xs
xsm
sm
md
lg

“ยุทธศักดิ์” เต้นถูกมองสร้างภาพ สั่ง มทภ.4 แจงเจรจาผู้ก่อความไม่สงบใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา (แฟ้มภาพ)
“ยุทธศักดิ์” มอบแม่ทัพภาคที่ 4 แจงตั้งโต๊ะเจรจาผู้ก่อความไม่สงบฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังถูกโจมตีสร้างภาพ เผย 93 รายที่มาเจรจามีเพียง 3 คนที่มีคดีอาญา แย้มภายใน ก.ย.นี้จะมีมามอบตัวเพิ่มผ่านผู้ว่าฯ เล็งหาช่องแก้ ม.21 เหตุขั้นตอนช้า เตรียมหารือร่วมฝ่ายค้านพรุ่งนี้ทุกเรื่อง พร้อมแจงตั้ง ศปก.จชต.


พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการมอบตัวตามพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตอนเข้ามอบตัวกลับไม่มาในพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า เรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นไม่ยาก เพราะบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้ประกาศ พ.รบ.ความมั่นคงเราก็มองอยู่แล้ว

สำหรับผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 93 คนที่เข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 ตามโครงการพาคนกลับบ้านนั้นเขาจะกลับไปคุยกันก่อนเพราะยังมีอีกบางส่วนที่ยังไม่กล้าเข้ามา โดยผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าวที่มาพบแม่ทัพภาคที่ 4 ได้มายื่นข้อเรียกร้องจำนวน 3 ข้อก่อนเพื่อความมั่นใจ เมื่อกลับไปแล้วก็จะต้องคัดแยกแต่ละบุคคล เพราะบางคนผ่านการรับโทษมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนบุคคลที่ยังมีปัญหาในเรื่อง ป.วิอาญาอยู่ก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของแต่ละรายไป ซึ่งจะต้องมีการคุยกันในเรื่องกฎหมายอีกหลายขั้นตอน แต่เขาก็ต้องยอมรับโทษในเรื่องที่ได้ทำผิดไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 93 คนนี้ มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ติดเรื่อง ป.วิอาญา นอกนั้นอยู่ในเรื่องของการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับอีกจำนวนมากที่หลุดพ้นแล้วซึ่งต้องการความปลอดภัยจากทางเจ้าหน้าที่ รวมถึงความปลอดภัยจากพวกหัวรุนแรงที่จะกลับมาเล่นงานเขาเองด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สังคมยังเคลือบแคลงสงสัยในขั้นตอนที่ไม่ชัดเจน พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ตนได้บอกให้แม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงทำความเข้าใจและทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจขั้นตอนการทำงานด้วย เพราะถ้ายังมีปัญหาอยู่จะกลับกลายเป็นการสร้างภาพ เนื่องจากขณะนี้บางเว็บไซต์ได้โจมตีในเรื่องดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่าได้ผลเป็นอย่างไร เมื่อทุกคนเข้าใจสิ่งที่ดีก็จะเกิดขึ้น เพราะหากไม่ทำก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา โดยในการประชุมร่วมกับฝ่ายค้านในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ตนได้บอกแม่ทัพภาคที่ 4 ให้มาร่วมประชุมชี้แจงในเรื่องนี้ด้วย

พล.อ.ยุทธศักดิ์เปิดเผยด้วยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แจ้งกับตนว่าไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย.นี้ อาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามามอบตัว ซึ่งอาจจะไม่ผ่านทางขั้นตอนทหาร แต่อาจจะมาผ่านทางจังหวัดก็ได้ โดยหากเสร็จแล้วก็ต้องนำมารวมกับผู้ที่มามอบตัวก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับผู้ที่มี ป.วิอาญาติดตัวจะต้องเข้าแสดงตนในพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ต้องดูว่าเขาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ใด แต่ในพื้นที่ใดก็ตามที่เราจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน

เมื่อถามย้ำว่า ผู้บัญชาการทหารบกตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงไม่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวในพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มาพบกัน แต่ถ้าจะมารายงานตัวก็จะต้องดูขั้นตอนปฏิบัติอีกครั้ง เพราะขั้นตอนกว่าจะฟ้องศาลต้องผ่านเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอัยการ ขั้นตอนข้างยาว ซึ่งเมื่อขั้นตอนถึงศาลก็จะต้องดูว่าเข้ามาตรา 21 อย่างไร ทั้งนี้ ในส่วนของมาตราดังกล่าวค่อนข้างยาวและช้าเราจึงต้องดูว่าจะแก้ไขปัญหาในมาตรานี้อย่างไรให้เร็วขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งสองฝ่าย โดยอาจจะต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หากมีการฟ้องศาลก็จะหลุด เพราะพยานหลักฐานจะไม่มี

“ผมว่าคนที่เขากลับใจและต้องการสันติภาพเอามาไว้ด้วยดีกว่า จะได้โดดเดี่ยวคนที่ยังหัวรุนแรงอยู่ เมื่อใดที่พวกหัวรุนแรงถูกโดดเดี่ยวแบบสุดโต่งแล้วก็จะอยู่ได้ไม่นานเพราะประชาชนไม่เอาด้วย ขณะนี้พลังประชาชนในพื้นที่มีความสำคัญมาก ผมกำลังจะพูดกับ ศอ.บต.ด้วยว่างานสำคัญคือการรวบรวมพลังประชาชนในพื้นที่ด้วยสันติ ให้ทุกคนเข้ามาต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองดีกว่า เพราะรู้ว่าคนเหล่านี้ต้องการการต่อสู้ทางการเมืองท้องถิ่นเสียก่อน แล้ววันนี้ก็เข้ามาแล้ว”

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จตช.) ที่ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องถามเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะตนได้ส่งขึ้นไปแล้ว

พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมกับผู้นำฝ่ายค้านและส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น หากมีอะไรที่จะแก้ปัญหาได้ก็จะคุยกันทุกเรื่อง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่กระจกทุกด้านจะได้เข้ามาชี้แจงให้เห็นภาพ

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการตั้งศปก.จชต.นั้นเป็นเพราะเรายังไม่ได้อธิบายทำความเข้าใจกันถึงภาระหน้าที่ ทั้งนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์พูดว่าเรื่องงานทั้งหมดควรจะให้อยู่ในมือนายกฯ นั้นตนก็ว่าถูก เพราะวันนี้งานก็ยังอยู่ในมือนายกฯ ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะ ศปก.จชต.ที่ตั้งมาคือเครื่องมือของนายกฯ ในการที่จะดูแล ศอ.บต., กอ.รมน. และกระทรวงต่างๆ ที่ทำงานไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ แต่ไม่ใช่เอาอำนาจของนายกฯไปให้กับ ศปก.จชต.
กำลังโหลดความคิดเห็น