xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ทำแผนบุกAEC ชู8สินค้ายึดตลาดอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “พาณิชย์” ชู 8 กลุ่มสินค้ารุกตลาด AEC สั่งทำแผนการขายสินค้า เป็นฐานการผลิตและการลงทุน พร้อมปรับกำลังคนรองรับเน้นภารกิจเป็นรายสินค้าและบริการ ก่อนชง “ปู”ไฟเขียว 24 ส.ค.นี้

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ว่า ได้มีการกำหนดสินค้าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันเข้าสู่ตลาดAEC จำนวน 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ท่องเที่ยว สุขภาพและความงาม วัสดุก่อสร้าง แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง และเครื่องจักรกลเนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถ และควรที่จะผลักดันให้ใช้ประโยชน์จาก AEC เป็นฐานการผลิต การค้า และการลงทุน

“จะใช้สินค้าเป็นตัวตั้ง แล้วมาดูว่า ไทยจะใช้โอกาสจาก AEC ในการเป็นตลาดส่งออก เป็นฐานการผลิต หรือเข้าไปลงทุนได้อย่างไร ในฐานะที่อาเซียนเป็นตลาดเดียวกัน โดยให้ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันจัดทำแผนในการบุกตลาด AEC”นายยรรยงกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าอาหาร หลายๆ รายการ ไทยต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ก็ต้องมีแผนว่าไทยจะใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนวัตดุดิบให้ไทยได้มากน้อยแค่ไหน จะไปลงทุนผลิตในประเทศใด หรือกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน ก็ต้องมองหาวัตถุดิบจากอาเซียนอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทย หรือสิ่งทอ ไทยและอินโดนีเซียมีความเข้มแข็งในการผลิตสินค้าต้นน้ำ คือ เส้นใย ก็ต้องช่วยกันผลิต อย่าแข่งกันเอง และประเทศกลุ่ม CLMV มีความได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงาน และการตัดเย็บ ก็ต้องหาแนวทางความร่วมมือในการเข้าไปตัดเย็บ ส่วนไทยก็อาจต้องปรับมาผลิตสินค้าไฮเอ็นหรือสินค้าแฟชั่นเพื่อจับตลาดบนแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน

นายยรรยงกล่าวว่า กระทรวงฯ ยังได้เตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เพื่อรองรับ AEC โดยจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ในวันที่ 17 ส.ค.2555 ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธาน จากนั้นจะเสนอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมวันที่ 24 ส.ค.2555 ต่อไป

แนวทางในการพัฒนาความพร้อมด้านกำลังคนของกระทรวงพาณิชย์ มี 2 แนวทาง คือ กำลังคนส่วนแรกจะเป็นผู้จัดทำนโยบาย แผนงาน และยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนสู่ AEC โดยมีกลุ่มสินค้าและบริการเป็นเป้าหมาย และอีกส่วนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนตามนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ได้กำหนดกำหนดยุทธศาสตร์ในสินค้าและบริการ ดังนี้ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม การศึกษา ก่อสร้าง โลจิสติกส์ ให้กรมส่งเสริมการส่งออกรับผิดชอบในเรื่องนโยบาย แผนงาน และกำลังคน ธุรกิจคนต่างด้าว ระบบSingle Point สำหรับบริการนักธุรกิจ ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชอบ การค้าชายแดน ให้กรมการค้าต่างประเทศและสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันรับผิดชอบ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง และธงฟ้า ให้กรมการค้าภายในรับผิดชอบ หน่วยธุรกิจสร้างสรรค์ ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับผิดชอบ

“การปรับแผนในการเข้าสู่ AEC ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นแนวทางที่ยึดกลุ่มสินค้าและบริการเป็นหลัก โดยมองว่าเป็นกลุ่มที่ไทยแข็งแกร่ง และแข่งขันได้ และจะใช้ประโยชน์จาก AEC ได้ เราจะไม่มองว่า สินค้านั้น สินค้านี้ เราแข่งไม่ได้ เราจะต้องปรับตัวอย่างไร เพราะมันเลยขั้นนั้นมาแล้ว เราต้องมองว่า ถ้า AEC มา เราจะร่วมมือกับอาเซียนอื่นๆ ในการใช้ประโยชน์จาก AECได้อย่างไร โดยหากใช้วิธีการนี้ เชื่อว่า เป้าหมายที่จะผลักดันให้การค้าในอาเซียนเติบโตปีละ 20% คงทำได้ และน่าจะโตได้มากกว่านี้”นายยรรยงกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น