xs
xsm
sm
md
lg

ชงร่างพรบ.สภาที่ปรึกษาศก. เสนอให้กก.สรรหาโดยตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30ส.ค.) นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็น และข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มีความเห็น และข้อเสนอแนะ 2 ประเด็น คือ
1. ประเด็นเกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีความเห็นว่า การให้ประธาน กกต. เป็นประธานกรรมการสรรหา มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง และสามารถป้องกันการเกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกันได้ ขณะเดียวกัน คปก. เห็นว่าควรกำหนดให้เฉพาะปลัดกระทรวงในกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมี 4 กระทรวง เท่านั้น ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง แทนการประชุมคัดเลือกกันเอง เพื่อลดขั้นตอน และทำให้เกิดหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เห็นว่า ควรลดสัดส่วนกรรมการสรรหาในส่วนของอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา ให้เหลือตัวแทนเพียง 2 คน ได้แก่ อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนทุกแห่งคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เพื่อให้เกิดความกะทัดรัด และคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ และควรกำหนดให้ใช้วิธีการเลือกกันเองเพื่อให้ได้เป็นกรรมการสรรหาในทุกกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มตัวแทนปลัดกระทรวง กลุ่มตัวแทนอธิการบดี ของสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มตัวแทนประธานสหภาพแรงงาน กลุ่มตัวแทนประธานสภาองค์กรลูกจ้าง กลุ่มตัวแทนสภาองค์กรนายจ้าง กลุ่มตัวแทนองค์กรเอกชน และ กลุ่มตัวแทนองค์กรสื่อมวลชน ให้เป็นไปในวิธีเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยการประชุม เพื่อเลือกกันเอง การเลือกทางไปรษณีย์ หรือ วิธีการอื่นใดตามที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติจะกำหนด
2. ประเด็นเกี่ยวกับวิธีการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามกฎหมายปัจจุบัน มีประเด็นในเรื่องการที่สมาชิกแต่ละคน ลงคะแนนเหมือนกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ (block vote) และจากการรับฟังความคิดเห็น พบว่า ในการเลือกตัวแทนแต่ละกลุ่ม มีการให้อามิสสินจ้างตอบแทนเพื่อให้เลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น กระบวนการสรรหาที่ผ่านมาจึงไม่โปร่งใสและไม่สุจริต จึงควรแก้ไขวิธีการสรรหา โดยการกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้โดยตรง จำนวน 99 คน
อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการกรณีที่ ร่าง พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ไม่สามารถตราเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทันการสรรหาสมาชิก สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดต่อไปได้ คปก. เห็นว่าควร ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเร่งรัดการตรา พ.ร.บ. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว โดยให้มีช่วงระยะเวลาดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามกฎหมายใหม่ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนวาระการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลง เพื่อให้สมาชิกที่จะได้รับแต่งตั้งใหม่ สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะดำเนินการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยเกี่ยวกับองค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น