xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองภาคประชาชนทนไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


คนไทยที่ยังมีหัวจิตหัวใจและสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คงจะเห็นตรงกันทุกคนว่า ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ นับวันจะส่อแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ และฉ้อฉลคดโกงของระบอบการเมือง และนักการเมืองไทย จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่อาจนำความหายนะมาสู่ประเทศไทยอย่างน่าวิตกกังวล

เดชะบุญที่ในห้วงเวลานี้ สังคมไทยเริ่มตระหนักและตื่นตัว คิดถึงการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งเป็นวิถีทางเลือก ที่อาจจะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะกอบกู้วิกฤตการณ์ของบ้านเมืองได้ ผู้เขียนจึงอยากจะเชิญชวนผู้คนมาร่วมกันพิจารณาทบทวนถึงหลักการและเนื้อหาของการเมืองภาคประชาชน เพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ในทิศทางเดียวกัน

เมื่อเดือนมีนาคม 2554 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้พิมพ์เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งอรรถาธิบายถึงการเมืองภาคประชาชนได้อย่างดีมาก

แต่น่าเสียดายที่ระบุจำนวนพิมพ์ไว้เพียง 5,000 เล่ม นอกจากแจกจ่ายในแวดวงรัฐสภากันเอง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีใครสนใจใคร่อ่านทำความเข้าใจมากน้อยสักกี่คน ที่เหลือเผยแพร่มาสู่ภายนอกรัฐสภาก็คงเหลือเพียงจำนวนน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศนี้ ทำเหมือนไม่ตั้งใจจะเผยแพร่สู่มวลชนอย่างจริงจัง ผู้เขียนขอคัดบางบทบางตอนมาช่วยเผยแพร่ให้ในบทความนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

“หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยประชาชนทำหน้าที่ปกครองตนเองโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้ จึงเกิดรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยแบบผู้แทน โดยประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นทำหน้าที่แทนตน และผู้แทนทำหน้าที่ร่วมกันเลือกผู้บริหารประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายและวิธีการปฏิบัติตามนโยบาย การเลือกผู้แทนเข้าทำหน้าที่แทนตน เป็นกลไกเบื้องต้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้น ยังไม่สามารถสนองตอบและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมที่มีการขยายตัวและมีความสลับซับซ้อนประกอบกับการแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มที่เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อขอมีพื้นที่เรียกร้องสิทธิทางการเมืองในการปกป้องผลประโยชน์ของตน

การเคลื่อนไหวของประชาชนดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนและเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” หรือ “ประชาธิปไตยแบบทางตรง” มากขึ้นและเปลี่ยนสภาพการเมือง ที่การเมืองเป็นของนักการเมืองมาเป็นการเมืองของพลเมืองหรือการเมืองของภาคประชาชน....”

“...การเมืองภาคประชาชน เป็นการเมืองแนวใหม่ ที่ถือว่าประชาชนเป็นตัวแสดงหลัก ไม่ใช่การเมืองแนวเดิมที่ประชาชนเป็นเพียงผู้ดูหรือผู้ปฏิบัติตาม โดยประชาชนจะมีบทบาทในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น เพื่อปกป้องและเรียกร้องสิทธิของตนที่ควรจะได้รับ รวมทั้งติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการทำงานของรัฐ...”

“...ในอดีตประเทศไทยมิได้มีกรอบกติกาที่ยอมรับ และเปิดพื้นที่ให้มีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน เป็นสิทธิที่ชอบธรรมเท่าที่ควร แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญล้วนแต่มีผลให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในกระบวนการทางการเมืองทุกระดับมากขึ้น และยังขยายการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิของพลเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ2540 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้นำหลักการของรัฐธรรมนูญ 2540 มาบัญญัติไว้เช่นเดิมแต่ได้ขยายสิทธิทางการเมืองในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเพิ่มมากขึ้น...”

โดยสารัตถะของการเมืองภาคประชาชน ที่เผยแพร่โดยรัฐสภาดังกล่าว ลองนำมาเปรียบเทียบกับสภาวะความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า การเมืองการปกครองของประเทศไทย ยังถูกผูกขาด โดยกลุ่มทุนและนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้น้อยมาก นักการเมืองฝ่ายที่ได้ครอบครองอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใด ยังคงถืออำนาจบาตรใหญ่ และลุแก่อำนาจ ในการบริหารอำนาจรัฐ ซึ่งเต็มไปด้วยการฉ้อฉลคดโกง แสวงประโยชน์ส่วนตนของฝ่ายการเมือง โดยละเลยประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน

ในปี พ.ศ. 2548 ปรากฏการณ์การรวมตัวของภาคประชาชน เป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จึงเป็นการเกิดขึ้นและปลุกกระแสการตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชนเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง แต่ก็ถูกอำนาจรัฐทางการเมือง กีดกันขวางกั้น ไม่ยอมให้เข้าไปมีส่วนร่วม กลายเป็นการต่อต้านประท้วงอำนาจรัฐบนท้องถนนครั้งแล้วครั้งเล่า และถูกปราบปรามทำร้ายอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนตลอดมา

หลังจากนั้นฝ่ายการเมืองฟากฝั่งหนึ่งยังสร้างขบวนการภาคประชาชนหลอกๆขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่สถานะที่แท้จริง หาใช่การเมืองภาคประชาชน ที่ปกป้อง เรียกร้องสิทธิ หรือตรวจสอบติดตามการใช้อำนาจรัฐ ตามนิยามของการเมืองภาคประชาชนแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องนักการเมืองนายทุนเป็นส่วนบุคล และเป็นฐานกำลังหรือเป็นส่วนเดียวกันกับพรรคการเมืองอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน โดยใช้หลักการประชานิยมและการเมืองการตลาดขับเคลื่อนเป็นเครื่องล่อ ซึ่งผู้ที่มีใจเป็นธรรม จะเห็นได้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมภาคประชาชนและก้าวย่างทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ราวฟ้ากับดิน ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของปวงชน ตรวจสอบและติดตามการใช้อำนาจรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกองกำลังรับใช้พรรคและนักการเมือง และร่วมแสวงผลประโยชน์ต่างตอบแทนอย่างเมามัน

ปรากฏการณ์การรวมตัวของภาคประชาชนครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนำขบวนโดย องค์การพิทักษ์สยาม ได้ประกาศนัดหมายชุมนุมภาคประชาชนแบบไม่มีสี โดยมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อโค่นล้มรัฐบาล และปฏิรูประบอบการเมืองของประเทศไทยใหม่ ซึ่งปรากฏว่า มีประชาชนที่หมดความอดทนต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน เข้าร่วมชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนเกินคาด ซึ่งทำให้พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ประกาศจะมีการนัดหมายอีกครั้งต่อไป โดยขอให้ผู้ร่วมชุมนุมที่ได้รับฟังข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเมืองไทยจากเวทีการปราศรัยตลอดทั้งวัน ช่วยกันนำไปขยายผล และชักชวนคนมาร่วมให้มากขึ้นอีกร้อยเท่า เพื่อขับไล่รัฐบาล และล้มล้างระบอบการเมืองที่ล้มเหลว เพื่อปฏิรูปประเทศไทยต่อไป

ผู้เขียนเห็นด้วยกับภาคประชาชนที่จะร่วมกันลุกขึ้นมาปฏิวัติ และปฏิรูปประเทศไทยใหม่ ด้วยน้ำมือของการเมืองภาคประชาชนเอง เพราะประเทศนี้หมดหวังจากนักการเมืองแล้ว ไม่ว่าจะผลัดเปลี่ยนขั้วขึ้นมาบริหารจัดการบ้านเมือง โดยนักการเมืองขั้วไหนๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ล้วนแต่ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ฉ้อฉลคดโกง แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน และละเลยการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประเทศชาติและประชาชนไม่ต่างกันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเมืองไทยปัจจุบันได้กลายเป็นระบบธุรกิจการเมืองอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

ถึงเวลาที่การเมืองภาคประชาชนจะลุกขึ้นมาปฏิวัติ และปฏิรูปประเทศไทยเสียที เพราะคนไทยส่วนใหญ่เริ่มทนไม่ไหว กับระบอบประชาธิปไตยปนเปื้อน อันโสโครกเส็งเครงนี้แล้ว


               เพราะกลัดกระดุมผิด                   จึงเบี้ยวบิดเมื่อกลัดต่อ
               ผิดพลั้งไม่รั้งรอ                        จึงผิดซ้ำจึงผิดซ้อน
               มีเหตุจึงเกิดผล                         ต้องสืบค้นทุกต้นตอน
               ลิดเหตุให้ผลรอน                       มลายเหตุมลายผล
               แล้วกลัดกระดุมใหม่                    โดยตั้งใจจากเบื้องต้น
               เหตุดีย่อมดาลดล                       ให้ถูกต้องทั้งต้นปลาย
               การเมืองและการบ้าน                   การล้างผลาญแผ่ขยาย
               แบ่งข้างเข้าทำลาย                     ใช่แค่เชื้อแบ่งเสื้อสี
               ล้วนเหตุอาเพศร้าย                     อันเวียนว่ายอยู่นานปี
               คนเล่นล้วนกาลี                         ในหล่มปลักนักโกงเมือง
               เขมือบขะม้ำตะกลามตะกละ            ไม่ลดละในทุกเรื่อง
               แก้กฎก็เปล่าเปลือง                      ต้องปรับแก้กระบวนการ
               กลัดกระดุมให้ถูกเม็ด                   แก้ที่เหตุแก้ที่ฐาน
               รื้อหลักอันดักดาน                       การเมืองทาส ประกาศไท

                                               ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น