xs
xsm
sm
md
lg

คุยโวแก้ไฟใต้มาถูกทาง ต้องแก้ปัญหาที่ความคิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (20ก.ย.) ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงการหารือร่วมกับฝ่ายค้านและรัฐบาล ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องภาคใต้เป็นเรื่องที่ตนห่วงที่สุด เพราะเหตุการณ์เกิดมา 7-8 ปีแล้ว ในภาพรวมแล้วใน 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอ ของจ.สงขลา ซึ่งมี 2 พันกว่าหมู่บ้าน มีอยู่แค่ 300 หมู่บ้าน ที่เป็นข่าวว่าเกิดเหตุ คิดเป็น 20 % ที่มีปัญหา
ดังนั้นภาคใต้ถือว่าสงบ คนมาเลเซียยังมาเที่ยว รัฐบาลนี้พยายามแก้ไขปัญหา โดยกองทัพต้องลงไปก่อน เพราะเรามองว่าตำรวจที่มีอยู่ยังไม่เข้มแข็งพอ จึงต้องนำทหารลงไปเพื่อหยุดความรุนแรง เหมือนไฟไหม้ที่ต้องไปดับไฟก่อน และค่อยตามไปแก้ไข ว่า คนที่เผาคิดอย่างไร ซึ่งต้องไปแก้ที่ความคิด ถือเป็นเรื่องกระทรวงอื่นๆ ที่ดูแล วันนี้ทหารดูแลดับไฟให้สนิทก่อน วิธีการของเรา คือ เมื่อเราทำให้กำลังประจำถิ่นเข้มแข็ง ก็จะเอาทหารออกมา จากที่ทำงานในเชิงรับ จะได้นำทหารไปทำงานเชิงรุกมากขึ้น ฝ่ายตรงข้ามจะได้ไม่มีเสรีในการปฏิบัติ
" ตอนนี้เขากำลังนั่งมองเราว่า ทำอะไรบ้าง ถ้าเราเผลอ เขาก็กระทำกับเรา เพราะเรามีกำลังน้อยที่จะนำไปทำงานเชิงรุกไล่ล่าพวกนี้ เราจึงต้องกดดันให้ปัญหาน้อยลง ซึ่งถือว่าได้ผล เพราะมีการมามอบตัว ขอชมเชยทั้ง 93 คน ที่มามอบตัวถือว่า มีความกล้าหาญ และเขาดูแล้วว่า การทำงานของเขาไม่สำเร็จ จึงมาอยู่ข้างรัฐบาลดีกว่า ถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ได้คนเหล่านี้มาช่วยเรา ถ้าจะมีการมอบตัวเพิ่มอีกจะเป็นเรื่องดี แสดงว่าการทำงานได้ผล ต้องชมเชย พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ร่วมกันทำงาน ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้น แม้จะดีขึ้น แต่อย่าไปหยุด เพื่อให้เหตุการณ์จบโดยเร็ว อย่าให้เหมือนปัญหาในติมอร์ตะวันออก ที่อินโดนีเซียต้องใช้เวลา 47 ปีในการแก้ไขปัญหา และต้องเสียติมอร์ฯไป หรือ ในไอร์แลนด์ ที่กลุ่มไออาร์เอ เขามียุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีมหาศาล เรื่องแบบนี้ละเอียดอ่อน ไม่ใช่เอาอาวุธไปเข่นฆ่าก็จบ 7 ปี แก้ไขกันได้ขนาดนี้ ผมดีใจแล้ว ผมยิ้มออกว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว" รมว.กลาโหม กล่าว
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์มาคุยกัน ก็มองเห็นแนวทางคล้ายๆกัน ถือเป็นสิ่งที่ดี ในระดับนโยบายต้องนิ่ง ฝ่ายปฏิบัติยุ่งยากต้องเข้าใจ เพราะมีหลายองค์กร หลายหน่วยอยู่ด้วยกัน ถ้านโยบายข้างบนไม่นิ่ง ข้างล่างก็นิ่งยาก ตอนนี้ถือว่า นโยบายถูกทาง และนิ่ง ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ถือเป็นวิธีการที่ดี ซึ่งทาง แม่ทัพภาคที่ 4 , ผบ.ทบ. , ศอ.บต. ทราบดี เมื่อเข้ากันแล้ว ก็จะมีภาพที่ดี
ส่วนกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ศปก. กปต. นั้น นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายให้ พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจว่า เราไม่ต้องการให้สายการบังคับบัญชายาว เมื่อก่อนแม่ทัพภาค หรือทหาร มีความเบ็ดเสร็จในการแก้ไขปัญหา สามารถย้ายผู้ว่าฯ พลเรือน ตำรวจ ได้หมด ผลดีคือเด็ดขาด แต่หน่วยงานไม่ค่อยชอบ วันนี้เรามี 2 แท่ง คือ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ซึ่งมี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งสองส่วนที่ต้องทำงานไปด้วยกัน ส่วนของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และตน เป็นแค่ตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาแทนนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบอยู่แล้วตามกฎหมาย เพียงแต่เราต้องแบ่งเบาภาระเขา ในสองแท่งนี้ตนจะลงไปช่วยแก้ไข ถ้าภายใน 4 คนนี้ แก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี

** เปลี่ยนชื่อ ศปก.จชต. เป็นศปก.กปต.

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศปก.จชต. ) ว่า สำหรับชื่อศูนย์ที่จะใช้ติดตามการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมจะใช้ชื่อ ศปก.จชต. แต่ ศปก.จชต. เองเป็นส่วนปฏิบัติของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กปต.) ที่มีตนเป็นประธาน จึงได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติการของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศปก.กปต. ) แทน โดยได้เสนอให้นายกฯ อนุมัติแล้ว
ทั้งนี้ โครงสร้างได้มีการปรับบางอย่างใหม่ ให้ถูกกับกฎหมาย และมีความเป็นเอกภาพ ซึ่ง ศปก.กปต. จะเป็นหน่วยงานเดียวที่จะรวบรวมข่าวทั้ง 19 หน่วยงาน ให้เป็นเอกภาพ เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายได้ถูกต้อง และฝ่ายค้าน และรัฐบาลสามารถมาขอข้อมูลที่ศูนย์ดังกล่าวได้เลย ซึ่งหน่วยงานข่าวนี้ จะมีสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รับผิดชอบ
"ขั้นตอนไม่ได้ติดขัดอะไร โดยขณะนี้ได้เสนอให้นายกฯ อนุมัติแล้ว คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะนายกฯ เองได้รับฟังข้อเสนอแนะจากฝ่ายค้านแล้ว เชื่อว่าในภายในวันที่ 21 ก.ย.นี้ คงเรียบร้อย" พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการแสดงตัวของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะมารายงานตัวในช่วงสิ้นเดือนก.ย.นี้ ขณะนี้สัญญาณมีแล้ว แต่เขาขอร้องว่า อย่าเพิ่งพูดอะไรไปมากกว่านั้น และทางฝ่ายค้านก็ได้ขอร้องมาว่า เจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล จะต้องพูดให้น้อยในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของแกนนำคนสำคัญอย่าง นายสะแปอิง บาซอ และ นายมาแซ อุเซ็ง มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ออกมารายงานตัว รองนายกฯ กล่าวว่า ต่อไปนี้หากเขาเห็นว่าการออกมาแสดงตัวแล้ว ทำให้มีชีวิตในแนวทางใหม่จะเกิดประโยชน์มากกว่าหลบซ่อน และในเรื่องของกฎหมายที่เรากำลังปรับปรุง มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงกันใหม่ ถ้าหากการแก้ไขปัญหาในกฎหมายมีโอกาสให้เขาออกมาต่อสู้ทางกฎหมายได้ ตนคิดว่าเขาจะออกมา ซึ่งขณะนี้เรื่องของกระทรวงยุติธรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การโยกย้ายนายทหารประจำปี 2555 ในส่วนของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จากรายชื่อคิดว่าทำงานได้ ไม่มีปัญหา ตนคิดว่าจากรายชื่อ จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันในกองทัพภาคที่ 4 เองก็ไม่ได้มีการปรับย้ายอะไร ซึ่งภายหลังจากมีการปรับย้ายในระดับบนแล้ว คงจะมีการปรับในตำแหน่งพันเอกพิเศษ ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ทั้งนี้อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้บัญชาการทหารบก
กำลังโหลดความคิดเห็น