xs
xsm
sm
md
lg

ดะโต๊ะยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 20/2555 ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัว จำนวน 3 คน ประกอบด้วยนายทวี หลีเยาว์ ดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานี ให้ดำรงตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปัตตานี นายมะดารี โต๊ะและ ดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดยะลา ให้ดำรงตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดยะลา และนายสำชุดดิน มาลินี ดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดสตูล ให้ดำรงตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสตูล ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 อาจทำให้เกิดความสงสัยว่าใครคือ “ดะโต๊ะยุติธรรม” และบุคคลเหล่านี้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องอย่างไรในกระบวนการยุติธรรม

ดะโต๊ะยุติธรรม เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้น โดยดะโต๊ะยุติธรรมต้องนั่งพิจารณาคดีพร้อมด้วยผู้พิพากษา ในคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก สำหรับอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์ จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท โดยให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น ยกเว้นแต่ในเรื่องของอายุความมรดก

จากลักษณะของคดีที่มีลักษณะเฉพาะ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้อีก ทำให้บุคคลที่จะมาเป็นดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้วยเช่นกัน โดยที่สำคัญต้องเป็นมุสลิม และมีความรู้ในศาสนาอิสลามสามารถที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกได้ โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม ตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 จะไม่สามารถใช้บังคับได้ทุกศาลทั่วประเทศ และจะใช้บังคับก็ต่อเมื่อเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นเฉพาะใน 4 จังหวัด อันได้แก่ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล และคู่ความหรือผู้เสนอคำขอต้องเป็นมุสลิมด้วยกันเท่านั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน มีการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในศาลจังหวัด เนื่องจากศาลเยาวชนและครอบครัวใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2549 ทั้งมีการแก้ไขกฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัวให้มีผลใช้บังคับใน พ.ศ. 2554 ทำให้คดีครอบครัวและมรดกบางประเภทนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว เห็นได้จากบทบัญญัติใน พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 10 กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดี ดังต่อไปนี้

1) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด

2) คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมา

3) คดีครอบครัว

4) คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ

5) คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว

นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติถึงคำว่า “คดีครอบครัว” เพิ่มเติมไว้ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ให้หมายความรวมถึง คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใดๆในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว

จากเนื้อหาในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคดีครอบครัวและมรดกบางประเภท แม้ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องและอยู่ในเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวโดยตรง คู่ความเป็นอิสลามศาสนิกในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ที่ต้องมาใช้สิทธิทางศาล หากไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมในศาลเยาวชนและครอบครัวจะทำให้การใช้กฎหมายอิสลามไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในศาลจังหวัดทุกศาลนพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากข้อขัดข้องดังกล่าว ทำให้อิสลามศาสนิกขาดโอกาสในการได้รับความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระบวนพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวโดยเสมอภาค เช่นเดียวกับผู้นับถือศาสนาอื่น และในขณะเดียวกันก็อาจไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเจตนารมณ์ในการบัญญัติพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ที่มุ่งถึงการกำหนดมาตรการพิเศษ เพื่อคุ้มครองเยาวชนและความสัมพันธ์ในครอบครัวไว้โดยเฉพาะ เช่นมาตรการไกล่เกลี่ยเพื่อให้มีการพัฒนาสัมพันธภาพในครอบครัวให้ดีกว่าการนำคดีมาฟ้องร้องกัน หรือการที่ศาลมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริงที่จำเป็นเพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์ของเยาวชน เป็นต้น

ดังนั้น การแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการสร้างความเป็นธรรมในสังคม การเข้าถึงความยุติธรรม โดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมของศาลยุติธรรม ที่มีจุดมุ่งหมายในการอำนวยความสะดวกแก่อิสลามศาสนิกวิธีหนึ่ง ผู้เขียนหวังว่าศาลยุติธรรมจะมีส่วนในการลดความขัดแย้ง สร้างความเสมอภาค ความยุติธรรม และการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันจะเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งนำมาสู่ความสงบสุขและสันติภาพอย่างถาวร

สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น