาสัมพันธ์ระดับ 3-4 ของกรม แต่เข้าไปนั่งพูดคุยกับอธิบดีกรม อย่างไม่เคอะเขิน แถมเป็นกันเอง เพื่อหารือและขอความเห็นชอบข่าวประชาสัมพันธ์ของกรม)

ประการที่ 5 โฆษกรัฐบาล ในฐานะที่ปรึกษาแนะนำ PR ทำให้ประชาสัมพันธ์(โฆษก)กับผู้บริหารเป็นคู่หูการทำงานใกล้ชิด เนื่องเพราะถือว่า คนเป็นประชาสัมพันธ์องค์กร จะต้องรอบรู้ความเคลื่อนไหว กระแสสังคมต่างๆ ลักษณะงาน PR ที่บังคับให้ต้องติดตามข่าวสารทางสื่อมากกว่าผู้บริหาร อย่าลืมว่า นโยบายผู้บริหารมักเกี่ยวข้องกับสังคมเสมอ ก่อนดำเนินนโยบายใดๆ จึงต้องสำรวจตรวจสอบ ฟังกระแส บางครั้งหรือบ่อยครั้ง โดยเรียกพบโฆษก เรียกพบ PR เพื่อปรึกษาสอบถาม หากมองข้ามหรือละเลยอาจพลาดได้ บางครั้งหรือบ่อยครั้ง อาจต้องหยุด ทบทวน ชะลอ เลื่อนนโยบาย ขยายเวลาโครงการออกไปก่อน เพื่อหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ถือเป็นการเรียนรู้การตัดสินใจในเชิงบริหาร พลิ้ว เนียน เป็นความได้เปรียบของโฆษกศันสนีย์

ประการที่ 6 ใช้หลัก “เห็นจากข้างนอก มองจากข้างใน” ขณะทำงานในหน้าที่ ไม่ว่าเป็นใคร ย่อมพัฒนาเรียนรู้การทำงานด้วยตนเองไปตามชั่วโมงบิน เห็นโจทย์ แล้วคิดเอง (ให้เป็น) คิดรวบยอดได้ อ่านเกมเป็น ถือเป็นการสร้างทักษะประสบการณ์ให้ตนเองอีกมิติ

ประการที่ 7 ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ มองในมุมกลับ วันนี้เมื่อโฆษกฯ ศันสนีย์ขึ้นมานั่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว จากนี้รัฐมนตรีศันสนีย์ จะใช้การประชาสัมพันธ์นโยบาย ผลงานของตนอย่างไร จะมอบโฆษกรัฐบาล(คนใหม่)ทำประชาสัมพันธ์อย่างไรจึงจะเข้าถึงประชาชน มากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนเป็นห่วง ระวังจะอ่อนประชาสัมพันธ์เสียเอง ก็ไม่รู้จะโทษใคร ยังไงดี กลายเป็นอุปสรรคในตนเอง

จาก 6-7 ประการที่สะท้อนมุมมองตรงนี้ กับโฆษกรัฐบาลขึ้นชั้นรัฐมนตรี จึงเป็นโอกาสและความท้าทายไม่น้อย หากมีผลการบริหารงาน และผลการประชาสัมพันธ์รัฐบาลที่เจ๋ง ฉีกแนว ไม่ซ้ำใคร ตอบแทนนายกรัฐมนตรีด้วยผลงาน จะปรับ ครม.สักกี่ครั้ง ยิ่งลักษณ์ 4 ยิ่งลักษณ์ 5 เชื่อว่า เหนียวไม่มีหลุดโผ ใครก็อยากได้ และรักษาไว้ซึ่งมือทำงาน เป็นผู้นำไม่ต้องการมือทำงาน จะให้ต้องการอะไร

เพราะเป้าหมายการปรับ ครม.ที่ต้องการสร้าง “ผลงาน” ให้ประชาชน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงแม้สักครั้งเดียว..!

และนายกรัฐมนตรียุคใหม่อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจมองบทบาทโฆษกรัฐบาล เป็นความเหมาะสมอย่างหนึ่งก็ได้ ใครจะรู้..!!
กำลังโหลดความคิดเห็น