xs
xsm
sm
md
lg

ไล่ลม คว้าเงา

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

       รัฐบาลนี้กำลังแก้ของอย่างแพงดั่งเช่น ไล่ลม คว้าเงา

รัฐบาล “หุ่นโชว์” กำลังแสดงตัวตนว่าไม่รู้จักและไม่มีความรู้เกี่ยวกับเงินเฟ้อแม้แต่น้อย เพราะจากการกระทำที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ไม่รู้ว่าเงินเฟ้อไม่เฟ้อดูที่ใดขณะที่การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างไร้สาระไม่มีทิศทางหรือแก่นสารดุจดั่ง กำลังไล่ลมคว้าเงา ไม่รู้ว่าจะจับต้องได้อย่างไร

นายกฯ หุ่นโชว์แก้ปัญหาของแพงด้วยอารมณ์และความรู้สึก บอกว่า “ของแพงเพราะประชาชนรู้สึกไปเอง” หลังจากที่พูดจาไร้สาระเกี่ยวกับของแพงโดยอ้างตั้งแต่ เรื่องน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแถมชักแม่น้ำทั้งห้าสิบสายในโลกมาอ้างอีก โดยล่าสุดกล่าวว่า เป็นเพราะประชาชนรู้สึกว่าเงินในกระเป๋ามีน้อยลงเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายมากในช่วงหน้าเปิดเทอม หากเป็นช่วงรับเงินโบนัสในช่วงปลายปีก็จะรู้สึกว่าของไม่แพงเพราะมีเงินในกระเป๋าเยอะ

คงต้องกล่าวสอนหนังสือนายกฯ หุ่นโชว์นางนี้และรัฐมนตรีให้รู้จักหน้าตาของเงินเฟ้อดูบ้างว่า เงินเฟ้อนั้นเป็น ภาวะสินค้าหรือบริการมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็วเขาเรียกว่า เงินเฟ้อ มีสาเหตุหลักมาจากระบบเศรษฐกิจมีเงินมากกว่าสินค้าที่มีอยู่ ดังนั้นสินค้าจำนวนเท่าเดิม เช่น รถ 1 คันจึงต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นกว่าก่อนมีเงินเฟ้อเพื่อซื้อหามา

ภาวะ “แพง” ทั้งแผ่นดิน หรือเงินเฟ้อ จึงเป็นผลมาจากเรื่องของ เงิน เป็นสาเหตุสำคัญ หาได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่นายกฯ หุ่นโชว์นางนี้อ้างแต่อย่างใดไม่

ยิ่งคนมีเงิน (ที่มิใช่รายได้) ในมือมากขึ้นเท่าใด เงินเฟ้อยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะคนมีพฤติกรรมที่จะถือเงินในจำนวนที่คงที่ เช่น ร้อยละ 10 ของรายได้ หากได้รับเงินมามากขึ้น เช่น จากนโยบายประชานิยมที่มุ่งเพิ่มเงินในกระเป๋า ก็จะพยายามขจัดเงินส่วนเกินความต้องการถือเงินที่มีอยู่ออกไปโดยเปลี่ยนเงินเป็นสินค้าแทน เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่อยากถือเงินเพิ่มจึงหันไปถือสินค้าแทนมากกว่าเดิม ราคาสินค้าก็จะแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเนื่องจากการเพิ่มปริมาณการผลิตทำได้ไม่ทันความต้องการเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

ปริมาณเงินในกระเป๋ากับอำนาจซื้อของเงินที่ถูกบั่นทอนด้วยเงินเฟ้อจึงมักสวนทางกันอยู่เสมอ ยิ่งมีเงินในกระเป๋ามากโอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มขึ้น หาได้น้อยลงไปตามตรรกะที่อ้างอย่างไร้หลักการข้างต้นของนายกฯ หุ่นโชว์นางนี้แต่อย่างใดไม่

เงินเฟ้อเป็นเรื่องของภาพกว้าง มิได้เจาะจงในสินค้าใด หากแต่หมายถึงสินค้าและบริการโดยรวมทุกๆ ชนิดในระบบเศรษฐกิจ การมองหาเงินเฟ้อจึงต้องใช้ดัชนีหรือตัวเลขร้อยละของการเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้าบริการโดยรวมเป็นเครื่องชี้วัด

หากไม่ใช้ความรู้สึก ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาที่ทำโดยทางราชการชี้ให้เห็นว่าในช่วงปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงราคา (โดยรวม) ยกเว้นแต่ราคาอาหารและพลังงานที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่สะท้อนให้เห็นถึงราคาสินค้าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายระหว่างปี พ.ศ. 2552 ถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.3 (2552) 0.97 (2553) 2.36 (2554) และ 2.58 (ม.ค.-เม.ษ. 2555) ในขณะที่ราคาอาหารสดและพลังงานเพิ่มในช่วงเวลาเดียวกันดังนี้คือ ร้อยละ -1.4 (2552) 10.1 (2553) 7.6 (2554) และ 4.6 (ม.ค.-เม.ษ. 2555)

เห็นได้ชัดว่าราคาในช่วงรัฐบาล “หุ่นโชว์” นี้ราคาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แค่ 4 เดือนแรกของปีนี้ยังมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมาทุกปีทั้งๆ ที่ราคาอาหารและน้ำมันมีแนวโน้มของราคาลดลงจากปี 2553 เป็นต้นมา ถ้าจะพูดถึงความรู้สึก ประชาชนมี “ความรู้สึก” กับราคาสินค้า “ดีและถูกต้อง” กว่านายกฯ หุ่นโชว์นางนี้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเสียอีก

เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นเรื่องของราคาสินค้าโดยรวม มิได้เฉพาะเจาะจงในสินค้าบริการใด การจะมองหาเงินเฟ้อจึงไม่สามารถลงไปดูที่ตลาดใดตลาดหนึ่งในลักษณะของรายชนิด/กลุ่มของสินค้าได้

การมองหาเงินเฟ้อของนายกฯ หุ่นโชว์และรัฐมนตรีที่ผ่านมาจึงเฉกเช่นการ “ไล่ลม คว้าเงา” เพราะสินค้าบริการในระบบเศรษฐกิจที่รวมกันเป็น “ราคาสินค้าโดยรวม” มีมากมายเกินกว่าที่จะดูได้ด้วยตาเปล่าหรือชมตลาดใดได้แต่เพียงลำพัง ต้องอาศัยเครื่องมือคือดัชนีราคาข้างต้นจึงจะบอกได้ว่ามีเงินเฟ้อหรือไม่และมีอยู่ที่สินค้าบริการใด แต่จะมีรัฐมนตรีสักกี่คนที่อ่านตัวเลขเฟ้อข้างต้นได้อย่างเข้าใจแตกฉานสมเป็นรัฐมนตรีบ้าง?

สิ่งที่นายกฯ หุ่นโชว์นางนี้มิได้สำเหนียกเพราะอาจไม่รู้หรือรู้แล้วไม่กล้าบอกก็คือ สินค้าราคาแพง หรือเงินเฟ้อ มีสาเหตุมาจากปริมาณเงินและการคาดคะเนในเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง อันเป็นผลมาจากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลนี้พยายามชี้นำและเพิ่มเงินในกระเป๋าทุกวิถีทางต่างหาก

การแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รับประกันว่ามีรัฐมนตรีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะรู้ว่าคืออะไรเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร แต่การเป็นพระยาน้อยชมตลาดของนายกฯ หุ่นโชว์และรัฐมนตรีหรือการควบคุมราคาสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเป็นเรื่องของจุลภาคใช้เพื่อสร้างภาพซึ่งจะสำเร็จแก้ปัญหาเงินเฟ้อไปได้อย่างไรเพราะแก้ไม่ถูกจุด

องค์ความรู้เรื่องเงินเฟ้อ เขารู้กันมาหลายร้อยปีแล้วว่าเกิดจาก เงินมีมากกว่าสินค้า ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ เงิน ต้องมองไปที่รัฐมนตรีคลังหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรมเพื่อหาผู้รับผิดชอบตัวจริงเพราะเงินเฟ้อเป็นเรื่อง “แพง” ทั้งแผ่นดิน มิใช่แพงเฉพาะสินค้าใดสินค้าหนึ่งและเกิดจาก เงิน ที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือเกษตรฯ หรือแม้แต่รัฐมนตรีพลังงาน

ทั้งลูกน้องซึ่งก็คือข้าราชการและนายคือนักการเมืองจึงแสดงความไม่รู้ในเรื่องเงินเฟ้อออกมาอย่างชัดเจนในการ “ไล่ลม คว้าเงา” หาของแพงและแก้ของแพงด้วยวิธีแทรกแซงกลไกตลาด เช่น โครงการธงฟ้า

ในทางตรงกันข้ามรัฐบาล “หุ่นโชว์” กลับแทรกแซงการทำงานของผู้มีอำนาจในการเพิ่ม/ลดปริมาณเงินนั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างเงียบๆทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการเพื่อเข้าควบคุมการทำหน้าที่ควบคุมเพิ่ม/ลดปริมาณเงิน

อย่าลืมว่าคำมั่นสัญญาที่ดีที่สุดที่จะไม่ขโมยขนมในขวดโหลกินก็คือ การนำเอาโหลขนมไปให้คนอื่นดูแลรักษาอย่างมีอิสระจากอำนาจตนเอง การรักษาเงินเฟ้อก็เช่นกัน จะมีใครไว้วางใจว่าเงินจะไม่เฟ้อบ้างหากรัฐบาลยังคงไว้ซึ่งอำนาจควบคุมการเพิ่มลดปริมาณเงินตามใจชอบ

ตัวอย่างของการออกมาวิจารณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน การบังคับโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระแทน หรือการเอาคนของตนเองที่มัวหมองมีมลทินทางการเงินมาเป็นกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่ตัวผู้สมัครประธานฯ ที่มาจากการเสนอชื่อของฝ่ายการเมืองก็มีมลทินจากกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การก็ดี ล้วนเป็นเครื่องชี้ของความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของผู้มีอำนาจในการดูแลเงินเฟ้อทั้งสิ้น

ดูไปแล้วช่างน่าอดสูใจเป็นยิ่งนักกับการ “ไล่ลม คว้าเงา” ของนักการเมืองในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น