xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นเบรกตั๋ว3จี 3ค่ายนัดพูดไม่มีฮั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลปกครอง สั่ง กสทช. ชะลอการออกใบอนุญาต 3 จี ชี้ขั้นตอนการดำเนินการไม่ชอบ ด้านเอกชน 3 ค่าย นัดกันมาพูด โปร่งใส ไม่มีฮั้ว ส่วนเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ยื่นประธานวุฒิสภาสอบ 40 สว. ขวาง 3 จี

วานนี้ (7 พ.ย.) นายกำชัย น้อยบรรจง เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.สระบุรี และเครือข่าย ได้เข้ายื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง พิจารณาวินิจฉัยกรณีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดประมูล 3 จี โดยได้นำรายละเอียด บันทึการประชุมฯ และขึ้นตอนในการดำเนินการจัดการประมูลมาให้ประกอบการพิจารณา โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้รับเรื่อง

นายกำชัยกล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ให้ความสนใจติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและพบว่า ในการเตรียมการและดำเนินการของ กสทช. ในครั้งนี้ มีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายประการ ซึ่งที่แตกต่างจากผู้ร้องอื่น คือ ในเรื่องของกระบวนการจัดทำประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลฯ ไม่เป็นไปตามระเบียบกสทช.ว่าด้วยการรับคับความคิดเห็นสาธารณะพ.ศ.2548 ซึ่งการออกประกาศเชิญชวนและเผยแพร่เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นล่วงหน้าเป็นเวลา 15 วัน ก่อนเริ่มการรับฟังความคิดเห็น ตามข้อ 21 ของระเบียบ แต่เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีความเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวขาดสภาพการบังคับใช้แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งที่ปรึกษาประจำรองประธานกสทช.ก็เคยทักท้วงในเรื่องเดียวกันนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น กระบวนการเสนอเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างประกาศฯ ภายหลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ มิได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน2.1 กิกะเฮิร์ตซ ที่แต่งตั้งขึ้น แต่กลับไปผ่านคณะทำงานฯ อีกชุดหนึ่ง กรณีดังกล่าวก็ได้มีการทักท้วงแล้ว ซึ่งมีอยู่ในรายงานการประชุม จึงอยากให้ผู้ตรวจการฯ ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดประมูล 3 จี ของกสทช.และเสนอเรื่องดังกล่าวพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง เพื่อพิจารณาชะลอเรื่องการออกใบอนุญาตไว้ก่อน เพราะขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนทั้งในเรื่องของราคา ทั้งนี้ เรื่องต่างๆ จะต้องสมบูรณ์แบบก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต

ด้านนายรักษเกชา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้ส่งให้ผู้ตรวจการฯ ที่ระหว่างนี้มีการพิจารณากันอยู่ ซึ่งยังไม่ได้ขอยุติใดๆ ส่วนคำร้องดังกล่าว จะทำให้การพิจารณาของผู้ตรวจการฯ ต้องยืดออกไปหรือไม่ ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจของผู้ตรวจการฯ

วันเดียวกันนี้ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และการดำเนินการประมูลใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3 จี โดยเชิญนายไพฑูรย์ วิบูลชุติกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ รวมถึงตัวแทนจากบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู เข้าชี้แจง

นายไพฑูรย์ชี้แจงว่า ผลการศึกษาการประมาณการมูลค่าของใบอนุญาตในการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ว่า ตัวเลข 6,440 ล้านบาท เป็นการคำนวณโดยใช้หลักเศรษฐมิติผ่านการศึกษาใน 17 ประเทศ ซึ่งเป็นค่ากลางที่ศึกษาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านการประมูลและเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม ที่ใช้กำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ในประเทศไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับราคาประมูลตั้งต้นที่ กสทช. กำหนด เพราะถือเป็นดุลยพินิจของ กสทช.ในการกำหนดราคาตั้งต้นที่ไม่จำเป็นต้องยึดตามมูลค่าคลื่นความถี่ที่ทางคณะเศรษฐศาสตร์กำหนดก็ได้

ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อแนะนำว่าราคาประมูลขั้นต่ำนั้นควรจะอยู่ระหว่าง 67-100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ 6,440 ล้านบาท คือ ไม่ควรต่ำกว่า 67% ดังนั้น กสทช. จะกำหนด 68 69 หรือ 70% ก็ได้ตามแต่ดุลยพินิจของ กสทช. ส่วนการที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการประมูลที่ผ่านมา ได้ราคาที่ไม่ได้สูงจากราคาตั้งต้นนั้น จากการศึกษาในหลายประเทศก็พบว่าได้ราคาไม่แตกต่างจากราคาตั้งต้นเช่นกัน

นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า สาเหตุที่ดีแทคไม่เคาะราคาประมูลสูงขึ้นจากราคาตั้งต้น เพราะเป็นกลยุทธ์ของการประมูลที่แต่ละบริษัทจะเลือกใช้ตามที่ได้ศึกษามา โดยการประมูลที่เกิดขึ้น ไม่อยากโทษ กสทช. เนื่องจากเป็นความบังเอิญจากข้อกำหนดของ กสทช.ที่ห้ามบริษัทของคนต่างด้าวเข้าประมูล ทำให้มีบริษัทเข้าแข่งขันเพียง 3 ราย และเมื่อสลอตที่จัดให้ประมูล มี 9 สลอต เท่ากับว่าแต่ละบริษัทสามารถประมูลคลื่นได้ บริษัทละ 3 สลอต อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการประมูลในครั้งนี้มีการแข่งขันแน่นอน เพราะในช่วงที่มีการประมูล ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร เพียงแต่คาดเดาเท่านั้น และราคาตั้งต้น 4,500 ล้านบาทไม่ใช่ราคาที่ถูก แต่ทางบริษัทก็พร้อมลงทุน

นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านกฎหมาย บริษัท ทรู กล่าวว่า หากการประมูลที่ผ่านมา ตั้งราคาเริ่มต้นประมาณ 500 ล้านบาท อาจทำให้มีผู้เข้าประมูลนับสิบราย จากนั้นกลไกของการประมูลจะเลือกเองว่าตลาดจะรับราคาสูงที่สุดได้ราคาเท่าไร แต่เมื่อกำหนดราคาที่สูง จึงเป็นส่วนหนึ่งให้เหลือบริษัทเพียง 3 รายในการเข้าประมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทาง กมธ.ได้ตั้งข้อสงสัยไม่โดยไม่เชื่อว่าทั้ง 3 บริษัทจะไม่มีการฮั้วประมูล โดยนายอธึก โต้เถียงอย่างมีอารมณ์ โดยปฏิเสธว่าไม่มีการฮั้วประมูลเกิดขึ้นระหว่าง 3 บริษัทแน่นอน เพราะทั้ง 3 บริษัทต่างอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หากมีการฮั้วจริง นอกจากจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) แล้ว ยังเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว พวกตนเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นเพียงมืออาชีพ ที่ไม่คิดหาเรื่องใส่ตัว ไม่ใช่เถ้าแก่เจ้าของบริษัท แล้วเหตุใดจึงต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงเข้าคุกแทนบริษัท

ด้านนายณัชพล โรจน์ถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ผ่านนางนรรัตน์ พิเสน เลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลที่มีน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สว.เพชรบุรี และแกนนำ40 สว.เป็นประธาน หลังจากกมธ.ชุดนี้ ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3จี เพราะอาจทำให้ชาติและประชาชนได้รับความเสียหายได้

นายณัชพล กล่าวว่า ส.ท.ช.มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจะมีกระแสข่าวเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในความพยายามล้มโครงการประมูล 3 จี ซึ่งเป็นเรื่องนี่เป็นห่วงอย่างยิ่ง ประกอบกับจะส่งผลให้เสียโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 3จี เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น