xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บีบ"เสี่ย”ให้จนตรอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แม้ผู้บริหารช่อง 3 ประกาศว่า จะไม่ถอด “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ออกจากหน้าจอรายการประเภทเล่าข่าวของคนอื่น

แต่ไม่มีใครเชื่อว่า ไอ้ยุทธ ที่คนทั่วไปเรียกกัน จะรอดพ้นจากการต้องถอนตัว

ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะดำน้ำได้นานกว่ากัน

ข้อเท็จจริงทางทีวีก็คือ ช่อง 3 ยึดตลาดเป้าหมายในกลุ่ม C+ ขึ้นไป นั่นคือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำค่อนข้างสูง เช่น ชาวนามีเงิน กรรมกรที่มีรายได้ปานกลาง

โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนในเมืองทุกประเภท

แต่ช่อง 3 ไม่สามารถเจาะลูกค้าประเภทแม่บ้านตามต่างจังหวัดได้ เพราะนั่นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริงของช่อง 7 ทั้งหมด

ช่อง 3 พยายามสร้าง “ครอบครัวข่าว” เพื่อขยายฐานลงสู่ครอบครัวคนจนที่รับจ้างไปวันๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึง และก็ไม่คิดจะเข้าถึงด้วย
เพราะคนกลุ่มนี้กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ

คนในหมู่บ้าน ตำบล หรือครอบครัวชาวบ้านในชนบทจึงยังผูกติดเหนียวแน่นกับช่อง 7

นั่นจึงไม่แปลกที่ละครช่อง 7 จึงเน้นแบบพระเอกลูกทุ่ง ยากจน แต่เก่งการต่อสู้ รักความเป็นธรรม สามารถปกป้องนางเอกและเพื่อนได้ หรือนางเอกยากจนข้นแค้น แต่เป็นคนเก่ง และดี แล้วมาเจอพระเอกรูปหล่อ ร่ำรวย มีการศึกษาดี

แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะมาเจอกัน ก็ต้องผ่านมรสุมจากนางร้าย จากพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะฝ่ายที่มีฐานะร่ำรวยกว่า

เป็นพล็อตเรื่องเดิมๆแบบ ดาวพระศุกร์ อะไรทำนองนั้น

หรืออาจจะเป็นแบบบู๊ล้างผลาญ มีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เวทมนต์คาถาย้อนยุค และเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะตำรวจ นักเลง ผู้มีอิทธิพล

แม้กระทั่งข่าวของช่อง 7 ก็จะโฟกัสที่ข่าวอาชญากรรมเป็นหลัก เพราะชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆชอบ ทำให้ “ประเด็นเด็ดเจ็ดสี” จึงมุ่งแต่หาข่าวยาบ้าอย่างเดียว (จนลงทุนไปสะกดรอยตามจับยาบ้ากับตำรวจด้วย)

จนบางครั้งช่อง 7 ไม่สนใจภาพพจน์นักแสดงในสังกัดมากนัก ยกเว้นเรื่องที่ร้ายแรงจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด

ต่างกับช่อง 3 หากินกับคนมีเงินพอเลี้ยงตัวเองได้ (ซีบวก) ตลอดจนคนที่มีฐานะการเงินดี รวมทั้งมีการศึกษาพอสมควร (เอบวก)

ภาพพจน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนเหล่านี้รังเกียจ “ความชั่ว” เหมือนที่ครั้งหนึ่งช่อง 3 เคย ออกโฆษณา

“ไม่ปล่อยให้คนชั่วลอยนวล”

แล้วช่อง 3 จะปล่อยให้ “สรยุทธ” โผล่หน้าจอทีวีไปเรื่อยๆหรือ ?!!

แน่นอนว่า สรยุทธทำเงินให้ช่อง 3 และตัวเองจำนวนมาก แต่หากไม่มีสรยุทธ ช่อง 3ก็สามารถสร้าง “คนเล่าข่าว” ขึ้นมาใหม่ได้

โดยจะต้องไม่สร้างความเกลียดชังให้กับ “กลุ่มตลาดเป้าหมาย”

ดังนั้น หากจะคิดเรื่องนี้ดังๆ ต้องให้คนอื่นคิดแทน

แม้ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) หรือช่อง 3 บอกว่า “ไม่มีแผนที่จะถอดนายสรยุทธ์ ผู้ดำเนินรายการข่าวของช่อง 3 ออกจากการจัดรายการ แม้ว่าจะมีกระแสสังคมระบุว่าขาดความเหมาะสมหลังคดีไร่ส้มถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้ว่ามีความผิด เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว“

“เรายังไม่ได้รับแจ้งว่าสปอนเซอร์จะถอนโฆษณาออกจากรายการที่นายสรยุทธ์เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ รายได้จากค่าโฆษณาของรายการข่าวที่นายสรยุทธเป็นผู้ดำเนินรายการ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ค่าโฆษณารายการข่าวทั้งหมด”

แต่นั่นคือ หน้าฉาก

คงไม่ผู้บริหารหน้าโง่คนไหน ประกาศปลดผู้ดำเนินรายการทางสื่อมวลชน

ข้อเท็จจริงทางด้านรายได้ของช่อง 3 บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า “ละคร” ยังเป็น “ห่านทองคำ” ของช่อง 3

รองลงมาก็คือ รายการเกมโชว์ และรายการข่าว

โดยไม่ผูกติดกับรายการหนึ่งรายการใด เพื่อลดอำนาจการต่อรอง เหมือนกับที่เกมโชว์ชิงร้อยชิงล้าน สร้างฐานอำนาจกับช่อง 7 จนถึงขั้นต้อง “แตกหัก” กัน

โดยกลุ่มตลาดเป้าหมายก็ยังเป็น กลุ่มเดียวกัน !!

บริษัทคาดการณ์ว่า ผลประกอบการในปี 55 จะกำไรสุทธิจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.53 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ในปีนี้เติบโตราว 15% เป็นผลจากการปรับขึ้นค่าโฆษณาตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ต.ค.55 และภาครัฐลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีนี้ลดลงเหลือ 23% จากปีก่อนอยู่ 30%

“แนวโน้มในปี 56 คาดว่ารายได้น่าจะไม่ต่ำกว่าปีนี้ โดยมองว่าจะเติบโตมากกว่า 15% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และบริษัทรายใหญ่ที่ซื้อโฆษณากับช่อง 3 จะมีมากขึ้น คาดว่าจะมีจำนวน 30-40 บริษัท จากปีนี้ที่มีจำนวนกว่า 20 บริษัท ซึ่งบริษัทเองพยายามหาทางขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และทำรายการให้หลากหลายมากขึ้นด้วย” ฉัตรชัย คนคุมการเงินของช่อง 3 คาดการณ์ไว้

กลยุทธ์การสร้างรายได้ของช่องก็คือ การสร้างรายได้ให้หลากหลาย โดยไม่ผูกติดกับรายการหนึ่งรายการใด เพื่อลดความเสี่ยงจาก “ความขัดแย้ง” ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

จนทำให้รายการดังกล่าวต้องถอนตัวไป

แม้กระทั่งรายการข่าวของบริษัทไร่ส้ม หากต้องถูกปลดออกไป ก็สามารถจัดหารูปแบบรายการข่าวแบบไม่ต้องลงทุน แต่มีสีสันมากกว่านี้ได้ไม่ยาก

แต่ช่อง 3 ต้องเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร ต่าจจะคุ้มค่ากับ “ความสูญเสีย” ที่จะเกิดขึ้นกับรายการอื่นๆที่สังคมลงโทษ

การเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น อาจจะดูไม่มีน้ำหนักในธุรกิจ แต่ในทางสังคมแล้ว กลับมีผลมากพอสมควร

“ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น (ภตค.) บอกกับสื่อว่า หลังจากที่ภาคีฯ ส่งหนังสือถึงสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อให้มีการจัดการและแสดงจุดยืนในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการของสถานีนั้น ขณะนี้ภาคีฯ กำลังรอเวลาที่ช่อง 3 จะแสดงท่าทีในการจัดการเรื่องอย่างไรก่อน หากไม่มีการแสดงท่าทีภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทางภาคีฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจและเป็นผู้สนับสนุนรายการ ไปพิจารณาแนวทางของแต่ละบริษัทว่าจะมีมาตรการอย่างไรกับกรณีดังกล่าวเพื่อความเหมาะสม

“เบื้องต้นอาจจะเป็นเรื่องของการชะลอการสนับสนุนรายการในส่วนที่มีการเจรจาที่จะลงโฆษณา เพราะในส่วนที่ได้มีการตกลงโฆษณาไปแล้วที่มีข้อผูกพันนั้น คงไม่สามารถไปยกเลิกได้ โดยบริษัทที่อยู่ในส่วนภาคีฯ นั้น มีบริษัทใหญ่ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ, บริษัท โตชิบา จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น” ประมนต์ บอกบทลงโทษทีไม่ใช่ยักษ์ไม่มีกระบอง

“เราต้องการให้มีการแสดงท่าทีในด้านของจิตสำนึกของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ไม่ได้เป็นมติของภาคีฯอย่างเดียว แต่เป็นภาคสังคมส่วนอื่นที่เห็นด้วย ทั้งจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผู้ทำหน้าที่สื่อมีความประพฤติที่ถูกตัดสินว่ามิชอบยังทำหน้าที่อยู่ อาจจะกระทบในเรื่องความโปร่งใสในการทำหน้าที่ ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นต้องลงโทษอะไรหนัก ใช้เป็นการพักงานชั่วคราวออกไปก่อน เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อข้อสงสัยถึงความโปร่งใส” ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าผู้บริหารภาคเอกชน 40 องค์กรที่เป็นสมาชิกภาคีฯ ได้มีการหารือกัน และเห็นควรที่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่าภาคีฯ เอาจริงกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และได้มีการรวบรวมข้อมูลการซื้อโฆษณาในรายการของนายสรยุทธ โดยมีเอกชนขนาดใหญ่ 4 ราย ตัดสินใจยกเลิกการซื้อเวลาโฆษณาในรายการของนายสรยุทธตั้งแต่เดือน ม.ค.2556 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน สมาชิกที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งตระหนักในเรื่องธรรมาภิบาล ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ได้แสดงเจตนารมณ์การต่อต้านปัญหาทุจริต โดยจะใช้มาตรการทางสังคม (โซเชียลแซงก์ชั่น) เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมด้วย

ก่อนหน้านี้ ภาคีฯได้ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน และได้รับรางวัลช่อสะอาดประจำปี 2555 จาก ป.ป.ช. ซึ่งจำเป็นต้องแสดงความชัดเจนถึงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจ กรณีของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทำการทุจริตเป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย

หนังสือมีเนื้อหาว่า ตามที่สังคมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในกรณีของบริษัท ไร่ส้มฯ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทำการทุจริตเป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นมีความเห็นว่า บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง และได้รับรางวัลช่อสะอาดประจำปี 2555 จาก ป.ป.ช. มีความจำเป็นที่ต้องแสดงความชัดเจนถึงจุดยืนในการดำเนินธุรกิจต่อกรณีข้างต้น

นอกจากนี้ ภาคีฯ ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ช่อง 3 ในฐานะองค์กรธุรกิจระดับชาติ จะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการต่อต้านคอรัปชั่น และสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรธุรกิจไทย

บีบกันทางอ้อม เพื่อให้เห็นว่า ตำรวจจะเป็นโจรไม่ได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น