xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เสื้อแดงส่อตายฟรี-“ปึ้ง”ยึกยักรับรอง ICC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ให้เข้ามาไต่สวนการตายของคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2553 เป็นไพ่อีกใบหนึ่งที่ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร หยิบเอามาขู่คู่แข่งทางการเมืองอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณมาโดยตลอด นับตั้งแต่การชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองของคนเสื้อแดงสิ้นสุดลงหลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

อย่างไรก็ตาม จนแล้วจนรอด เวลาผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว ไอซีซี.ก็ยังไม่สามารถเข้ามาสอบสวนคดีดังกล่าวได้ มีเพียงความคืบหน้าเล็กๆ น้อยๆ ที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความลูกจ้างทักษิณ และแกนนำคนเสื้อแดงเอามาแถลงข่าวหลอกสาวกให้ดีใจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

อุปสรรคสำคัญคือการที่ประเทศไทยยังไม่ลงสัตยาบันรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศนั่นเอง

แม้ว่าจะมีช่องทางให้ไอซีซี.เข้ามาไต่สวนคดีได้สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้ลงสัตยาบัน โดยให้ฝ่ายบริหาร คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามรับรองขอบเขตอำนาจของไอซีซี.ตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 12 วรรค 3

แต่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เจ้ากระทรวงบัวแก้ว ก็ยังไม่กล้าใช้อำนาจลงนาม

จนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า บรรดาคนเสื้อแดงจะกลับมากระดี๊กระด๊ากับเรื่อง ไอซีซี.อีกครั้ง เมื่อนางฟาโต เบ็นโซดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ ในไทย เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

ระหว่างนั้น นางฟาโตได้หารือกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลเรื่องความร่วมมือทั่วไประหว่างไทยกับไอซีซี และกรณีที่ตัวแทนคนเสื้อแดงเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อไอซีซีที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ไอซีซี.เข้ามาสอบสวนคดีการตายของคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุมในปี 2553

ฝ่ายคนเสื้อแดงต่างก็หวังว่า การเดินทางมาไทยของนางฟาโตครั้งนี้ จะทำให้คดี“98ศพ”มีความคืบหน้า ถึงขั้นที่จะลากนายอภิสิทธ์ไปขึ้นศาลไอซีซี.ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ ขยักท่ารออยู่เกือบ 1 สัปดาห์ จึงแถลงผลการหารือกับนางฟาโต เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน

ผลการหารือก็ได้เพียงข้อมูลกว้างๆ โดยนางเบ็นโซดา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ ซึ่งไอซีซี มีเขตอำนาจพิจารณาการกระทำที่เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท ได้แก่ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมอันเป็นการรุกรานประเทศอื่น

สำหรับกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย นางเบ็นโซดา เห็นว่า อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นก่อน เช่น เป็นการกระทำอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบ

นางเบ็นโซดา ระบุว่า การประกาศยอมรับเขตอำนาจของไอซีซี สามารถกำหนดกรอบไว้ในคำประกาศได้ และจะต้องยึดหลักความเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ โดยไอซีซีจะมุ่งดำเนินการกับผู้สั่งการโดยตรง และผู้รับผิดชอบที่แท้จริง ซึ่งการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี จะเป็นขั้นตอนแรกในการเปิดโอกาสให้ไอซีซีเข้ามาทำการ "ตรวจสอบเบื้องต้น"ว่าไอซีซีจะมีอำนาจพิจารณากรณีนั้นๆ หรือไม่ และไอซีซีจะมีบทบาทเสริมกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศเท่านั้น ทางไอซีซีอาจเข้ามาดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศ "ไม่สามารถ" หรือ "ไม่สมัครใจ" หรือ "ไม่ได้ดำเนินการอย่างแท้จริง"

สุดท้ายแล้วนายสุรพงษ์ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า จะลงนามยอมรับขอบเขตอำนาจของไอซีซีได้เมื่อใด ได้แต่ตอบนักข่าวเลี่ยงๆ ไปว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมติครม.เมื่อปี 2543 เคยให้ตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับไอซีซีขึ้นมา จะต้องกลับไปตรวจสอบว่ายังอยู่หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ของกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยืนยันว่าจะพิจารณารายละเอียดข้อกฎหมายอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ถูกบางกลุ่มนำไปบิดเบือนและสร้างความสับสนให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้ตัวว่าอาจผิด หรืออาจจะผิด อย่าตีตัวไปก่อนไข้

ข้ออ้างของนายสุรพงษ์ดังกล่าว สะท้อนว่า นายสุรพงษ์ ซึ่งก็คือ หุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกตัวหนึ่ง ยังไม่มั่นใจว่า ตนเองมีอำนาจที่จะลงนามรับรองขอบเขตอำนาจไอซีซีได้หรือไม่

แหล่งข่าวจากฝ่ายคนเสื้อแดงบอกว่า นายสุรพงษ์ยังไม่ลงนาม เพราะต้องรอกระแสก่อน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ หากด่วนผลีผลามลงนามรับรองไป อาจจะมีกระแสต่อต้านขึ้นมา ทำให้รัฐบาลแย่ได้ ซึ่งอาจจะต้องรอกระแสไปสักระยะ รอให้คนเสื้อแดงออกมากดดันรัฐบาลมากๆ เช่น มีการชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์เพื่อกดดัน นายสุรพงษ์ก็อาจจะกล้าลงนาม

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากเสื้อแดงสายโลกสวย ยังมีความเห็นจากเสื้อแดงอีกสายหนึ่งที่มองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า และเห็นว่า สาเหตุที่นายสุรพงษ์ยังไม่ลงนามรับรองขอบเขตอำนาจไอซีซี.ก็เพราะมีปัญหาที่ตัวธรรมนูญกรุงโรมนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
นั่นเพราะ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มีมาตรา 27 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐ มาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้เลย มาตรานี้ขัดต่อมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้ององค์พระประมุขมิให้มีใครมาล่วงละเมิดหรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะลงสัตยาบันหรือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรับรองขอบเขตอำนาจไอซีซี.ให้เข้ามาสอบสวนคดีในประเทศไทยก็ล้วนแต่ขัดต่อมาตรา 8 ทั้งสิ้น

นอกจากนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อน แม้ว่าแกนนำคนเสื้อแดงบางคน อย่าง นพ.เหวง โตจิราการ นางสาวจารุพรรณ กุลดิลก จะอ้างว่า ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เพราะเป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ไม่ใช่การทำหนังสือสัญญา แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว หากมีการลงสัตยาบัน หรือลงนามรับรองขอบเขตอำนาจไอซีซีให้มีผลผูกพันต่อรัฐและกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยทางศาลของไทย จะต้องผ่านขั้นตอนตามมาตรา 190 เท่านั้น

หรือ หากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรมฯ จนนำไปสู่การลงสัตยาบันหรือการรับรองขอบเขตอำนาจไอซีซี.ได้ ก็ยังติดขัดที่หลักการกฎหมายใช้บังคับย้อนหลังไม่ได้ เพราะการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเกิดขึ้นในปี 2553 แต่การยอมรับอำนาจไอซีซี.เกิดขึ้นภายหลัง

หรือ หากดันทุรังให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ พ.ต.ท.ทักษิณเองอาจจะโดนไอซีซี.สอบสวนก่อน ในคดีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด และการตายของชาวมุสลิมในภาคใต้ในเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทักษิณ ชินวัตร น่าจะรู้ดีว่า การให้ไอซีซี.เข้ามาทำคดี “98 ศพ”นั้น คงเป็นไปไม่ได้แล้ว และอีกด้านหนึ่ง ก็คงมองเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นของการให้ไอซีซี.เข้ามาทำคดีอีกต่อไป เพราะเมื่อประเมินดูแล้ว การประคับประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ให้น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรีให้นานที่สุดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขามากกว่า

การที่ พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดชุมพร ออกมาโจมตี นพ.เหวง และนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ว่า หลอกลวงคนเสื้อแดงกรณีการไปยื่นเรื่องต่อ ไอซีซี.และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวประธาน นปช.นั้น ก็เป็นการส่งสัญญาณอีกทางหนึ่งว่า ทักษิณ ชินวัตร จะไม่เล่นไพ่ไอซีซี.แล้ว เพราะไม่อยากเสี่ยงโดนย้อนศร และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น