xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อประธานธนาคารกลางเป็นปัญหา ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง,สุวินัย ภรณวลัย

หลักการแนวคิดเรื่องเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงิน
ของประธานฯ วีรพงษ์ช่างน่าฉงนเป็นอย่างยิ่ง


วีรพงษ์ รามางกูรในฐานะประธานธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์อย่างออกหน้าออกตาว่าไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน

เหตุที่วีรพงษ์ไม่เห็นด้วยก็เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและเปิด การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูงและไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาได้เองทำให้ราคาสินค้าภายในเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าจากภายนอกประเทศ ประกอบกับเมื่อมีการเปิดการค้าเสรีมากขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลัก เช่น พลังงานและวัตถุดิบจึงถูกกำหนดราคาจากตลาดโลก

เมื่อสภาพข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้ว วีรพงษ์จึงเห็นว่า เป้าหมายนโยบายการเงินที่มุ่งควบคุมเงินเฟ้อจึงควรเปลี่ยนเป็นเป้าหมายอื่น เช่น เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยเงินเป็นปัจจัยขับเคลื่อน หรือที่เรียกอย่างโก้ตามสำนวนวีรพงษ์ว่า “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีส่วนร่วมของนโยบายการเงิน (financial inclusive growth)”

ฟังดูแล้วหรูดีเพราะคล้ายกับเป็นการเสนอมุมมองใหม่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อมาแทนที่ของเก่า จะเป็น “การคิดใหม่ทำใหม่” สร้างหนี้และความเสียหายดังเช่นที่ทักษิโณมิกส์ได้กระทำกับประเทศไทยผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ เพื่อหวังผลเข้าสู่อำนาจทางการเมืองมาก่อนหน้านี้หรือไม่

โดยหลัก เงินเฟ้อมาจาก 3 เหตุคือ (1) ด้านอุปสงค์ที่มักจะเกิดจากมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อจึงเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถผลิตสินค้าสนองตอบในระยะสั้นต่อกำลังซื้อที่เพิ่มนี้ได้ทัน เช่น โครงการรถคันแรกที่รัฐบาลคืนเงินภาษีกลับไปให้ผู้ซื้อเป็นหมื่น (2) ด้านอุปทานจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาปัจจัยการผลิต เช่น น้ำมัน ค่าจ้าง วัตถุดิบอื่นๆแพงขึ้น และ (3) การคาดการณ์ที่อาจมาจากการคาดคะเนโดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงราคาในอดีตหรือการมองไปในอนาคตเป็นข้อมูลในการคาดการณ์ แต่ไม่ว่าจะมาจากทางใดหากคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้น ผู้บริโภคก็อาจจะเร่งการซื้อสินค้าในปัจจุบันจนทำให้สินค้าจากไม่แพงไม่ขาดตลาดมาเป็นแพงและขาดตลาด ในขณะที่ผู้ผลิตก็ชิงขึ้นราคาสินค้า หรือแรงงานก็จะกดดันขอขึ้นราคาค่าจ้าง ทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อกลายเป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด

หากเงินเฟ้อมีที่มาจากเหตุที่ 2 นโยบายการเงินจะใช้ไม่ได้ผลในการควบคุมเงินเฟ้อและเป็นไปตามที่วีรพงษ์อ้าง

แต่ข้อเท็จจริงตามภาพที่ 1 ไม่สนับสนุนข้ออ้างของวีรพงษ์แต่อย่างใดเพราะในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อจากอุปทานที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดคิด หรือ supply shock ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมักจะมีผลต่อเงินเฟ้อในช่วงสั้นๆ เช่น วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 หรือ 2 ในช่วงปี 1973 หรือ1979 แต่ที่ปรากฏชัดก็คือแม้ไม่มี supply shock เงินเฟ้อก็ยังมีอยู่ แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อเหตุที่ 1 และ 3 ก็ยังเป็นเหตุอยู่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรเงาที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง
<b>โชติมา, วราภรณ์ และอธิพงษ์ (2555), “นโยบายการเงินและการดูแลเงินเฟ้อ”, เอกสารธปท. DP/01/2012</b>
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนการผลิต (เหตุที่ 2) แต่เพียงลำพังโดยไม่มีกำลังซื้อสนับสนุนนั้นยากที่จะ “เฟ้อ-คงทน” หรือมี inflation persistence ได้นาน ในทางตรงกันข้ามเงินเฟ้อจากอุปสงค์ (เหตุที่ 1) จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้นานมากกว่าหากกำลังการผลิตไม่สามารถขยายตัวตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ทัน ยิ่งปล่อยไว้นานเงินเฟ้อจากเหตุที่ 3 อันแสดงโดยวัฏจักรของการเพิ่มขึ้นในราคาและค่าจ้างสลับไปมาก็จะติดตามมาสมทบ

การแก้ไขเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงินจากเหตุที่ 1 และ 3 จึงมีความจำเป็นมิเช่นนั้นระบบเศรษฐกิจก็จะไร้ซึ่งเสถียรภาพ การลดความต้องการโดยใช้การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นแนวนโยบายที่ถูกนำมาใช้อันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพาตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นหลักในการระดมเงินออมและจัดสรรเงินทุน

อัตราดอกเบี้ยจึงเป็นช่องทางในการส่งผ่านผลของนโยบายการเงิน (transmission mechanism) ที่สำคัญของธนาคารกลางไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (real sector) ผ่านทางธนาคารพาณิชย์อย่างเหมาะสมถูกต้อง มิใช่เป็นเรื่องที่ “ทำไปตามแฟชั่นหรือหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้” ตามที่วีรพงษ์กล่าวอ้าง

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่วีรพงษ์ควรรู้ไว้ก็คือดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยนั้นสินค้าส่วนใหญ่จะเป็น “สินค้าที่ไม่สามารถส่งออกนำเข้าได้” หรือ non-tradable เช่น ที่ดิน หรือแรงงาน ดังนั้นเงินเฟ้อจึงน่าจะถูกกำหนดมาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าต่างประเทศและยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศเป็นสำคัญ

ข้อเสนอในเชิงนโยบายการเงินเมื่อเกิดปัญหาเงินเฟ้อของวีรพงษ์ ที่ “สนับสนุนให้มีการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน ดอกเบี้ยควรลดต่ำลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น” นี้ต่างหากที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเสนอเช่นนี้แล้วจะแก้เงินเฟ้อได้อย่างไร

เมื่อเป็นดังนี้ แนวคิดเชิงนโยบายของวีรพงษ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายนโยบายการเงินจึงตั้งอยู่บนหลักการทั้งเชิงทฤษฎีและข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง

ปัญหาของวีรพงษ์ผู้เป็นประธานธนาคารแห่งประเทศไทย จึงกลายเป็นว่า ไม่รู้ว่าด้อยซึ่งความรู้ความสามารถประสบการณ์หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้กันแน่ ช่างน่าฉงนยิ่งนัก

คณะกรรมการที่คัดเลือกมาตาม ม.28/2 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะชี้แจงต่อสาธารณชนว่าวีรพงษ์ผู้นี้มีความรู้ประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ประธานธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น