ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของทวีปอเมริกา เมื่อ “แซนดี้” พายุที่ถูกจัดว่าเป็นเฮอริเคนรุนแรงสุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ รองจาก “แคทรินา” เมื่อปี 2005 และ “แอนดรูว์” ในปี 1992 ได้พัดถล่มพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน คร่าชีวิตผู้คนไป 69 คน ในสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนจะเคลื่อนตัวไปทำลายล้างสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับสหรัฐฯ ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะศึกชิงทำเนียบขาวในโค้งสุดท้ายที่ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
“แซนดี้” ถูกจัดว่าเป็น “ซูเปอร์สตอร์ม” ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก โดยการก่อตัวขึ้นจากกระแสลมหนาวในมหาสมุทรอาร์กติก แล้วพัฒนากลายเป็นพายุโซนร้อน มีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางผิดธรรมดา โดยที่สนามลมแผ่กว้างจากศูนย์กลางถึง 1,125 กิโลเมตร หรือจากเซาท์แคโรไลนาด้านเหนือจนถึงพรมแดนแคนาดา และจากเวสต์เวอร์จิเนียถึงมหาสมุทรแอตแลนติกที่จุดกึ่งกลางไปยังเบอร์มิวดา
ด้วยเหตุนี้จึงมีการขนานนามให้มันว่าเป็น “แฟรงเคนสตอร์ม” เลียนแบบปีศาจ “แฟรงเคนสไตน์” ในช่วงใกล้เทศกาลฮัลโลวีน
ทันทีที่พายุลูกนี้เคลื่อนขึ้นสู่ฝั่ง ใกล้เมืองแอตแลนติกซิตี้ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ในคืนวันจันทร์ (29) ก็สร้างความเสียหายย่อยยับไปทั่วทั้งแถบอีสต์โคสต์ หรือชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ นำพามาทั้งฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรง และน้ำท่วมใหญ่ คร่าชีวิตผู้คนใน 9 มลรัฐไปไม่ต่ำกว่า 63 ราย และนอกจากทิ้งให้บ้านเรือนประชาชนจมอยู่ใต้น้ำ ต้นไม้ล้มระเนระนาด สายไฟฟ้าหล่นเกลื่อนกลาด เป็นร่องรอยยืนยันพลังทำลายล้างของ “แซนดี้” ได้เป็นอย่างดีแล้ว อิทธิฤทธิ์ของซูเปอร์สตอร์มลูกนี้ก็ยังทำให้เกิดพายุหิมะในแถบเทือกเขาแอปปาลาเชียน รวมถึงบางส่วนของโอไฮโอ เพนซิลเวเนีย และเวสต์เวอร์จิเนียอีกด้วย
ขณะที่ ครัวเรือน และสถานธุรกิจกว่า 8 ล้านแห่งในหลายมลรัฐไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ระบบขนส่งเป็นอัมพาต หลายพื้นที่ในมหานครนิวยอร์กถูกตัดขาด เนื่องจากรถไฟใต้ดิน รถประจำทาง สะพาน สนามบิน หยุดให้บริการ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตลาดแนสแดค และสถานที่ราชการในกรุงวอชิงตัน โดยบริษัทประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติ อีเควแคต (Eqecat) ได้ประเมินว่า พายุลูกนี้จะส่งผลกระทบต่ออเมริกันชนมากกว่า 60 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของพลเมืองทั้งประเทศ และก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจราวๆ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทีเดียว
ที่สำคัญ พายุ “แซนดี้” ยังทำให้แผนการเดินสายหาเสียงของ 2 ผู้สมัครชิงทำเนียบขาวคือ ประธานาธิบดี โอบามา และมิตต์ รอมนีย์ มีอันต้องเปลี่ยนแปลงกะทันหัน แม้จะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ โดยโอบามายอมทิ้งสนามแข่งสำคัญ หันไปทุ่มเททำงานรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จัดการกับเฮอร์ริเคนแคทรินาผิดพลาดเมื่อปี 2005
ทั้งนี้ ประชาชนหลายสิบล้านคนตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของอเมริกาพยายามกลับมาใช้ชีวิตตามปกติตั้งแต่วันพุธ (31 ต.ค.) ส่วน ตลาดหุ้น สนามบินหลายแห่ง และธุรกิจจำนวนมากก็กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ถึงแม้คาดหมายกันว่ายังจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันจึงจะสามารถฟื้นระบบส่งกระแสไฟฟ้า และระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะให้กลับมาใช้งานได้เช่นเดิม