รองนายกฯ ปัดเห็นแย้ง “ยุทธศักดิ์” โจรใต้มอบตัว อ้างพูดแนวทางกฎหมาย ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงก่อน เจ้าตัวก็เห็นด้วย ชี้ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ร่วม เตือนตำรวจอย่าเข้าไปยุ่งตอนมอบตัวต่อทหาร หวั่นโดนเล่นละเมินจับตามหมาย ลั่นพร้อมจัดเต็มคุยฝ่ายค้าน
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีความเห็นไม่ตรงกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เรื่องการมอบตัวของกลุ่มผู้ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะตนตอบในฐานะนักกฎหมาย เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2. พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ 3. พ.ร.ก.บริราชราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรใน 4 อำเภอ จ.สงขลา และ 1 อำเภอใน จ.ปัตตานี หากจะใช้มาตรา 15 และ 21 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจะต้องประกาศเป็นพื้นที่ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไว้ก่อนถึงจะรับมอบตัว ส่วนขั้นตอนการรับมอบตัวต้องมอบกับตำรวจ หลังจากพนักงานสอบสวนเสร็จจึงจะเสนอ ผอ.กอ.รมน. ซึ่งหากเห็นตรงกับพนักงานสอบสวนก็ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา โดยเรื่องนี้ตนได้หารือกับผู้ใหญ่ในกองทัพและ พล.อ.ยุทธศักดิ์ก็เห็นด้วย
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวอีกว่า งานนี้ใช้นิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ต้องใช้รัฐศาสตร์ด้วย แต่ต้องระวังเจ้าหน้าที่จะมีความผิด โดยในวันที่แกนนำกลุ่มความไม่สงบได้เข้าพบกับแม่ทัพภาคที่ 4 ตนได้บอกตำรวจอย่าเพิ่งเข้าไป เพราะหากบุคคลใดมีหมายจับแล้วปรากฎต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ และตำรวจไม่จับก็อาจจะถูกตั้งข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะมีคนจ้องทำลายอยู่
“ผมได้หารือกับผู้ใหญ่ในกองทัพและพล.อ.ยุทธศักดิ์ก็เห็นด้วย คือต้องดูก่อนว่าเราได้ประกาศโดยอาศัย พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือยัง ถ้ายังก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศใช้จึงนำไปสู่มาตรา 15 และปฏิบัติตามมาตรา 21 สุดท้ายศาลจะสั่ง” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ส่วนการหารือเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับผู้นำฝ่ายค้านและ ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ รองนายกฯ กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าวคุยกันได้ทุกเรื่อง ซึ่งตนคุยกับนายอภิสิทธิ์ในสภาแล้วก็ให้ความเมตตาและรับปากแล้วว่าจะมาแน่ ส่วนข้อมูลที่ได้จากหารือทั้งหมด พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะนำไปสรุปแล้วดูในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ที่มอบตัวอีกครั้ง อะไรที่เป็นประโยชน์จะรับไว้ทั้งหมด ขณะที่ในวันดังกล่าวตนจะเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกามาวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ซึ่งจะเชิญมาหมด จัดเต็ม จัดหนัก ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากการหารือกันแล้วสถานการณ์จะดีขึ้นแน่นอน