ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความเดือดร้อนของกลุ่มผู้บริโภคนับร้อยนับพันรายที่ต้องตกระกำลำบากเหมือนถูกลอยแพจากความไม่รับผิดชอบของ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือซีเอว้าว /CA WOW กับการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ถึงขั้นปิดบริการสาขาไปแล้วกับปัญหาที่รุมเร้าต่อเนื่องและสะสมมานานทั้ง 8 สาขาในกรุงเทพฯ
ไม่น่าเชื่อว่า ครั้งหนึ่ง ซีเอ ว้าว เคยเป็นผู้นำในตลาดฟิตเนสเมืองไทย ทั้งด้านจำนวนสาขา จำนวนสมาชิก และแบรนด์เนมที่ดูดี แต่ปัจจุบันภาพเหล่านั้นกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว
เมื่อสถานภาพของบริษัทง่อนแง่นเต็มทน ทั้งการถูกสั่งฟ้องล้มละลาย ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพ ยื่นฟ้องบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ ต่อศาลล้มละลายกลาง ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ตามสัญญา จำนวนเงินกว่า 71ล้านบาท และดอกเบี้ยอีกเกือบ 4 ล้านบาท รวม 75 ล้านบาท ขณะที่นายสุรศักดิ์ กองปัญญา กรรมการบริษัท เปิดเผยว่ากำลังเร่งฟื้นฟูกิจการ
รวมทั้งการไม่จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆให้กับเจ้าของพื้นที่อาคารต่างๆที่เปิดสาขาอยู่ ถึงขั้นต้องปิดบริการทุกสาขาที่ตั้งอยู่ในเครือข่ายของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป เช่น สาขาเอกมัย เอสพลานาด เป็นต้น เนื่องจากว่าเมเจอร์ฯ คงทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้ลูกห้องเปิดบริการโดยที่ไม่จ่ายค่าน้ำค่าไฟเลย
ถึงขั้นที่ซีเอว้าว ประกาศที่จะฟ้องร้องค่าเสียหายจากทางเมเจอร์ฯด้วย
จริงๆ แล้วเมเจอร์ฯก็เคยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในซีเอว้าวเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าจะรู้ดีถึงปัญหาของซีเอว้าว จึงได้ถอนตัวออกมาก่อนที่จะสายเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อบาปครั้งนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อยกัน
เพราะดูเหมือนเหยื่อเหล่านี้จะไม่มีที่พึ่ง จะมีก็เพียงแค่การออกมาโวยวายผ่านทางสื่อออนไลน์เท่านั้นเอง
สมาชิกของแคลิฟอร์เนีย ว้าว รายหนึ่ง กล่าวว่า เป็นสมาชิกที่ซีเอ ว้าว มานานกว่า 7 ปีแล้ว จะใช้บริการสาขาสุขุมวิทเป็นประจำ แต่พบว่ามีปัญหามาตลอด เช่น การบริการที่ลดลงสิ่งของลงตลอดก่อนนี้มีครีมอาบน้ำ แต่ช่วงหลังก็ไม่มีแล้ว ปัญหาพวกให้ซื้อคอร์ส พอขายเสร็จได้ค่าคอมพ์แล้วก็ไม่รับผิดชอบ โยนให้คนอื่นดูต่อ อุปกรณ์ก็ไม่ค่อยพอใช้ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้มีผู้แทนของเหยื่อซีเอ ว้าว มายื่นเรื่องเดือดร้อน 10 ข้อ ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พิจารณา โดยมีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการ สคบ.รับเรื่อง
สำหรับข้อเดือดร้อนดังกล่าวคือ ฟิตเนสชื่อดังแห่งนี้คิดค่าสมาชิกตลอดชีพ หรือรายปี แต่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม อ้างว่าใช้บริการได้หลายสาขา โดยใช้พื้นที่ต่อเนื่องกับบริษัทโรงหนังที่มีชื่อเสียง และมีสาขามากมาย นอกจากนี้ มีการปิดกิจการโดยไม่แจ้ง และหลอกลวงว่าให้บริการโยคะร้อน แต่ใช้บริการไม่ได้จริง เป็นต้น
ด้าน สคบ.รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และพร้อมดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ขณะนี้ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ช่วยสอบสวน ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับคำตัดสินของศาลล้มละลาย ที่ผู้ประกอบการยื่นขอฟื้นฟูกิจการไว้ด้วย
ล่าสุด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้กับเหยื่อเหล่านี้ด้วย
นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้เปิดรับเรื่องราวร้องเรียนจากผู้บริโภค เกี่ยวกับปัญหาของสถานออกกำลังกาย ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2555 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 พบว่า มีผู้มาร้องเรียนแล้ว 64 ราย และเป็นการร้องเรียน กับ บ. แคลิฟอร์เนีย ว้าว จำกัด จำนวนมากที่สุดถึง 58 ราย ลักษณะปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากเป็น
อันดับ 1 ได้แก่ การปิดบริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า 58 ราย , รองลงมาเป็น เรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม/บอกเลิกไม่ได้ จำนวน 4 ราย ท้ายสุดเรื่องมาตรฐานบริการ 2 ราย ซึ่งทางศูนย์ฯจะเปิดรับเรืองร้องเรียนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
นางสาวสวนีย์ กล่าวด้วยว่า มีทางอก 2 แนวทางคือ 1.เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันสถานออกกำลังกายนี้มีปัญหาอย่างไรบ้าง สถานภาพเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของผู้บริโภคในการที่จะเข้าทำสัญญา หรือสูญเสียค่าใช้จ่ายที่เกินควร หรือไม่จำเป็น
2.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะ รวบรวม รายชื่อ ผู้เดือดร้อน จากเหตุการณ์ดังกล่าว จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 เพื่อหาทางดำเนินการแก้ไขปัญหา และติดตามการทำงานของทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา ให้รวดเร็วที่สุด
ส่วนผู้บริโภคที่ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสมาชิก แล้วยังต้องผ่อนชำระต่อเนื่องนั้น ต้องยกเลิกสัญญาโดยทำจดหมายแจ้งไปที่กรรมการผู้จัดการของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต เพื่อขอความอนุเคราะห์ระงับการจ่ายเนื่องจากไม่สามารถใช้บริการสถานออกกำลังกายดังกล่าวได้ผู้บริโภคมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา เมื่อไม่สามารถใช้บริการได้ตามเงินที่ชำระไป เพราะสัญญาบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ด้วย แต่ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร และลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับด้วย
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ จะรวบรวมผู้เดือดร้อนจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมเพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ในสัปดาห์หน้า ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม หากศาลฯ มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้ ขอให้ผู้บริโภคยื่นขอรับชำระหนี้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ทำแผนฟื้นฟู แต่หากศาลไม่อนุญาตสามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงทางออกเป็นข้อเสนอทางด้านกฎหมายไว้ด้วยว่า 1.ในปัจจุบัน บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นจึงมีข้อยกเว้นคือ ห้ามฟ้องคดีต่อศาล แต่ ผู้บริโภคต้องมีความระมัดระวังในการเข้าทำสัญญาและจ่ายเงิน
2.หลังจากทราบผลการพิจารณาจากศาลแล้ว ซึ่งมีอยู่ 2ทาง คือ 2.1ยื่นขอรับชำระหนี้กับทางผู้ประกอบการรายใหม่ที่ทำแผนฟื้นฟู 2.2 ยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค ถ้าไม่อนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ
ทว่า ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหากับผู้บริโภคที่ต้องการฟิตแอนด์เฟิร์ม เท่านั้น แม้แต่กับพนักงานก็ไม่ละเว้น เพราะเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา มีตัวแทนของกลุ่มครูผู้สอนฟิตเนส "แคลิฟอร์เนีย ว้าว" รวม 8 สาขาทั่วกรุงเทพฯ จำนวนประมาณ 20 คน ก็ได้เดินทางไปที่สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนและขอความช่วยเหลือ กรณีบริษัทไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย
โดยข้อมูลระบุว่า ทางซีเอว้าว เริ่มออกลายมาตั้งแต่ต้นปี 2555 แล้ว ที่เริ่มจ่ายค่าจ้างล่าช้าออกบ้างไม่ออกบ้าง โดยทั้งหมดมีพนักงานเกือบ 1,000 คน และมีสมาชิกมากกว่า 170,000 คน
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดี กสร. กล่าวว่า กสร.เคยเชิญนายจ้างมาชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มาตามนัด จึงจะเรียกมาชี้แจงอีกเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่มาจะทำการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ จะเรียกนายจ้างมาพบและจะวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน