ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19-21 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ทหารจากหน่วย เฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17(ฉก.ร.17) ได้เข้ารื้อบ้านพักรับรองของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่(SSA-Shan State Army) จำนวน 17 หลัง หน้าเนินบ้านพักของพลโทเจ้ายอดศึก ผู้นำ SSA บนดอยไตแลง บริเวณสันเขาชายแดนไทย-รัฐฉาน
บ้านพักจำนวนนี้ ทางเจ้ายอดศึกและ ผบ.ฉก.ร.17 คนก่อน ได้ทำการตกลงเรื่องบริเวณสันเขาชายแดนไทย-พม่าบนดอยไตแลง ซึ่งยังไม่มีการปักปันเขตแดนแน่ชัด ว่าบนสันเขาฟากตะวันตก พื้นที่ส่วนไหนเป็นของไทย ส่วนไหนเป็นของรัฐฉาน
ในการตกลงกับ ผบ.ฉก.ร.17 คนก่อน ทางกองทัพไทยได้ขอให้เจ้ายอดศึกย้ายชาวบ้านไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักเหล่านั้นออกไป และจะเก็บบ้านเหล่านั้นไว้เป็นบ้านพักรับรอง สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างทหารไทยและทหารไทใหญ่ ซึ่งทางเจ้ายอดศึกตกลงทำตามสัญญา และดำเนินการย้ายชาวบ้านออกจากบ้านพักเหล่านั้นไปนานแล้ว และติดป้ายหน้าพักระบุไว้ว่าเป็น “บ้านพักรับรอง” อย่างชัดเจนตามที่ทำการตกลงกับทางกองทัพไทยไว้
แต่เมื่อ พ.อ.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ ย้ายมาเป็น ผบ.ฉก. ร.17 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ก็ได้มีคำสั่งให้ทางกองทัพไทใหญ่ รื้อบ้านพักรับรองทั้ง 17 หลังนั้นออกทั้งหมด ซึ่งผิดข้อตกลงเดิมที่ทางกองทัพไทยทำไว้กับทางกองทัพไทใหญ่ โดยมีรายงานว่า พ.อ.อภิเชษฐ์อ้างกับทางไทใหญ่ว่า ผู้ใหญ่ในกองทัพบกได้มาเห็นบ้านพักเหล่านั้นแล้วไม่พอใจ จึงสั่งให้ตนมารื้อบ้านพักรับรองเหล่านั้นออกเสีย ถ้าตนไม่ทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ ก็จะถูกปลดจากตำแหน่ง
มีข้อสงสัยตามมาว่า “ผู้ใหญ่ในกองทัพบก”ที่พันเอกอภิเชษฐ์กล่าวอ้างนั้น เป็นใครกันแน่ การกระทำครั้งนี้ เป็นคำสั่งจาก พล.ท.ชาญชัยณรงค์ ธนารุณ แม่ทัพภาคที่ 3 หรือเป็นคำสั่งของ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ผบ.ทบ.ด้วยหรือไม่
หรืองานนี้ เป็นการทำงานนอกสั่งเพื่อสร้างผลงานเอาใจ “นายเก่า” บางคนที่เคยกดดันไทใหญ่เอาใจพม่ามาแล้ว
ที่ผ่านมา นโยบายของกองทัพไทยต่อชายแดนตะวันตกนั้น ต้องการให้สถานการณ์ทางด้านนี้นิ่งที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเหมือนชายแดนใต้กับชายแดนตะวันออกด้านกัมพูชาที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว
แต่การเข้าไปกดดันกองทัพไทใหญ่ในครั้งนี้ ถือว่ากองทัพไทยได้แสดงสัญญาณการกดดันชนกลุ่มน้อยชายแดนตะวันตก ที่เป็นเสมือเพื่อนเก่า และกองทัพไทยเคยใช้ประโยชน์ ช่วยเหลือประสานงานกับกองทัพภาคที่ 3 ในการดูแลความสงบเรียบร้อยและปราบปรามยาเสพติดในเขตชายแดนตะวันตก มาโดยตลอดแล้วหรือไม่
สถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ที่ทหารพม่าและทหารชนกลุ่มน้อยรุกล้ำแผ่นดินไทยไม่ใช่มีแค่ดอยไตแลงของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนสันเขาชายแดนไทย-รัฐฉานเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ชายแดนไทยอีกหลายจุดที่กลุ่ม “ว้าแดง”รุกเข้ามาในเขตประเทศไทยอย่างชัดเจน แต่ทหารไทย นอกจากจะไม่เข้าไปกดดันแล้ว ยังให้ความช่วยเหลืออีกด้วย ตัวอย่างเช่น
1.บ้านไม้ลัน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ทหารไทยอนุญาตเปิดชายแดน ให้ทหารว้าแดง (UWSA) เข้ามาซื้อรับส่งวัสดุก่อสร้าง ซื้อเสบียงอาหารทุกวันพุธ
2.ดอยหัวแหวน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ทหารว้าแดงอยู่ลึกเข้ามาในฝั่งไทย 500 เมตร ทหารไทยไม่กล้าไปจัดระเบียบใดๆ ทั้งที่บริเวณนั้นไม่ใช่สันเขาชายแดนด้วยซ้ำ
3.ดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทหารพม่าเข้ามาตั้งหน่วยทหารอยู่ลึกเข้ามาในฝั่งไทยอย่างชัดเจน ทหารไทยก็ไม่ดำเนินการอะไร
4.ดอยหัวฮะ บ้านแม่ออรักไทย จ.แม่ฮ่องสอน บนสันเขาชายแดนลึกเข้ามาในฝั่งไทย ทหารพม่าเข้าออกมาทำงานมาหากินในไทยอยู่ทุกวัน แต่ทหารไทยไม่เข้าไปจัดการอะไร
ขณะที่ ทางกองทัพไทใหญ่เจออุปสรรคหลายอย่าง แม้เจรจาหยุดยิงกับพม่าแล้วแต่ก็ยังมีการสู้รบกันอยู่ และฝ่ายทหารพม่าไม่ยอมทำตามข้อตกลงสัญญาที่ทำการตกลงไว้ ล่าสุดมาถูกกดันจากทหารไทย กรณีรื้อบ้านพักดังกล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพชนกลุ่มน้อยชายแดนนั้น เคยพึ่งพาอาศัยกันและกันมาตั้งแต่อดีต ตามยุทธศาสตร์การจัดตั้ง “รัฐกันชน” โดยทางด้านตะวันออกไทยเคยสนับสนุนกองทัพเขมรแดงให้สู้รบกับกองทัพรัฐบาลเฮงสัมรินที่เวียดนามให้การสนับสนุน ส่วนทางด้านตะวันตก ไทยก็มีชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ เป็นรัฐกันชนกับพม่ามาช้านาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง เมื่อผลประโยชน์ทางการค้าชายแดนมีมากขึ้น โดยการผลักดันกดดันของนักธุรกิจกับนายทหารไทยบางคนที่มีผลประโยชน์แอบแฝง กองทัพไทยก็เริ่มทอดทิ้งกองทัพชนกลุ่มน้อย หันไปจูบปากทำธุรกิจกับกองทัพพม่า
ชายแดนตะวันตกขณะนี้ ยังมีกองทัพว้าแดงที่เป็นพันธมิตรกับทหารพม่า ผลิตยาเสพติดส่งเข้ามาสร้างปัญหาให้ไทย และพร้อมปะทะกับทางไทยอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่กองทัพไทใหญ่ มีบทบาทในการช่วยเหลือกองทัพไทยปราบปรามยาเสพติดมาโดยตลอด ในวันต่อต้านยาเสพติดโลกที่กรุงเทพมหานคร กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ เพิ่งได้รับรางวัล “อินทรีทองอวอร์ด” ซึ่งทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มอบรางวัลนี้ให้แก่สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) และกองทัพรัฐฉาน (S.S.A.)ในการร่วมปราบปรามยาเสพติด โดยมี พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ไม่กี่เดือนให้หลัง ทหารไทยก็เข้าไปกดดันกองทัพไทใหญ่ด้วยการเข้าไปรื้อบ้านพักของ SSA บนดอยไตแลงดังกล่าว จึงมีข้อสงสัยตามมาว่า กองทัพบก ฝ่ายความมั่นคงของไทย กำลังดำเนินนโยบาย“ตีสองหน้า”อยู่ ใช่หรือไม่