การโยกย้ายนายณัฐวุฒิ ฬสยเกื้อ จากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ให้ไปนั่ง รมช.พาณิชย์ นอกจากคนในสังคมจะไม่เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับเป็นความจำเป็นทางการเมืองที่บีบให้ต้องมีการปรับ ครม.ปูขาเก 3 เพื่อความอยู่รอดยืนยาวของการกุมบังเหียนอำนาจรัฐไปได้เรื่อยๆ นั่นแล้ว การสะบัดก้นไปจากกระทรวงเกษตรฯ ของอำมาตย์เต้นยังได้ทิ้งขี้กองเบ้อเริ่มเทิ่มไว้ให้ประเทศชาติและประชาชนดูต่างหน้าอีกต่างหาก
แม้คนในรัฐบาลจะชักแถวออกมาพ่นพูดจนน้ำลายกระจายฟุ้งว่า ไม่ใช่ต้องการหนีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่มะงุมมะงาหรามานาน แต่เป็นไปเพื่อความเหมาะสมให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า แต่ที่จริงแล้วฝ่ายกุมอำนาจรัฐต้องการปกปิดบาดแผลเหวอะหวะที่มีอยู่รอบตัว ไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามยื่นมือไปฉีกขยี้บีบบี้ซ้ำเติมให้ต้องเจ็บปวดแผลเพิ่มได้ถนัดถนี่
กรณีขี้กองโตที่นายณัฐวุฒิทิ้งไว้ที่กระทรวงเกษตรฯ ก็คือ โครงการแทรกแซงราคายางพารา ซึ่งเวลานี้เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสาธารณชนแล้วว่า เป็นอีกหนึ่งโครงการของรัฐบาลปูขาเกที่ไร้ประสิทธิภาพ มากมายไปด้วยความล้มเหลว และหากสาวลึกลงไปก็จะพบความไม่ชอบมาพากลหลายพะเรอเกวียน
จะว่าไปแล้ว “โครงการแทรกแซงราคายาง” มันก็อีหรอบเดียวกันกับ “โครงการรับจำนำข้าว” นั่นแหละ!!
โครงการแทรกแซงราคายางครั้งใหม่เกิดขึ้น ในขณะที่แกนนำแดงเผาบ้านเมืองอย่างนายณัฐวุฒิเพิ่งได้รับการปูนบำเหน็จให้แปลงร่างเป็นอำมาตย์ใหม่หมาดๆ ชนิดที่กลิ่นสาบความเป็นไพร่ยังไม่ทันจางหาย โดยนักโทษหนีคุกไปบงการรัฐบาลไทยอยู่ต่างประเทศทักษิณ ชินวัตร ได้ผลักดันให้นั่งเป็น รมช.เกษตรฯ ในวันที่ 18 มกราคม 2555 จากนั้นวันที่ 25 มกราคม 2555 ครม.ปูขาเก 2 ก็มีมติให้เริ่มโครงการแทรกแซงราคายางระยะที่ 1 ภายใต้การกำกับดูแลของอำมาตย์เต้น
ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลทำการแทรกแซงราคายางก็มากมายไปด้วยปัญหาสารพัน มีการแฉว่าเกิดการทุจริตอย่างเป็นขบวนการ มีการตีแผ่เล่ห์กลการทำมาหากินในขั้นตอนต่างๆ ของนายทุนบางกลุ่มที่ร่วมมือกับนักการเมืองบางก๊วน ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับโครงการรับจำนำข้าวที่สุดแสนจะอื้อฉาวของรัฐบาลนั่นแหละ
ถึงขั้นใช้คำว่า โกงกันตะบี้ตะบันได้ตั้งแต่ต้นน้ำเรื่อยไปถึงกลางน้ำ แล้วยังต่อเนื่องไปยันปลายน้ำ!!
ที่ผ่านมา หน่วยงานของภาครัฐเองก็มีการตรวจสอบและสามารถหาคนผิดได้แล้วด้วย แม้จะยังเป็นรายเล็กรายน้อยแบบไม่มีการสาวไปถึงตัวการ แต่นั่นก็เป็นเครื่องยืนยันว่ามีการโกงเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของการเช่าโกดังเก็บยาง การแปรรูปยางแผ่นดิบ การสวมสิทธิ์ยางส่งออก สับเปลี่ยนเอายางคุณภาพต่ำไปแทนยางคุณภาพสูงที่รัฐแทรกแซงไว้ บางแห่งถึงขั้นลักยางของรัฐไปขายแบบไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ
โครงการในระยะที่ 1 รัฐบาลอนุมัติวงเงินให้ไว้ 15,000 ล้านบาท โดยมีเป้าอยู่ที่ต้องแทรกแซงให้ได้ 1.3 แสนตัน ว่ากันว่าเวลานี้แทรกแซงไปได้เพียงประมาณ 7.1 หมื่นตัน ยังเหลือที่ต้องเร่งแทรกแซงอีก 5.9 หมื่นตันที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่สามารถจะหาโกดังเก็บยางที่จะไปแทรกแซงเพิ่มได้อีกแล้ว แถม ณ จุดแทรกแซงบางแห่งยังต้องใช้วิธีกองตากแดดลมฝนไว้อย่างนั้น
ไม่เพียงเท่านั้น อุปสรรคใหญ่อีกประการเป็นผลจากบริษัททิพยประกันภัย ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ถูกการเมืองบีบให้เข้าร่วมโครงการ ได้กระจายความเสี่ยงด้วยการขายกรมธรรม์ต่อไปให้บริษัทต่างชาติ เป็นผลให้เกิดมาตรการควบคุมและกลั่นกรองโกดังเก็บยางจากโครงการแทรกแซงอย่างเข้มข้นขึ้น ด้วยข้ออ้างที่ว่าต้องเป็นที่รับรองของบริษัทประกันในต่างประเทศที่ร่วมรับภาระความเสี่ยงด้วย
จึงไม่แปลกที่ตลอดระยะเวลาดำเนินแทรกแซงราคายางของรัฐบาลปูขาเก อันเป็นไปภายใต้การกำกับดูแลของนายณัฐวุฒิจะมีเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บยางในโครงการอยู่บ่อยๆ อย่างที่เกิดกับ หจก.มิตรไทยนครที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช หรือบริษัทไทยฮั้วยางพาราที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เกิดความเสียหายแห่งละประมาณ 300 ล้านบาท ล่าสุดแม้ไม่ใช่เหตุการณ์ไฟไหม้ แต่โกดังเก็บยางที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีการตรวจพบความเสียหายเพิ่มอีกราว 300 ล้านบาท เหล่านี้เป็นต้น
นอกจากนี้ การแทรกแซงราคายางยังนำไปสู่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศบ่อยครั้ง มีม็อบปิดถนนสายสำคัญๆ และถึงขั้นยกขบวนไปปิดทำเนียบรัฐบาลก็มี ขณะที่อำมาตย์เต้นเองเวลาไปเจรจากับกลุ่มพี่น้องชาวสวนยางยังถึงกลับใช้วิธีพูดผ่านรั้วเหล็กที่มีการเอาโซ่พันพร้อมล็อกกุญแจอย่างแน่นหนา
แม้นายณัฐวุฒิจะพยายามโอ่ตลอดเวลาว่า โครงการที่ตนดำเนินการได้ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนขายยางได้ราคาดีขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริงการแทรกแซงแทบไม่ส่งผลอะไรเลยต่อชาวสวยยางเลย เคยขายให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่นได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เฉลี่ยแล้วราคาอยู่ในระดับ 70-75 บาท/กก. จะมีบางช่วงเท่านั้นที่เคยขึ้นไปที่ประมาณ 80-88 บาท/กก. แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น เพราะเป็นช่วงฝนชุกและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ราคาที่ชาวสวนขายยางได้ไม่เคยทะยานขึ้นไปแตะ 120 บาท/กก. ตามที่รัฐบาลประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งจาก รมช.เกษตรฯ ไปนั่ง รมช.พาณิชย์ นายณัฐวุฒิก็เพิ่งผลักดันให้ ครม.ปูขาเก 2 ผ่านโครงการแทรกแซงราคายางระยะที่ 2 ที่ต้องใช้วงเงินเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นล้านบาทได้อย่างประสบผล ทั้งๆ ที่โครงการระยะที่ 1 ก็ยังมากมายไปด้วยสารพันปัญหา
แถมเวลานี้ก็ย่างเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นฤดูกาลที่จะมีผลผลิตยางออกสู่ตลาดอีกมหาศาล ปัญหาใหญ่ในเวลานี้อยู่ที่การหาโกดังเก็บยางที่รัฐจะแทรกแซงเพิ่ม ขณะที่จะเร่งระบายยางออกไปยังตลาดต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจีนที่เป็นตลาดหลักกำลังเผชิญอุปสรรคให้ต้องลดการผลิตรถยนต์ ส่วนตลาดอเมริกาและยุโรปแทบไม่ต้องพูดถึง เวลานี้ไอเอ็มเอฟก็เตือนว่าอาจจะมีวิกฤตระลอก 2 ตามมาอีก
ดังนั้น โครงการนี้จะเดินหน้าไปอย่างไร คงต้องติดตามกันด้วยใจระทึกต่อไป แต่ที่แน่ๆ ความระทึกไม่น่าจะยิ่งหย่อนไปกว่าโครงการรับจำนำข้าวสักเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันไทยเรามีพื้นที่ปลูกยางกระจายอยู่ใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ภาคใต้ ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง หรือคิดเป็นพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศแล้ว
ผมเชื่อว่าการที่อำมาตย์เต้นหนีจากกระทรวงเกษตรฯ ไปอยู่กระทรวงพาณิชย์ ใช่ว่าจะหลีกหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพลพรรคประชาธิปัตย์ไปได้พ้น เพราะความล้มเหลวและผิดพลาดของโครงการแทรกแซงราคายางมีอยู่ชัดแจ้ง ไม่ต่างจากโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นเป้าหลัก แถมยังตีกระทบไปถึงผู้นำรัฐบาลปูขาเกที่ชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนที่นั่งหัวโต๊ะ ครม.ให้มีการอนุมัติทำโครงการได้แบบไม่ยากเย็นเลยด้วย