xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อินเดียขึ้นแท่นเบอร์1 ยมทูตกวักมือเรียก...??!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัมมาร สยามวาลา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ทีผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลว่า อินเดียส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกในปีนี้ได้ทั้งสิ้น 9.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 1.75 ล้านตัน กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลกประจำปี 2555

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อินเดียสามารถกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก

นัยว่า รัฐบาลอินเดียเตรียมจะส่งดอกไม้ช่อใหญ่มาขอบคุณรัฐบาลยิ่งลักษณ์ !!

โดยมีการ์ดอวยพรให้รัฐบาลยึดมั่นกับนโยบายรับจำนำข้าวต่อไป

รองแชมป์ ตกเป็นของประเทศเวียดนาม ซึ่งก้าวขึ้นมารั้งอันดับ 2 ในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก สามารถส่งออกข้าวป้อนความต้องการในตลาดโลกได้มากถึง 7 ล้านตันในปีนี้

ไทย...ประเทศที่เคยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด ตกต่ำสุดขีด

จากประเทศที่เคยขายข้าวเป็นอันดันหนึ่งของโลก ในปี 2554 ไว้สูงถึง 10.65 ล้านตัน แต่ในปี 2555 สามารถขายข้าวได้เพียง 6.5 ล้านตัน

ลดลงอย่างน่าใจหาย !!

ทั้งนี้ ปริมาณข้าวทั้งหมดของประเทศต่างๆ ที่ถูกส่งออกมาจำหน่ายในตลาดโลกปีนี้เพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 37.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.85 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2554 ในขณะที่ปริมาณข้าวที่มีการเพาะปลูกกันทั่วโลกมีปริมาณทั้งสิ้น 464.87 ล้านตัน

นั่นหมายความว่า ตลาดข้าวของ “ฉิบหาย” เพราะคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เหตุผลสำคัญคือ ปริมาณข้าวที่ไทยขายได้ 6.5 ล้านตัน น้อยกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” พยายามโกหกมาตลอดเวลาว่า มีการเซ็นเอ็มโอยูขายข้าว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และประเทศโกตดิวัวร์ จำนวน 7.32 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 114,000 ล้านบาท
บุญทรง จะกลายเป็น บุญไม่มี วาสนาไม่พอ ก็คราวนี้แหละ !!

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอารไอ) บอกว่า “แม้โครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ช่วยเกษตรกรจริง แต่ยังมีข้อที่ควรสังเกตหลายอย่าง คือ ช่วยเกษตรกร แต่ทำร้ายประเทศชาติ อย่างนี้ถือว่าดีหรือไม่”

“ขณะเดียวกัน ก็เป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง มากกว่าเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก เพราะถ้าช่วยก็ช่วยเกษตรกรแค่ 1 ล้านครัวเรือน จาก 4 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นเกษตรที่มีฐานะดี และฐานะปานกลางเท่านั้น”

นั่นหมายความว่า นโยบายรับจำนำข้าวที่ใช้เงินของคนทั้งประเทศ แต่ทำให้โรงสี และชาวนารวยได้ประโยชน์

ยกเว้นว่า ไปเอาเงินทักษิณ 5.1 แสนล้านบาท มาใช้โครงการทั้งในปีการผลิต 2554/2555 (2.7 แสนล้านบาท) และปีการผลิต 2555/2556 (2.4 แสนล้านบาท)

คงไม่มีใครสาปแช่งรัฐบาลเหมือนทุกวันนี้

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งข้อสังเกตุว่า “สิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลบอกไม่มีหลักฐานพอที่จะเชื่อถือได้ เช่น ตัวเลขการระบายข้าว 7 ล้านต้น หรือเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ พูดไม่ตรงกันในเรื่องเอ็มโอยู กับจีทูจี ซึ่งแสดงว่ามีปัญหาแล้ว”

“อยากขอเตือนว่า ในอนาคตโครงการนี้จะหัวทิ่ม และจะพาเกษตรกรหัวทิ่มตามไปด้วย” ดร.อัมมาร กล่าว

เมื่อวันที่ 31 ต. ค.ที่ผ่านมา มหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์เเละอุตสาหกรรม ได้เข้ายื่นหนังสือรายงานการพิจารณาศึกษา เเละวิเคราะห์นโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบกับปัญหาเศรษฐกิจของไทย เเละการพิจารณาศึกษาโครงการรับจำนำข้าวอันเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะหนี้สาธารณะเเละปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต ให้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อประกอบพิจารณาตามที่ได้ร้องเรียน

รายงานเรื่องจำนำข้าว ระบุว่า “โครงการนี้ได้ทำลายกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมข้าว และทำลายความสามารถการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก รวมทั้งไม่ได้ช่วยชาวนายากจน 3 ล้านรายอย่างแท้จริง เพราะถูกเอาเปรียบจากโรงสี ซึ่งเฉลี่ยแล้วชาวนาได้รับเงินจากการจำนำประมาณ 9,500-11,000 ล้านบาทต่อตันเท่านั้น "

“นโยบายและมาตรการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ พ.ศ.2529 สูญเสียเงินไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี ผู้ส่งออก รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้ และยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือคอร์รัปชันอีก” นายมหรรณพ กล่าว

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ทำจดหมายเปิดผนึก ฟ้องประชาชนและวุฒิสภา ภายใต้หัวข้อ"ผลดีผลเสียของการจำนำทุกเม็ด" เพื่อให้สังคมได้เห็นปมของปัญหาต่างๆ โดยตอกย้ำว่า
“ ชาวนายากจนที่ปลูกข้าวนาปี เพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน หรือไม่มีผลผลิตเหลือขาย จะไม่ได้ประโยชน์แม้แต่บาทเดียวจากโครงการรับจำนำ ชาวนาที่ต้องซื้อข้าวกินมี 7.4 แสนครัวเรือน และชาวนาที่ปลูกข้าวไว้กินในบ้าน มีจำนวน 1.3 ล้านครัวเรือน ฉะนั้นชาวนาที่ยากจนจึงมิได้ประโยชน์ใดๆ จากการจำนำ ยกเว้นว่าต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาแพงขึ้น”

“ประเด็นสำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดคือ ชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนจน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงว่า ในบรรดาครัวเรือนคนไทยทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนสูงสุด 40% ของครัวเรือนไทยทั้งหมด ปรากฎว่า เป็นครัวเรือนชาวนาจำนวน 1.185 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการจำนำมากที่สุด เพราะมีผลผลิตข้าวเหลือขายให้รัฐบาลมากที่สุดถึงร้อยละ 52 ของผลผลิตที่ชาวนาทั่วประเทศนำออกขายในตลาด”

“ดังนั้นโครงการรับจำนำ จึงเป็นการนำเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนทุกคน (รวมทั้งคนจน) ไปแจกจ่ายให้เกษตรกรที่มีฐานะร่ำรวย และฐานะปานกลาง นโยบายแบบนี้เป็นการเพิ่มความไม่เท่าเทียมของการกระจายรายได้ ซึ่งสวนทางกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาล” จดหมายของทีดีอาร์ไอ ระบุไว้
แต่ไม่สวนทางกับนโยบายของยิ่งลักษณ์

โดยเฉพาะ “ภูมิ สาระผล” อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว

รวยเงียบไปหลายร้อยล้านแล้ว !!!


ภูมิ สาระผล
กำลังโหลดความคิดเห็น