xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาธิปไตย (แนวคิดที่ควรเลิก แนวคิดที่ควรสร้าง) 5

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป.เพชรอริยะ

มนุษยชาติ มีความไม่ลงรอยกันก็เพราะความเชื่อ ความยึดมั่นถือมั่นอันสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งระหว่างลัทธิจิตนิยม (Idealism) กับลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) หรือระหว่างจิตนิยมต่อจิตนิยมด้วยกันเอง หรือระหว่างวัตถุนิยมต่อวัตถุนิยมด้วยกันเอง ด้วยลัทธิดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์และไม่ใช่ทางสายกลาง ใครที่ยึดมั่นถือมั่นในลัทธิดังกล่าว จะเป็นเหตุให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง และไม่อาจจะรู้แจ้งธรรมทั้งองค์รวมได้ และก่อให้เกิดความขัดแย้งและทำสงครามต่อกัน

1. ลัทธิจิตนิยม (Idealism) มีแนวคิดพื้นฐานว่าจิตเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง และมีความเชื่อว่าวัตถุเป็นผลผลิตของจิต จิตเท่านั้นเป็นความจริงแท้ ส่วนวัตถุเป็นเพียงปรากฏการณ์ คนที่อยู่ในแนวคิดนี้ก็จะถือตนเป็นใหญ่ ถือตัวกูเป็นใหญ่ ถือประโยชน์ตนและพวกพ้องเป็นใหญ่ โดยภาพรวมก็คือการถืออัตตาตัวตนเป็นใหญ่ จะเห็นพฤติกรรมได้จากตัวอย่าง เช่น

1.1 รัฐธรรมนูญปัจจุบัน, บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค โดยเจ้าของพรรค หรือนายทุนพรรคซื้อมาแล้วจะได้ควบคุม ส.ส.ของพรรคไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ใครออกนอกลู่นอกทางจะต้องถูกไล่ออก จากความคิดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพรรคแบบนี้ อุปมาได้ว่า

1) เจ้าของพรรค หรือนายทาส

2) หัวหน้าทาส ได้แก่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือพวกรัฐมนตรี

3) ทาสทางการเมือง ได้แก่พวก ส.ส.ที่ยอมขายตัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องทำตามเจ้าของพรรค พวกเขาจึงเป็นเพียงผู้แทนของนายทุนพรรค ไม่ใช่ผู้แทนของประชาชน

4) ประชาชนผู้ไม่รู้เท่าทันการเมือง หรือด้วยอามิสสินจ้าง หรือด้วยเพราะสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ เช่น นโยบายประชานิยม ฯลฯ

1.2 ในทางเศรษฐกิจ จะมองทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน เช่น แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน และมีความรู้สึกนึกคิดว่าตนเป็นผู้ฉลาด มีความมั่นใจในตนเองสูง มีความสามารถเหนือคนอื่น จะทำอะไรๆ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อตนเองมั่งคั่งร่ำรวย ก็จะดูหมิ่นคนยากคนจนว่าโง่เขลา เกียจคร้าน ขี้อิจฉา ฯลฯ

การแสดงออกจากความคิดดังกล่าวนี้ ในเรื่องรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามความนึกคิดเพราะจิตมีแต่ความแตกต่างหลากหลาย เช่น บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล ทั้งกุศลและอกุศลล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อได้ยกร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีแต่ด้านวิธีการปกครอง ได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ อันแตกต่างหลากหลาย โดยไม่มีหลักการปกครอง (ระบอบ) อันเป็นด้านหลักการ หรือด้านเอกภาพหรือเป็นจุดมุ่งหมายร่วมของปวงชนในชาติ

พูดง่ายๆ ว่า มีแต่ด้านมรรควิธี คือมีทางที่จะไป หรือวิธีการที่จะดำเนินการ แต่การดำเนินการนั้นไม่มีหลักหรือไม่มีจุดมุ่งหมาย เมื่อจะตัดสินความถูกผิด ก็วัดกันด้วยจำนวนเสียงข้างมาก ว่าฝ่ายไหนเสียงมากกว่า จึงเป็นเหตุเข้าทำนองว่า “พวกมากลากไปพาไปพินาศ” ประชาชนก็ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนถูกเป็นธรรม หรือฝ่ายไหนไม่ถูกไม่เป็นธรรม ก็เพราะไม่มีหลักการปกครองเป็นตัวเปรียบเทียบ เป็นตัววัดให้พิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นๆ ของรัฐบาลจะถูกหรือผิดนั่นเอง การจัดความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญไทยจึงทำผิดพลาดมาแล้ว 18 ฉบับ ได้จัดความสัมพันธ์โดยไม่มีหลักการปกครอง คือไร้จุดมุ่งหมาย เกิดความสับสน ไร้ทิศ ไร้ทาง อย่างไม่รู้จบสิ้น ดังลักษณะในรูป

รัฐธรรมนูญที่ไม่มีหลักการปกครอง กล่าวได้ว่า “เมื่อไม่มีจุดมุ่งหมาย ก็ไม่มีหนทาง เมื่อไม่มีหนทาง ก็ไม่มีความก้าวหน้า อุปมา พายเรือในอ่างน้ำ” การเมืองการปกครองของไทยจึงล้าหลังย่ำอยู่กับที่ น่าเสียดายผู้ปกครองไทยงมงายคิดไม่เป็น มัวแต่บ้างมงายอยู่กับลัทธิเผด็จการรัฐธรรมนูญ

2. ลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) มีความเชื่อพื้นฐานว่า วัตถุเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง และเชื่อว่าวัตถุเป็นความจริงแท้ ส่วนจิตเป็นผลผลิตขั้นสูงสุดในสมอง หรือจิตเป็นภาพสะท้อนของวัตถุ หรือจิตเป็นเพียงปรากฏการณ์ของวัตถุเท่านั้น คนที่อยู่ในแนวคิดนี้จะถือภาววิสัยเป็นใหญ่ ถือประเทศชาติ สังคมเป็นใหญ่ ถือสาธารณะเป็นใหญ่ ชิงชังการกดขี่และขูดรีด แต่แนวคิดนี้มีน้อย นอกจากได้อบรมจากลัทธิวัตถุนิยม ชนพวกนี้จะมองว่าปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นของรัฐ ปฏิเสธกรรมสิทธิ์ของเอกชน ชนภายในชาติจะต้องอุทิศตนเพื่อสังคม เมื่อมองเผินๆ แล้วดูน่าเชื่อถือ การโฆษณาชวนเชื่อจะเป็นที่ชอบใจของชนที่เสียเปรียบในสังคมและจะลุกขึ้นมาโค่นชนชั้นปกครองผู้กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบประชาชน เช่น ในประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย

3. คำสอนพระพุทธศาสนา คือความจริงตามกฎธรรมชาติ ทั้งจิตตสังขาร และวัตถุ หรือรูปสังขาร เป็นสังขตธรรม เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นของผสม เป็นสัจธรรมสัมพัทธ์ (Relative truth) เมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด เกิดขึ้นเท่าไรก็ดับไปเท่านั้น ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ ทั้งจิตสังขารและวัตถุ เป็นเพียงมายาไร้แก่นสารที่แท้จริง และตัวมันเองไม่อาจจะทำให้บริสุทธิ์ได้เพราะเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือเป็นของผสม และดำรงอยู่อย่างอิสระไม่ได้ ทั้งจิตตสังขารและวัตถุ จึงไม่สามารถจะเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งได้ ตัวมันเองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อไปยึดติดเพราะความหลงเข้าใจผิด ไม่ถูกตรงตามที่มันเป็น จึงทำให้ผู้ยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง

ทั้งลัทธิจิตนิยม และลัทธิวัตถุนิยม ความเชื่อทั้งสองไม่อาจเข้าถึงทางสายกลางได้ เมื่อพัฒนาถึงที่สุดแล้ว จะเป็นความไร้แก่นสาร ก็เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงหาตัวคนไม่ได้ตามกฎไตรลักษณ์นั่นเอง ดุจน้ำตกที่ไหลลงจากหน้าผา แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร ใครยึดมั่นถือมั่นเพราะความหลงผิด (อวิชชา) ดังนั้น ควรเข้าใจอย่างถูกต้องว่าลัทธิทั้ง 2 นี้ ไม่อาจเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งได้และไม่สามารถแก้เหตุวิกฤตชาติได้

แต่ถ้าเราต้องการรู้แจ้งสัจธรรมก็ด้วยการวิปัสสนากรรมฐาน จะเกิดมีปัญญาตามความเป็นจริงว่าทั้งจิตตสังขารและรูปสังขารนั้นไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้เลย และเห็นภัยจากการยึดมั่นถือมั่นนั้น ทำให้เบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เป็นกลางต่อสังขาร และคิดหาทางออกอิสระเสียจากสังขารทั้งปวง และเมื่อมีปัญญาอิสระพ้นจากสังขารทั้งปวงแล้ว จะเป็นปัจจัยให้พบสภาวะใหม่ สภาวะนั้นก็คือ นิพพาน, หรือบรมธรรม, หรือธรรมาธิปไตย เป็นภาวะบริสุทธิ์ เป็น อรรถธรรม เป็นแก่นสารที่แท้จริง จึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะมันเป็นสภาวะบริสุทธิ์ และพ้นจากกฎไตรลักษณ์ จึงเป็นสภาวะที่ดำรงอย่างไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่เปลี่ยนแปลง ดำรงอยู่อย่างอมตธรรม

จะเห็นได้ว่าสภาวะดังกล่าวนี้ ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ผู้รู้แจ้งย่อมกล่าวว่า “ธรรมย่อมเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง” หรือบรมธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตย เป็นศูนย์กลางของสังขตธรรม ทั้งรูปและนามอันแตกต่างหลากหลายทั้งปวงนั่นเอง

ในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ทั้งจิต และวัตถุ แต่ยอมรับว่าทั้งวัตถุและจิตดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันในลักษณะสังขตธรรม แปรปรวนดับไปตามกฎไตรลักษณ์สมดัง อุทานธรรมว่า “ภูเขายังตั้ง ตะวันยังฉาย ธรรมาธิปไตยไม่สลายจากใจคน” ก็จะเห็นได้ว่า จิตตสังสารทั้งที่ปรุงแต่งเป็นกุศลบ้าง และอกุศลบ้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนในท่ามกลางและก็ดับไปในที่สุด พูดง่ายๆ ว่า เมื่อเกิดความกลัว โลภ โกรธ หลง เสียใจ เศร้าใจ ดีใจ ฯลฯ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสลายไป ดำรงอยู่ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าจิตตสังขารทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล เป็นเพียงปรากฏการณ์ เป็นมายาเท่านั้น ไร้แก่สาร ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง

จะเห็นชัดว่าธรรมประกอบกันขึ้นระหว่างอสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งและพ้นจากกฎไตรลักษณ์ ได้แก่ นิพพาน, บรมธรรม, ธรรมาธิปไตย) กับสังขตธรรม (ธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์) หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ไม่สลายกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วต้องสลาย หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างธาตุแท้กับปรากฏการณ์ หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างจุดมุ่งหมายกับมรรควิธี หรือวิธีการ หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลาย

เมื่อได้นำสภาวธรรมมาประยุกต์ใช้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องโดยธรรม ตามองค์ประกอบของกฎธรรมชาติ ดังลักษณะตามรูปดังนี้ วงกลมตรงกลาง คือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 มีลักษณะแผ่กระจายความเป็นธรรม 9 ลักษณะสู่ปวงชนในชาติ อันเป็นหลักการที่ไม่เปลี่ยนแปลงมั่นคงยั่งยืนของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนลูกศร คือ วิธีการปกครองได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ ที่จะต้องขึ้นต่อหลักการปกครองเสมอไป วิธีการเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้ หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็น ตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ดังรูป

การสร้างการปกครองแบบธรรมาธิปไตย คือการนำกฎธรรมชาติ ดำรงอยู่ในลักษณะพระธรรมจักร บนความสัมพันธ์ในหลายๆ มิติ เช่น

สัมพันธภาพระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลาย

สัมพันธภาพระหว่างแผ่กระจายกับรวมศูนย์ เป็นปัจจัยให้เกิดดุลยภาพ

สัมพันธภาพระหว่างจุดมุ่งหมาย และมรรควิธี

สัมพันธภาพระหว่างหลักการ และวิธีการ เป็นต้น

เมื่อนำไปพิจารณาระบอบการเมือง ระบอบต้องมีธรรมและแผ่กระจายสู่ปวงชน ส่วนการปกครองต้องรวมศูนย์ และระบอบการเมืองต้องแผ่ ส่วนเศรษฐกิจต้องรวมศูนย์ หรือรัฐวิสาหกิจ กับวิสาหกิจเอกชน ฯลฯ ดังกล่าวนี้ต้องทำให้เกิดความสมดุล หรือดุลยภาพกัน ไม่ใช่พยายามทำให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง

“มนุษยชาติเกิดจากธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่สู่ธรรมาธิปไตย เป็นความถูกต้องยิ่งใหญ่โดยธรรม และเป็นความภาคภูมิใจของปวงชนในชาติตลอดไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น