xs
xsm
sm
md
lg

“1 ล้านคน สำคัญไฉน!!!?”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คำประกาศของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ องค์การพิทักษ์สยาม ที่ได้ประกาศว่าจะจัดชุมนุมในครั้งต่อไปในอีกไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้า ด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มจำนวนด้วยการมอบภารกิจให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม 1 คนไปชวนคนมาร่วมชุมนุมอีก 100 คน ในการชุมนุมครั้งถัดไป ซึ่งมีเป้าหมายให้ได้จำนวนผู้ชุมนุม 1 ล้านคน

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นว่าไม่ต้องการนักการเมืองในระบบนี้ และต้องการหยุดประเทศไว้ประมาณ 5 ปี เพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด

แม้เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าเปลี่ยนขั้วอำนาจของนักการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าการวางแผนบันได 2 ขั้น คือ 1. ขับไล่รัฐบาล 2. ตั้งผู้บริหารประเทศใหม่นั้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร?

โดยเฉพาะคนที่ขึ้นขบวนโดยสารในการโค่นล้มรัฐบาลนั้นมีหลายกลุ่ม บ้างก็หวังเพียงการเปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐบาล บ้างก็หวังโค่นอำนาจหวังให้เกิดรัฐประหารแล้วเพียงเข้าสู่อำนาจเป็นเผด็จการโดยไม่ต้องมีการปฏิรูป ถึงเวลานั้นก็จะไม่มีความชัดเจนได้ว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่การปฏิรูปได้จริงหรือไม่? นอกเสียจากว่ามีการวางแผนได้อย่างดีแล้วที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการ “ตีกิน”

ยังไม่นับคำถามสำคัญถัดมาว่าในขณะนี้ “วิธีการ” ที่จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลทำได้จริงหรือไม่?

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ได้ประกาศเป้าหมายของตัวเลขผู้ชุมนุมให้เพิ่มจำนวนเป็น 1 ล้านคน โดยได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ตอบคำถามคุณเติมศักดิ์ จารุปราณ ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ว่า ถ้ามาไม่ถึง 1 ล้านคนก็จะเลิก

เมื่อถามต่อว่าคนมา 2 แสน จะทำอย่างไร พล.อ.บุญเลิศ กล่าวว่า...

ถ้ามา 2 แสนคน ก็แสดงว่าไม่ถึง 1 ล้านคน ก็จะเลิกเช่นเดียวกัน!!!?

เห็นคำตอบเช่นนี้แล้วได้แต่ประหลาดใจว่าเหตุใดจึงตั้งเป้าหมายเป็น “เป้าหมายจำนวนตัวเลข” มากกว่า “เป้าหมายในผลลัพธ์!?”

เพราะตัวเลขต่อให้บรรลุ “เป้าหมายจำนวนตัวเลข” ผู้ชุมนุมเกิน 1 ล้านคน หากเป้าหมายของผลลัพธ์ไม่มีความชัดเจน ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

และในทางตรงกันข้ามตัวเลข ถ้ายึดเอา “เป้าหมายผลลัพธ์” เป็นตัวตั้ง ต่อให้ผู้ชุมนุมน้อยกว่า 1 ล้านคน เช่น 2-5 แสนคน ก็จะสามารถบริหารจัดการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบรรลุเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญได้

ได้แต่หวังว่าตัวเลข 1 ล้านคน จะไม่ใช่การเดิมพันเหมือนการพนันแบบแทงม้า!!!

ได้แต่หวังว่า 1 ล้านคน เป็นตัวเลขเพื่อกลยุทธ์เรียกแขกกระตุ้นให้มีคนเข้าร่วมชุมนุมกันมากๆ เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงคนที่เข้าร่วมชุมนุม 2 - 3 แสนคน ก็อาจจะประเมินใช้สำหรับการอ้างอิงเพื่อเข้าข้างตัวเองว่าถึง 1 ล้านคนก็ได้ เพราะในความเป็นจริงก็ยากเหมือนกันที่จะนับได้จริงด้วยสายตา

ในทางตรงกันข้าม ก็หวังเช่นเดียวกันว่าตัวเลข 1 ล้านคน จะไม่ใช่ข้ออ้างในการ “หาบันไดลง” ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ในการชุมนุมครั้งหน้า

คำถามที่ตามมาก็คือสมมติให้ประชาชนได้ล่ารายชื่อแล้วมีคนเข้าร่วมชุมนุม 1 ล้านคน และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปมอบรายชื่อ 1 ล้านคนไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลลาออก แล้วจะได้ผลจริงหรือไม่?

โดยเฉพาะวิวัฒนาการในการรับมือกับมวลชนในรอบหลายปีที่ผ่านมาของฝ่ายการเมืองทุกกลุ่มได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกว่าเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว

เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงก็เคยล่ารายชื่อในการถวายฎีกาโดยอ้างว่ามีจำนวนกว่า 4 ล้านรายชื่อมาแล้ว หมายความว่าหากคิดว่าการล่ารายชื่อขององค์การพิทักษ์สยามทำได้ 1 ล้านรายชื่อ ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบหากรัฐบาลระดมชื่อสนับสนุนรัฐบาลต่อไปในจำนวนที่มากกว่า ไม่ว่ารายชื่อนั้นจะนำไปสู่การกดดันรัฐบาลหรือการถวายฎีกาก็ตาม

หรือถ้าสมมติมีคนคิดจะสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย ก็ดูเอาตัวอย่างการเผาบ้านเมืองและใช้อาวุธสงคราม ก็ให้ดูตัวอย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี พ.ศ. 2553 ก็ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้

และทุกรัฐบาลต่างเรียนรู้ มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่จะสามารถพัฒนาการในการรับมือกับมวลชนที่ต่อต้านตัวเองได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ต้องตระหนักว่า การชุมนุมในการเอาชนะรัฐบาลตามข้อเรียกร้องของประชาชนอาจทำได้ด้วยมีประชาชนบางกลุ่มตื่นรู้มากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ แต่ความคิดในการปฏิวัติประชาชาติอาจต้องมีเงื่อนไขสุกงอมที่ประชาชนจำนวนมากรู้สึกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง จึงจะมีโอกาสที่จะทำสำเร็จได้

ข้อสำคัญที่สุดการปฏิวัติประชาชาติ ไม่สามารถทำได้โดยประชาชนแต่เพียงลำพัง หากอำนาจรัฐนั้นมีความอำมหิตโหดเหี้ยม ย่อมสามารถใช้การปราบปรามด้วยอาวุธ จึงอาจต้องมีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากกองทัพ ไม่ใช่มีแต่ทหารผู้เกษียณอายุ หรือกองกำลังภาคประชาชนที่มีกำลังเพียงแค่สร้างสถานการณ์หรือป้องกันตัวเองเท่านั้นไม่มากพอที่จะปฏิวัติประชาชาติได้

ไม่เช่นนั้นหากเกิดเหตุที่มีสถานการณ์ควบคุมได้ จุดจบก็จะไม่ต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี พ.ศ. 2552-2553 ที่จะต้องจบลงด้วยการสูญเสีย หรือการจับกุมและดำเนินคดีในข้อหากบฏ ผู้ก่อการร้าย ฯลฯ

หรือมากไปกว่านั้นหากสถานการณ์เลวร้ายที่มีคนเสื้องแดงปะทะกับ มวลชนขององค์การพิทักษ์สยาม (ซึ่งอาจเกิดจากการควบคุมมวลชนไม่อยู่ หรือการออกแบบเพื่อกดดันให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร) ก็จะยังคงมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่รัฐตำรวจจะยืนอยู่ข้างคนเสื้อแดง หรือหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายไปกว่านั้น หากทหารทำการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะไม่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยอ้างเหตุผลว่าเข้ามาเพื่อหยุดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือหยุดคนไทยทะเลาะกันเอง กวาดล้างคนทุกกลุ่มแล้วเข้าสู่อำนาจเป็นเผด็จการทหารที่ไม่มีความสนใจในการปฏิรูปประเทศ

และข้อสำคัญการสู้ด้วยการเอาจำนวนเป็นตัวตั้ง นอกจากจะเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลอ้างเสียงของประชาชน 15 ล้านเสียงแล้ว ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลยังมีเครื่องมือในสถานการณ์ใกล้จนมุม ด้วยการ “ยุบสภา” แล้วให้ประชาชนตัดสินหย่อนบัตรลงคะแนนอีกด้วย คำถามก็คือการต่อสู้ของภาคประชาชนในวันนั้นจะเดินต่ออย่างไร? ถ้าประชาชนเลือกให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีก?

หรือการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ก็ไม่ได้เกิดสุญญากาศอยู่ดี เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเพื่อไทย หรือสมมติเกิดงูเห่าโยกมาให้รัฐบาลประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล ประเทศชาติก็ไม่ได้เกิดการปฏิรูปได้จริงอยู่ดี

การตื่นรู้ของประชาชนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคำใหญ่อย่าง “การปฏิวัติประชาชาติ” และการตื่นรู้ของประชาชนจำนวนมากส่วนใหญ่ไม่ได้มาเพียงแค่ข้อมูลที่มีผู้อภิปรายบนเวที แต่ต้องมีความเห็นพ้องต้องกันถึงความเดือดร้อนที่ประชาชนรู้สึกได้ด้วยตัวเองด้วย จึงจะเกิดเป็น “ต้นทุน” ในการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังได้จริง ด้วยเหตุผลนี้จังหวะและเวลาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและไม่สามารถมองข้ามได้เลย

ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ต้องการบั่นทองกำลังใจ ในทางตรงกันข้ามก็ยังขอให้กำลังใจ เพียงแต่ต้องการพิจารณาให้ครบรอบด้านเพราะเดิมพัน 1 ล้านคน ความสำคัญคงไม่ใช่คนที่ชื่อ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือภาคีเครือข่ายองค์การพิทักษ์สยาม แต่ความสำคัญอยู่ที่ประชาชน 1 ล้านคนที่จะเคลื่อนไหวและมีโอกาสจะต้องเสียสละอย่างใหญ่หลวงแม้เลือดเนื้อหรือชีวิต ได้รับผลตอบแทนเป็นการปฏิรูปประเทศไทยจริงๆ หรือไม่?

1 ล้านคน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และภาคีเครือข่ายองค์การพิทักษ์สยาม ไม่จำเป็นต้องตอบกับสื่อมวลชน หรือในทางสาธารณะว่าจะทำอะไร แต่อย่างน้อยต้องมั่นใจวางแผนและวิธีการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงด้วย เพราะมีประชาชนจำนวนมากคงพร้อมจะเสียสละแม้เลือดเนื้อและชีวิตหากมีการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติได้จริง และมีประชาชนอีกจำนวนมากคงไม่ต้องการจะเสียสละเพื่อให้นักการเมือง หรือขั้วอำนาจใดมาตีกินเข้าสู่อำนาจแล้วย่ำความล้มเหลวทางการเมืองอยู่ที่เดิมเหมือนกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

ส่วนแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะมีมติยังไม่พร้อมเข้าร่วม แต่ก็ยังคงให้กำลังใจอยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น