xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

‘ดีเอสไอ’ปะทะ‘กทม.’ ปฏิบัติการถอดสูท‘คุณชาย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชน  มโนมัยพิบูลย์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ตั้งแต่เช้าวันที่10 ตุลาคม “ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (บอร์ด กคพ.) เดินทางไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

โดยเปลี่ยนจากที่เดิม คือห้องประชุม 302 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

เป็นการประชุมนัดแรกหลังจากคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเมื่อไม่กี่เดือนมานี้คงจำกันได้ เพราะว่าบอร์ดชุดใหม่มีกรรมการหลายคนที่ถูกครหาว่า ใกล้ชิดกับอำนาจขั้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประกอบไปด้วย

นายไกรสร บารมีอวยชัย ,นายชัยเกษม นิติสิริ ,นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ,นายประดิษฐ์ เอกมณี ,รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ,นายมหิดล จันทรางกูร ,นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ,พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว และนายอนุพร อรุณรัตน์

ใช้เวลา ประชุมกว่า 2 ชั่วโมง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ นัดแรก หลายประเด็นที่จะเข้าเป็นคดีพิเศษ

หนึ่งในนั้น ให้กรณี “การทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นคดีพิเศษ

นายธาริต ให้ความเห็นว่า เป็นคดีที่ได้รับความสนใจและคณะกรรมการหลายคนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวและมีข้อเแนะนำ โดยคณะกรรมการได้กำชับว่าให้ดีเอสไอทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างใกล้ชิด

จะมีการประชุมหารือแนวทางการดำเนินคดีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการทำงานและทำให้เกิดความรอบคอบ ในการดำเนินคดี

เขาย้ำว่า ดีเอสไอ จะยังไม่มีการกล่าวหาใครว่ากระทำผิด แต่ขอคณะกรรมการ กคพ.อนุมัติเป็นคดีพิเศษเพื่อสอบสวนและหาความจริง หาผู้กระทำความผิด หากสอบสวนไม่พบผิดก็ยุติ ถ้าพบก็ต้องดำเนินคดี

นายธาริต ยังตอบคำถามที่ว่า ได้ชี้แจงข้อกฎหมายหรืออำนาจการสอบสวนในกรณีดังกล่าวกับคณะกรรมการ กคพ.หรือไม่
โดยมีคำตอบว่า ได้ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการกล่าวโทษใคร มีการร้องเรียนเข้ามายังดีเอสไอ เป็นอำนาจการสืบสวนที่ดีเอสไอสามารถกระทำได้ก่อนนำเข้าสู่การประชุมคดีพิเศษ และหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะทำงานร่วมกับอัยการ

หลังมีข่าวนี้ออกมาไม่นาน ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่า กทม. โพตส์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงการแถลงข่าวของดีเอสไอ
ตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่สอดคล้องกับมติที่ประชุม?????”

เขาระบุว่า รายงานข้อมูลที่ประชุมกรรมการดีเอสไอแจ้งว่ามติที่ประชุม "ไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดี แต่ให้รับสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตามอำนาจอธิบดี หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ ของรัฐเกี่ยวข้องและเป็นอำนาจของหน่วยตรวจสอบอื่น(ปปช.) ก็ให้ส่งให้หน่วยตรวจสอบนั้น”
เขาตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้คณะกรรมการ (บอร์ด กคพ.) แต่ละท่านคงต้องตรวจสอบรายงานการประชุมให้รอบคอบก่อนรับรองเนื่องจากจะมีผลทางกฎหมายโดยตรงต่อท่านด้วย

คนกทม.ก็ยังสับสน DSIรับ"บีทีเอส"เป็นคดีพิเศษหรือไม่

ก่อนหน้านั้น นายธีรชน ยังโพตส์ว่า “ข้าราชการดีเอสไอ เหลืออด แฉเอกสารยัดไส้ข้อ 9 การประชุมครั้งก่อน กรณี ส.ส. เพื่อไทยยื่นเรื่องให้ตรวจสอบสัญญาจ้างบีทีเอสต่อ คณะกรรมการปปช. เมื่อ 15 พฤษภาคม 2555 ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

“ต่อสัญญา"บีทีเอส"ฉาว "เพื่อไทย"ยื่นปปช.ฟัน"ผู้ว่าฯกทม.-ธีระชน-ปธ.เคที" อ้าง5ปมขัดกม.”

เพื่อไทย ยื่น ปปช. แต่ไฉนมันไปโผล่ที่ดีเอสไอเฉย!!

หรือ อีกกรณี ที่มีการโพตส์ข้อความว่า เตรียมถอดถอนนายกฯและรัฐมนตรียุติธรรม กรณีรับคดี BTS ที่อยู่นอกอำนาจ

“หรือยิ่งลักษณ์ฯกับประชาฯจะลงเอยแบบยงยุทธฯด้วยน้ำมือธาริตฯ”

เขาระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายธาริตเคยออกมาแถลงด้วยตนเองเมื่อ 21 มีนาคม 2555 ว่า DSI ไม่มีอำนาจดำเนินการ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยกฤษฎีกาที่ 32/2550 กรณีเรื่องร้องเรียนคณะกรรมการคดีพิเศษปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“งานนี้พรรคประชาธิปัตย์เตรียมถอดถอนนายกฯและรัฐมนตรีว่าการการทรวงยุติธรรม พร้อมดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทุกรายโดยรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายสกลธีฯ ได้แถลงข่าวเตือนสติไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2555 เนื่องจากพรบ.กทม. 2528 มาตรา 9 ระบุชัดเจนว่าการบริหารราชการกรุงเทพมหานครประกอบด้วยสภาฯกทมและผู้ว่าฯกทม ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองและตกเป็นจำเลยที่ 1 ในทุกกรณีตั้งแต่ยุคผู้ว่าฯจำลองจนถึงปัจจุบัน กรณีนี้เป็นอำนาจของปปช. ที่สังคมไว้วางใจมากกว่า

รอดูยกต่อไปว่าจะเหมือนกรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หรือไม่?????

อีกโพตส์ “กทม.ยื่นฟ้องต่อปปช. กรณีนายธาริตปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นรายแรก”

มีการระบุว่า อุทาหรณ์เรื่องอำนาจตามกฎหมาย ได้ชี้ชัดกรณีนี้ขัดกฎหมายที่ระบุให้เป็นอำนาจปปช. ในทุกกรณีที่กล่าวหากทม ซึ่งกฎหมายระบุชัดว่า กทม.ประกอบด้วยสภากทมและผู้ว่าฯกทม ที่เป็นข้าราชการการเมือง พร้อมสามข้อหาหนัก

1. กระทำการอันควรพิจารณาว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย

2. ด่วนสรุปเรื่องราวทั้งที่ยังไม่มีข้อเท็จจริง และแถลงข่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะชี้นำความคิดของสาธารณชนให้เข้าใจผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในโครงการระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. จงใจและมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ยอมส่งเรื่องมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ นับแต่วันที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

งานนี้มีโอกาสไฟลามทุ่งถึงนายกในการประชุม กคพ.

ก่อนหน้านั้น นายธีรชนก็ระบุถึงปมบีทีเอส โต้ กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมเสนอเรื่อง การทำสัญญาจ้างเดินรถ BTS 30 ปี เข้าเป็นคคีพิเศษเพื่อสอบสวนเพราะพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่ามีการทุจริต และกระทำผิดกฎหมาย เพราะกทม. ไม่มีอำนาจไปทำสัญญา

ยืนยันว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถ BTS 30 ปี เกิดจากการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง สภากทม.ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากทั้งสองพรรคจึงสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ทั้งการออกข้อบัญญัติงบประมาณ ข้อบัญญัติเกี่ยวกับบริษัทที่กทม.ถือหุ้น ข้อบัญญัติเรื่องการกำหนดค่าโดยสาร และข้อบัญญัติด้านการพัสดุ ไม่ได้แอบทำกันเงียบๆแบบที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวหา เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552

แต่พอใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. บรรดา ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย กลับดูถูก ส.ส.ของพรรคตนเองด้วยการออกมาสาดโคลนใส่ผู้ว่าฯกทม. และสภากทม. ที่มีผู้แทนของพรรคตนเองอยู่ถึง 15 คนในอดีตและลดเหลือ 14 คนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครประกอบด้วยสภากทม.และผู้ว่าฯ กทม. ตามมาตรา 9 ซึ่งทั้งสองฝ่ายแบ่งหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและบริหารออกจากกัน โดยทุกคนได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง

กลับไปดูคำสัมภาษณ์ก่อนหน้า 1 วัน ที่จะมีมติให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ

วันที่ 9 ต.ค. นายธีระชน ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการคดีพิเศษ กทม.ก็ใช้อำนาจของตัวเอง ส่วนคณะกรรมการคดีพิเศษก็มีอำนาจของเขา ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ออกมาเตือนดีเอสไอแล้ว ดังนั้นหากมีการรับเรื่องนี้ ปชป.อาจดำเนินการถอดถอนทางใดทางหนึ่ง ขณะที่ กทม.ยืนยันอีกครั้งว่าทำตามอำนาจหน้าที่ทางหลักกฎหมาย ที่สำคัญได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องอำนาจในการตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีที่ไม่ตรงกัน

อย่างไรก็ตาม ขอให้ดีเอสไอ โดยเฉพาะคณะกรรม การคดีพิเศษชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใช้อำนาจให้รอบคอบและเป็นธรรมในการประชุม ด้วย

ดั่งที่นายธาริต พูดไว้ว่า เป็นอำนาจการสืบสวนที่ดีเอสไอสามารถกระทำได้ก่อนนำเข้าสู่การประชุมคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนจะทำงานร่วมกับอัยการ

อีกนาน! ยกเว้น จะเป็นไปแบบที่ นายธีรชน โพตส์ว่า “ข้าราชการดีเอสไอเหลืออด แฉเอกสารยัดไส้ข้อ 9 การประชุมครั้งก่อน”

คดีนี้ก็จะเร็ว ปรู๊ดปร๊าด!!

อีก 3 เดือน คุณชายสุขุมพันธ์ นั่งนับนิ้ว ทำงาน ทำงาน ทำงาน ท่องคาถาว่าจะขอลงสมัครผู้ว่า กทม.ในนามประชาธิปัตย์อีกสมัย
ขณะที่ฝากเพื่อไทย แรงที่สุดตอนนี้ เห็นจะเป็น “พี่จูดี้” พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คนปัจจุบัน หลายคนฟันธงว่านายใหญ่บังคับให้ลง คนเพื่อไทย เขตกทม. ว่าไง!


ธาริต  เพ็งดิษฐ์
กำลังโหลดความคิดเห็น