xs
xsm
sm
md
lg

เด็กกรุง 80.1% มอง "สังคมไทยคนดีไม่มีที่ยืน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (แฟ้มภาพ)
“เอแบคโพลล์” ถามจริยธรรม ขรก.ในสายตาเยาวชนกรุงเทพฯ พบ 48.4% ดูข่าวทุกสัปดาห์ 67.3% ไม่เคยเห็นคุณธรรม ขรก. 63.9% พบมีรับสินบน 58.4% เห็นเรื่องเลวมากกว่าดี 66.7% ค้านโฆษณาสินน้ำใจไม่เกิน 3,000 53.4% รู้ข่าวรัฐย้ายคนแฉโกง 80.1% ชี้สังคมไทยคนดีไม่มีที่ยืน 59.4% เห็น จนท.สนองรัฐมักได้ดี 76.8% หนุนใช้คำว่าข้าราชการเหมือนเดิม

วันนี้ (28 ก.ย.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องประเมินคุณธรรมจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไทยในสายตาเด็กและเยาวชน กรณีศึกษาตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 12-24 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,127 ตัวอย่าง พบว่า การติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ร้อยละ 48.4 เป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ร้อยละ 43.3 นานๆ ครั้ง และร้อยละ 8.3 ไม่ได้ติดตามเลย

เมื่อถามถึงคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการ ร้อยละ 67.3 ยังไม่เคยพบเห็นเลย และร้อยละ 32.7 เคยพบเห็น เช่น จิตอาสา ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสามัคคี ความเมตตากรุณา เป็นต้น เมื่อถามถึง การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เด็กและเยาวชนเคยพบเห็น ร้อยละ 63.9 การรับสินบน การคดโกง และการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 8.3 การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อาทิ ตำรวจจอดรถในที่จอดของผู้พิการ จอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าไฟแดง ผิดวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เมาแล้วขับ เป็นต้น ร้อยละ 8.3 ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 7.9 การทะเลาะขาดความสามัคคี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 7.4 พูดจาไม่สุภาพ พูดโกหก ร้อยละ 7.1 ใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ใช้เส้นสายในการทำงาน และร้อยละ 5.1 อื่นๆ อาทิ ทำร้ายประชาชน รังแกประชาชน ข่มขู่ประชาชน ทำร้ายร่างกายผู้หญิงในสถานที่ราชการ เก็บค่าคุ้มครอง รีดไถประชาชน เป็นต้น

เมื่อถามถึงประสบการณ์ในการพบเห็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบระหว่าง “การทำความดี” กับ “การทำความผิด” ร้อยละ 58.4 พบเห็นการทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า และร้อยละ 41.6 พบเห็นการทำความดีของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า เมื่อถามความคิดเห็นต่อการโฆษณาของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่ว่าถ้าจะให้ของรางวัลหรือเงิน ตอบแทนเป็นสินน้ำใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ ก็ให้ได้แต่ต้องไม่เกิน 3,000 บาท ร้อยละ 66.7 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการเปิดช่องทางให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป และขาดอุดมการณ์ ทำงานเพื่อหวังผลประโยชน์ เป็นต้น และร้อยละ 33.3 เห็นด้วย เพราะกฎหมายกำหนดห้ามรับสิ่งของมูลค่าเกินกว่านั้น การทำความดีไม่ต้องหวังผลตอบแทนมากมาย และเป็นจำนวนเงินที่พอรับได้ เป็นต้น

เมื่อถามถึงการรับทราบข่าวเกี่ยวกับการที่รัฐบาลได้โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กำลังเปิดโปงขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 53.4 ทราบข่าว และร้อยละ 46.6 ไม่ทราบข่าว เมื่อถามถึงกระทรวงที่เด็กและเยาวชนอยากให้รวมพลังกันเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 28.6 กระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 26.9 กระทรวงการคลัง ร้อยละ 25.6 กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 21.9 กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 19.3 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 9.1 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 6.1 กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 4.3 กระทรวงพลังงาน ร้อยละ 3.3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ร้อยละ 3.3 กระทรวงวัฒนธรรม

เมื่อถามความคิดเห็นต่อความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ร้อยละ 80.1 คิดว่าสังคมไทยปัจจุบัน เป็นแบบ “คนดีไม่มีที่ยืน” และร้อยละ 19.9 คิดว่าสังคมไทยปัจจุบัน เป็นแบบ “คนดีมีที่ยืน” เมื่อถามความคิดเห็นต่อความเป็นจริงของสังคมไทยกรณีการทุจริตคอร์รัปชัน ของข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 59.4 ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ยอมรับผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตคอร์รัปชันกลับได้ดีมีตำแหน่งสูงขึ้นและได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทน และร้อยละ 40.6 ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันถูกทอดทิ้ง ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดให้ความคุ้มครองอย่างจริงจังต่อเนื่อง และเมื่อถามความถึงความชอบต่อคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” และคำว่า “ข้าราชการ” ร้อยละ 76.8 ชอบคำว่า “ข้าราชการ” มากกว่า เพราะจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี มีอุดมการณ์ มีคุณธรรม จริยธรรม และต้องเจริญชีวิตเป็นคนดีตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน เป็นต้น ร้อยละ 23.2 ชอบคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” มากกว่า เพราะทำงานรับใช้ประชาชนที่จ่ายภาษีอากร ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล และต้องมีอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติและประชาชน

นายนพดลกล่าวว่า จากผลสำรวจเยาวชนได้สะท้อนว่า ยังไม่เคยเห็นคุณธรรม จริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการ และพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยของบ้านเมือง อันนี้น่าห่วงมาก

ทั้งนี้ เราได้เสนอแนะโครงการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา เช่น โครงการทำดีให้เด็กดู โครงการที่เกี่ยวข้องกับลานบุญ การเชิดชูคนดีให้มีที่ยืน การทำให้คนไม่ดีไม่มีที่ยืน เห็นว่าการปกครองระบบบ้านเมืองในระบบนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในลักษณะที่สามารถออกกฎหมาย ผ่านกฎหมายได้ แต่เมื่อดูความซับซ้อนระบบการเมืองมีตัวแปลมากที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำไรได้มากไปกว่านี้ สิ่งสำคัญต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีก่อน เริ่มจากครอบครัวของตัวเองและลงไปสู่ชุมชน ซึ่งเห็นว่าวันนี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างแรง แต่การปฏิรูปเหล่านั้นขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ด้วย ที่ต้องออกมาแสดงพลังต่อต้านผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาที่กระทำการไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ดูแลปราบปรามคอรัปชั่นต้องคุ้มครองคนที่ออกมาต่อต้านการทุจริตด้วย

“เสียงชาวบ้านวันนี้ บอกว่าอยากให้ใช้ยาแรงที่สุด คือประหารชีวิตของคนที่ทุจริตคอรัปชั่น ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่มีบารมีในสังคมต้องใช้บารมีกระตุ้นหน่วยงานต่างๆของรัฐที่จะทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี ขอให้มีระบบการคุ้มครองพยาน คุ้มครองคนดี เพื่อให้คนดีที่เบิดโปงการทุจริตได้เติบโตและทำงานต่อไป” ดร.นพดลกล่าว

นายนพดลกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากสังคมไทยเราอยู่ระบบอุปถัมภ์มาช้านาน ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ทิศทางของสังคมจะดิ่งลงไปเรื่อยๆ หากเราเริ่มวันนี้ที่ดิ่งไปแล้วอาจมีโอกาสฟื้นคืนมาได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครคุ้มครองดูแลกันได้ แล้วเวลานั้นสังคมจะน่าอยู่ได้อย่างไร ดังนั้นจำเป็นต้องเริ่มจากวันนี้อะไรที่ทำได้ตามระบบกฎหมายทำให้ดีที่สุดน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดีกว่าจะปล่อยให้ทิศทางของสังคมไทยดิ่งลงเรื่อยๆและปล่อยให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมต่อไปแบบนี้ไม่ได้แล้ว ส่วนประเด็นผู้มีอำนาจตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง ถือเป็นเรื่องจริยธรรมของผู้ตีความกฎหมาย แต่ไม่ใช่มีเพียงคี่คนกลุ่มสองกลุ่มในบ้านเมืองที่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง ยังมีหน่วยงาน องค์กรอิสระต่างๆ มากมาย ที่ทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ควบคุมพฤติกรรมคนไม่ดีได้ เพียงขอให้คนในหน่วยงานกฎหมายเหล่านั้นทำหน้าที่ให้ดีที่สุดยึดหลักคุณธรรม จริยธรรมไว้ เชื่อว่าจะทำให้สังคมไทยดีขึ้นได้

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.6 เป็นชาย ร้อยละ 48.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 10.5 ระบุอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 39.4 ระบุอายุ 15-19 ปี และร้อยละ 50.1 ระบุอายุ 20-24 ปี ทั้งนี้ ร้อยละ 98.6 ระบุยังเป็นนักเรียน/นักศึกษาอยู่ในขณะที่ร้อยละ 1.4 ระบุว่าไม่ได้เป็นนักเรียน/นักศึกษาแล้ว

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

ลำดับที่การติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมาค่าร้อยละ
1เป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง48.4
2นาน ๆ ครั้ง43.3
3ไม่ได้ติดตามเลย8.3


ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เด็กและเยาวชนเคยพบเห็น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ลำดับที่คุณธรรม จริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ / ข้าราชการค่าร้อยละ
1ยังไม่เคยพบเห็นเลย67.3
2เคยพบเห็น เช่น จิตอาสา ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสามัคคี ความเมตตากรุณา เป็นต้น32.7


ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชนที่เคยพบเห็นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เด็กและเยาวชนเคยพบเห็นค่าร้อยละ
1การรับสินบน/ การคดโกง และการทุจริตคอรัปชั่น63.9
2การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อาทิ ตำรวจจอดรถในที่จอดของผู้พิการ จอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าไฟแดง ผิดวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เมาแล้วขับ เป็นต้น8.3
3ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่8.3
4การทะเลาะขาดความสามัคคี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้าหน้าที่7.9
5พูดจาไม่สุภาพ พูดโกหก7.4
6ใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ใช้เส้นสายในการทำงาน7.1
7อื่น ๆ อาทิ ทำร้ายประชาชน รังแกประชาชน ข่มขู่ประชาชน ทำร้ายร่างกายผู้หญิงในสถานที่ราชการ เก็บค่าคุ้มครอง รีดไถประชาชน เป็นต้น5.1


ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประสบการณ์ในการพบเห็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบระหว่าง “การทำความดี” กับ “การทำความผิด”

ลำดับที่ประสบการณ์ในการพบเห็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบระหว่าง “การทำความดี” กับ “การทำความผิด”ค่าร้อยละ
1พบเห็นการทำความดีของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า41.6
2พบเห็นการทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า58.4


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการโฆษณาของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่ว่าถ้าจะให้ของรางวัลหรือเงินตอบแทนเป็นสินน้ำใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ ก็ให้ได้แต่ต้องไม่เกิน 3000 บาท

ลำดับที่ความคิดเห็นค่าร้อยละ
1เห็นด้วย เพราะ กฎหมายกำหนดห้ามรับสิ่งของมูลค่าเกินกว่านั้น การทำความดีไม่ต้องหวังผลตอบแทนมากมาย และเป็นจำนวนเงินที่พอรับได้ เป็นต้น33.3
2ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการเปิดช่องทางให้มีการทุจริตคอรัปชั่น เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป และขาดอุดมการณ์ ทำงานเพื่อหวังผลประโยชน์ เป็นต้น66.7


ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับทราบข่าว เกี่ยวกับ การที่รัฐบาลได้โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่น

ลำดับที่การรับทราบข่าว เกี่ยวกับ การที่รัฐบาลได้โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ
ที่กำลังเปิดโปงขบวนการทุจริต คอรัปชั่น
ค่าร้อยละ
1ทราบข่าว53.4
2ไม่ทราบข่าว46.6


ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กระทรวงที่เจ้าหน้าที่รัฐ/ข้าราชการที่ควรต้องออกมารวมตัวกันแสดงพลังเป็นตัวอย่างความซื่อสัตย์สุจริตให้กับเด็กและเยาวชน (ระบุคำตอบเป็นชื่อกระทรวงหรือหน่วยงานราชการ และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่กระทรวงที่ เด็กและเยาวชนอยากให้รวมพลังกันเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ด้านความซื่อสัตย์สุจริตค่าร้อยละ
1กระทรวงยุติธรรม28.6
2กระทรวงการคลัง26.9
3กระทรวงศึกษาธิการ25.6
4กระทรวงกลาโหม21.9
5กระทรวงมหาดไทย19.3
6กระทรวงคมนาคม9.1
7กระทรวงพาณิชย์6.1
8กระทรวงพลังงาน4.3
9กระทรวงเกษตรและสหกรณ์3.3
10กระทรวงวัฒนธรรม3.3


ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

ลำดับที่ความคิดเห็นค่าร้อยละ
1คิดว่าสังคมไทยปัจจุบัน เป็นแบบ “คนดีไม่มีที่ยืน”80.1
2คิดว่าสังคมไทยปัจจุบัน เป็นแบบ “คนดีมีที่ยืน”19.9


ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อความเป็นจริงของสังคมไทยกรณีข้าราชการที่ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และข้าราชการที่ยอมรับการทุจริตคอรัปชั่น

ลำดับที่ความคิดเห็นต่อความเป็นจริงของสังคมไทยกรณีการทุจริตคอรัปชั่น
ของข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ
ค่าร้อยละ
1ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ยอมรับผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตคอรัปชั่น
กลับได้ดีมีตำแหน่งสูงขึ้นและได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทน
59.4
2ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น
ถูกทอดทิ้ง ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดให้ความคุ้มครองอย่างจริงจังต่อเนื่อง
40.6


ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความชอบต่อคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” และคำว่า “ข้าราชการ”

ลำดับที่ความชอบต่อคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” และคำว่า “ข้าราชการ”ค่าร้อยละ
1ชอบคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” มากกว่า เพราะทำงานรับใช้ประชาชนที่จ่ายภาษีอากร ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล และต้องมีอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติและประชาชน23.2
2ชอบคำว่า “ข้าราชการ” มากกว่า เพราะจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี มีอุดมการณ์ มีคุณธรรม จริยธรรม และต้องเจริญชีวิตเป็นคนดีตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน เป็นต้น76.8

กำลังโหลดความคิดเห็น