xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

การเมืองไทยไม่เหมือนกับการเมืองประเทศใดๆ ในโลก บรรดาทูตานุทูตที่เคยมาประจำอยู่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือญี่ปุ่นต่างเอ่ยปากว่า เขาไม่เข้าใจการเมืองไทยสักเท่าใด

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเมืองไทยมีความละเอียดอ่อน แม้ว่าจะมีกฎกติกาแต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า แต่ที่พิเศษไปจากประเทศอื่นก็คือ การที่เรามีการเล่นการเมืองแบบตัวแทน ตัวจริงอยู่นอกประเทศคอยบงการนโยบายต่างๆ ให้ลูกน้องปฏิบัติ นับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สามารถดำเนินการอยู่ได้ แม้การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงทบวงกรม ผู้มีอำนาจนอกประเทศก็ต้องเป็นผู้เลือกหรือเห็นชอบด้วย แม้แต่เรื่องนโยบายจำนำข้าวที่กำลังเป็นปัญหา คนในรัฐบาลเองก็ต้องยอมรับว่าเป็นคำสั่งมาจากดูไบโดยตรง

ถ้าเช่นนั้นหลักของความรับผิดชอบจะเป็นอย่างไร ในเมื่อผู้บงการตัวจริงไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย สถานการณ์เช่นนี้จะเป็นไปอีกนานเท่าใดก็ไม่มีคนรู้ได้

ปัญหาของการเมืองไทยนั้น จะพูดให้ถึงที่สุดแล้วก็ต้องกล่าวว่าอยู่ที่พวกเราประชาชนนั่นเอง ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะมีคนหยิบยื่นให้ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากระบอบเก่ามาเป็นประชาธิปไตยนั้น ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรมและผลประโยชน์ที่มีอยู่ในสังคมก็ยังกระจัดกระจาย การเมืองเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก่อนก็คือกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะทหาร ต่อมาก็เป็นนักธุรกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ถูกระดมให้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีเจ้าของ มิได้เป็นพรรคมวลชนตามความหมายที่แท้จริง

สิ่งที่ระบอบรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นก็คือ การเพิ่มบทบัญญัติในการจำกัดอำนาจรัฐบาล และการมีองค์กรอิสระที่จะถ่วงดุลอำนาจ แม้กระนั้นฝ่ายบริหารก็ยังมีอำนาจมาก เพราะอาศัยนโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม

นโยบายประชานิยมทั้งหลาย แม้ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ แต่ผู้ออกนโยบายก็ได้ผลประโยชน์เช่นกัน โดยเพิ่มโอกาสและช่องทางที่ทำการคอร์รัปชันได้ โครงการต่างๆ มีมูลค่ามหาศาลเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินซื้อเสียงของประชาชน ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง การใช้งบประมาณเป็นไปในทุกระดับ รวมถึงระดับท้องถิ่นที่มีการใช้งบก่อสร้างมากมาย โดยทำโครงการที่ใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะการสร้างถนนในชนบทซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่น ทำอย่างเลวๆ เพื่อให้ได้ซ่อมกันบ่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครสนใจที่จะกำจัดคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เพราะได้รับผลประโยชน์ทั่วกันหมด คอร์รัปชันจึงระบาดไปทั่ว ถึงขนาดเวลานี้จะต้องจ่ายเงินก่อนที่งบประมาณจะตกมาถึง ดังที่เรียกกันว่า “ทอนเงิน” คือต้องเอาเงินไปจ่ายก่อน เมื่อเบิกเงินมาก็หักกลบกันไป

หากถามว่าการเมืองแบบนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานไหม คำตอบก็คือ นานมาก เพราะนับวันการดำเนินการหลายอย่าง ก็จะกลายเป็นกระบวนการที่มั่นคงยิ่งขึ้น ถามว่ามีหนทางใดที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องตอบว่า คงต้องรอคอยเวลาให้ประชาชนเกิดจิตสำนึก แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะทั่วทุกท้องถิ่นมีการเมืองแบบใช้เงินหยั่งรากลึก ขนาด อบจ. อบต. เลือกตั้งกันก็จ่ายหัวละ 1,000 บาท เพราะโอกาสที่จะได้ทุนคืนมีมาก

การเมืองเป็นเช่นนี้ก็เพราะวิวัฒนาการ ในสังคมตะวันตกวิวัฒนาการของการเมืองเป็นการที่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ คอยตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกันเอง ระบอบประชาธิปไตยเป็นกติกาที่ให้ทุกๆ ฝ่ายดำเนินการแข่งขันกันเอง แต่ของเราประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเพียงกติกา หากเป็นเครื่องมือที่ทำให้กลุ่มทุนบางกลุ่มสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ และในเมื่อประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จึงไม่มีทางหลีกเลี่ยง หรือจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่นไปได้

แต่การเมืองแบบตัวแทนนี้ ก็มีความแปรปรวนได้หากปราศจากผู้นำ หากไม่มีทักษิณโอกาสที่การเมืองจะเป็นแบบเดิมก็คงจะหมดไป เพราะทุกอย่างล้วนขึ้นกับตัวบุคคลเพียงคนเดียว แต่ที่จะอยู่ก็คือกลุ่มประชาชนที่ได้รับการปลุกขึ้นมาแล้ว และยังคงเป็นผู้กระหายที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมต่อไป รัฐบาลชุดใดก็ตามที่ขึ้นมาบริหารประเทศ ก็จะถูกกดดันโดยคนกลุ่มดังกล่าวนี้ จนในที่สุดเศรษฐกิจของประเทศก็จะย่อยยับไปเหมือนประเทศในละตินอเมริกา และในยุโรป

อาจกล่าวได้ว่านี่คือ “ค่าโสหุ้ย” ของประชาธิปไตยที่เราต้องเผชิญ โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงมีน้อย และหากจะมีก็ต้องการความเด็ดขาดของผู้นำที่มีบารมีพอที่จะปฏิเสธนโยบายประชานิยมได้ แต่โอกาสนี้ก็มีน้อยทำให้เรามีข้อสรุปว่า ความหวังที่จะมีระบอบประชาธิปไตยเหมือนสังคมที่เจริญแล้วมีริบหรี่เต็มทน
กำลังโหลดความคิดเห็น