ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ยังคงเส้นคงวาในการรักษากำพืดพรรคอำมาตย์โหนเจ้ามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงนาทีนี้ ที่มีการขึ้นป้ายขนาดใหญ่ตามจุดสำคัญในกรุงเทพฯ “คนกรุงเทพฯ รักในหลวง ไม่เปลี่ยน” ซึ่งในภาพมีเหล่าศิลปิน ดารา นักร้องนักแสดง นักกีฬา และปรากฏโฉมหน้า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.รวมอยู่ด้วย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมที่มีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในช่วงใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จนมีข่าวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ปลื้มและสั่งปลดป้าย แต่ถึงวันนี้ก็ยังติดหราท้าทายอยู่เช่นเดิม
เรื่องที่เกิดขึ้น ถึงแม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ออกมาปฏิเสธว่า ป้ายดังกล่าวไม่ใช่ป้ายของกทม. แต่เป็นป้ายของกลุ่มจิตอาสาที่นำรูปของตนในฐานะพ่อเมืองกรุงเทพฯ ไปร่วมด้วยเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมในแคมเปญ “รักในหลวง” เท่านั้น แต่ในเวลาต่อมา คุณชายสุขุมพันธุ์ ก็ได้โพสต์ข้อความขึ้นเฟซบุ๊ก ออกรับหน้าอย่างแรงว่า “ป้ายนี้ทำขึ้นโดยคนที่รักในหลวง ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพียงมีข้อสังเกตว่า ถ้าคนที่รักในหลวง ไม่สามารถแสดงออกว่ารักในหลวง วันนั้นคือวันที่มารครองเมือง” จากนั้นทีท่าจากพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ก็นิ่งเฉย
ขณะที่ล่าสุดในเฟซบุ๊คของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า "ผมไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีข่าวว่าบางฝ่ายในพรรคฯต้องการเปลี่ยนตัวผู้สมัครผู้ว่าฯหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ นายอภิสิทธิ์ฯรู้ถึงกระแสความรู้สึกของคนในโลกออนไลน์ ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ฯ ก็ยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์ และถ้าคนติดป้ายรักในหลวงไม่ได้ก็แปลว่า มารครองเมือง
"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย เพราะยังไม่ได้มีการพิจารณากันในเรื่องนี้ ผมว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็โตๆ กันแล้วครับ พรรคประชาธิปัตย์ ก็อยู่มานานกว่า 60 ปีแล้ว จะเอากรณ์หรือจะเอาหม่อมฯลงผู้ว่ากทม. ก็ไปตกลงกันเองในพรรค ไม่ควรดึงเอาสถาบันฯมาเกี่ยวข้อง ส่วนจะปลดป้ายหรือไม่ปลดนั้น เป็นวิจารณญาณที่จะต้องไปพิจารณากันเอาเอง
"ส่วนเรื่องนี้ ควรต้องมีผู้แสดงสปิริตรับผิดชอบหรือไม่? ก็อยู่ที่สามัญสำนึกต่อสถาบันฯ ของพรรคประชาธิปัตย์เองครับ" นายโอ๊ค ที่ถือว่ายังอยู่ในวัยละอ่อนในทางการเมือง ถือโอกาสสั่งสอนพรรคประชาธิปัตย์ที่แก่พรรษาคราวพ่อ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของพรรคอำมาตย์โหนเจ้า ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่ย่อมไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พรรคนี้ประพฤติปฏิบัติ เพราะหากย้อนเวลากลับไปยังการกำเนิดเกิดก่อของพรรคการเมืองเก่าแก่อายุ 65 ปี ก็ชัดเจนว่า พรรคการเมืองนี้คือฝ่ายนิยมเจ้าและฝ่ายขุนนางเก่าที่ถูกจำกัดและลดบทบาทลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผลักดันจัดตั้งขึ้นมาเป็นฉากบังหน้าเพื่อชิงอำนาจกลับคืน โดยเชิดนายควง อภัยวงศ์ ที่แตกคอกับคณะราษฎร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวขบวนของกลุ่มเจ้าขุนนาง ต่อสู้กับรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์
พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นเครื่องมือในการฟื้นอำนาจของฝ่ายนิยมเจ้าและขุนนางที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งต้องมีผู้เล่นบทบาทในสภา และเป็นช่องทางที่กลุ่มนิยมเจ้าใช้แสดงออกต่อสาธารณะผ่านบทบาทของพรรค
และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง พรรคนี้สามารถเล่นสกปรกได้ถึงขนาดส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่า” เพื่อทำลายป้ายสีนายปรีดีกรณีสวรรคตของ ร. 8 เนื่องจากนายควง มีความไม่พอใจต่อนายปรีดี เป็นการส่วนตัวเป็นทุนเดิมด้วยเหตุที่ไม่สนับสนุนให้ตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2489 ทั้งที่ถือว่าเป็นคณะราษฎร์ชั้นอาวุโส ขณะที่กลุ่มนิยมเจ้าและขุนนางเก่าก็ต้องการทำลายล้างคณะราษฎร์ให้สูญสิ้น
ขณะเดียวกันกับการโหมกระแสทำลายนายปรีดี ดำเนินไปอย่างเข้มข้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็หันไปจับมือกับคณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพลป.พิบูลสงคราม โค่นรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งกลุ่มคณะราษฎร์สายนายปรีดีให้การสนับสนุน เมื่อปี 2490ปิดฉากระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร์สายพลเรือน จากนั้นคณะรัฐประหารก็ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะถูกจี้ให้ลงจากตำแหน่งในเวลาต่อมา
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อใดก็ตามที่มีรัฐประหาร ซึ่งมีทหาร-อำมาตย์อยู่เบื้องหลัง พรรคประชาธิปัตย์ มักได้รับเชื้อเชิญให้เป็นรัฐบาลเพื่อสร้างภาพให้ดูดีเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อ 65 ปีที่แล้ว หรือเหตุการณ์รัฐประหารล่าสุด เมื่อปี 2549 ซึ่งสุดท้ายฝ่ายทหาร-อำมาตย์ ก็ใช้บริการพรรคประชาธิปัตย์ โดยไปจัดตั้งคณะรัฐบาลกันในค่ายทหารเลยทีเดียว
การหักหลังเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด การใส่ร้ายป้ายสี เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น จึงอยู่ในสายเลือดของประชาธิปัตย์พรรคอำมาตย์โหนเจ้ามาตั้งแต่เริ่มแรกสมัยนายควง อภัยวงศ์ จวบจนถึงรุ่นหนุ่มนักเรียนนอกจากอ๊อกซฟอร์ด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นพรรคอำมาตย์โหนเจ้า แต่เอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง พรรคประชาธิปัตย์ กลับหาได้แสดงบทบาทปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุดความสามารถและดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ล่วงละเมิด ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มีแต่เพียงการแสดงละครโชว์ "ผังล้มเจ้า" อย่างขึงขัง โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในช่วงขณะที่กำลังเตรียมสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 และใช้เป็นประเด็นเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนก.ค. ปี 2554 แต่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ ก็พ่ายแพ้
คดีผังล้มเจ้า ยังผลให้พรรคประชาธิปัตย์ ถูกค่อนขอดว่าเป็นนักเล่านิทาน เพราะหลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายความมั่นคงของทหารกลับทำให้เรื่องที่ตนเองสร้างภาพใหญ่โตว่ามีขบวนการล้มเจ้า กลายเป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่รู้ใครเป็นคนทำ ทุกอย่างเป็นความลับ จนสุดท้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป่าคดีทิ้งหายไปกับสายลมสนองพรรคเพื่อไทยที่เข้ามาครองอำนาจทางการเมือง
น่าติดตามว่าการขึ้นป้ายแอบเชียร์คุณชายสุขุมพันธุ์ในการลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สอง “คนกรุงเทพฯ รักในหลวง ไม่เปลี่ยน” ของพรรคอำมาตย์โหนเจ้า สุดท้ายแล้วจะมีผลลัพธ์ทางการเมืองเช่นเดียวกับการเล่านิทานเรื่องผังล้มเจ้า หรือไม่?