xs
xsm
sm
md
lg

หนี้สูญทางการศึกษาของชาติ (NPE)

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

และแล้วสภาตรายางก็ผ่านฉลุยซึ่งงบประมาณชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นงบขาดดุล (มีงบสูงกว่าภาษีที่เก็บได้) ทำให้ต้องไปกู้เงินมาเสริมรายจ่าย

โดยรัฐอ้างว่าการกู้ยังสามารถทำได้สบายๆ เพราะว่ายอดเงินกู้ของเรายังมีเพียงประมาณ ๔๐% ของรายได้มวลรวมประชาชาชาติเท่านั้น (จีดีพี) ซึ่งโดยหลักการทั่วๆ ไปในโลกเขาถือว่าสามารถกู้ถึงประมาณ ๕๐% ของจีดีพี แต่ผู้เขียนเห็นว่าเราจะเอามาตรฐานนั้นมาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะว่าประเทศไทยเราเก็บภาษีได้ต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี โดยเราเก็บได้น้อยเกือบที่สุดในโลกและน้อยกว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า

ในขณะเดียวกันประเทศไทยเราใช้ร้อยละของงบประมาณในด้านการศึกษาสูงมาก (ที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป) แต่คุณภาพการศึกษาของเรากลับต่ำมาก (อาจต่ำที่สุดในโลก) ผู้เขียนได้ไปค้นข้อมูลแล้วเอามาประมวลเป็นตารางเปรียบเทียบให้เห็นดังนี้

ปกติเราเก็บภาษีได้เท่าจีนคือประมาณ 17% ของจีดีพี แต่พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลดภาษีให้คนมีเงิน (นายทุน-นิติบุคคล) จาก 30 เหลือ 20% รายได้ก็ลดจาก 17 เหลือ 15 เท่านั้น สำหรับหนี้สาธารณะของเราที่ว่าน้อย (เพียง 41.7% จีดีพี) แต่จากตารางในแถวตั้งที่สี่จะเห็นว่าสูงมากที่สุด

ถ้าดูเพียงตัวเลขดิบจะเห็นว่าฝรั่งเศสมีหนี้ 86.2% ซึ่งมากกว่าเราสองเท่ากว่า แต่เขาเก็บภาษีได้มากกว่าเรา 3 เท่า (44.6%) ดังนั้นเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของหนี้ต่อรายได้แล้ว เขามีหนี้น้อยกว่าเรานะ (ดูแถวตั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการเอาแถวตั้ง 3 หารด้วยแถวตั้ง 2 ) จะเห็นได้ว่า เรามีหนี้ 2.74 แต่ฝรั่งเศสมีเพียง 1.93

ชัดไหมว่าไทยเรามีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงที่น่ากลัวอันตรายมาก จึงขอให้เลิกอ้างกันเสียทีว่าไทยเรายังมีหนี้น้อยเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี ที่ถูกต้องคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ ไม่ใช่คิดเทียบกับจีดีพี

ต่อมา...หันมาดูงบการศึกษากันบ้าง... ปี ๒๕๕๖ มีแผนจะใช้ 6 แสนกว่าล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.1 ของงบประมาณชาติทั้งหมด จะเห็นว่าเมื่อคิดเป็นร้อยละของงบประมาณแล้ว ประเทศไทยเราใช้งบการศึกษาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ประมาณ 2 เท่า! ทั้งที่ประเทศพวกนี้เขารวยกว่าเรา และให้ความสำคัญด้านการศึกษามากกว่าเรา

มันเป็นตัวเลขที่น่าตกใจและน่าสลดใจพร้อมกันไป เพราะเราใช้งบสูงมากแบบนี้มานับสิบปีแล้ว แต่ทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในวงการนักการศึกษาทั่วไป

ยิ่งตอนนี้ในระบบประถมและมัธยม มีระบบการสอนแบบ “ใบงาน” ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปการสอนตามระบบการสอน “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ก็จะยิ่งไปกันใหญ่เพราะขณะนี้นักเรียนจบม.ปลายมามีความรู้ต่ำกว่าก่อนที่ใช้ระบบการสอนแบบ “ครูเป็นศูนย์กลาง” มาก

ยิ่งปีนี้จะเริ่มแจก “แท็บเล็ต” ให้เด็กป. ๑ อีก ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากไปอีกเป็นทวีคูณ อ่านให้ดีๆ ออกเสียงได้ว่า แท็บ-เล็ด (คือน้ำตาแทบเล็ดด้วยความช้ำใจของคนไทยผู้มีปัญญาทั้งชาติ)

เรื่องระบบวิธีการสอนที่ขาดประสิทธิภาพก็เป็นประเด็นหนึ่ง อีกประเด็นหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องการ “โกงกิน” ทำให้งบประมาณไม่ตกลงไปสู่การพัฒนาการศึกษาอย่างเต็มที่ เงินงบฯ ถูกโกงไปเท่าไร น่าจะมีการศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจังเสียที

จะขอยกตัวอย่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลียที่มีงบการศึกษาเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเรามาก (15 และ 13.3%) แต่ระบบการศึกษาเขาดีมาก ชั้นเรียนมีนักเรียนเพียง 15 คนโดยเฉลี่ย ทำให้ครูมีการดูแลนักเรียนได้เป็นอย่างดี (ของเราชั้นเรียนประมาณ 50 คน) อีกทั้งการสอนเขาก็ยังสอนแบบ “โบราณ” ที่ “ครูเป็นศูนย์กลาง” ไม่ “ทันสมัย” แบบเราที่เอานักเรียนเป็นศูนย์กลางไปโน่น (บางท่านล้อว่าเป็นระบบ “ควายเซ็นเตอร์)

แต่ปรากฏว่าองค์การสหประชาชาติจัดอันดับให้สองประเทศนี้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ส่วนไทยอยู่อันดับ 71 (อ้างอิง http://en.wikipedia.org/wiki/Education_Index)

มันน่าจะถึงเวลาระบบการศึกษาประหารได้แล้ว...เอารถถังไปยึดกระทรวงศึกษาฯ ก่อนเป็นอันดับแรกดีไหม?

หนี้ก็มากที่สุดในโลก การศึกษาก็ล้มเหลวเกือบสิ้นเชิงทั้งที่กู้เงินมาใช้จ่ายกันมาก (หนี้ส่วนหนึ่งก็ปันมาเป็นงบการศึกษาด้วย) แล้วจะมีปัญญาใช้หนี้กันหมดไหมหนอ เพราะการจะหาเงินมาใช้หนี้เขาได้นั้น ประชาชนในประเทศต้องมีความรู้และปัญญาที่ดีจากระบบการศึกษาที่ดี

เมื่อก่อนเรามีคำว่า NPL (non-performing loan) แต่วันนี้ผู้เขียนอยากขอเรียกระบบการศึกษาไทยว่า NPE (non-performing education)
กำลังโหลดความคิดเห็น