xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยเผย 7 ธุรกิจอ่วมวิกฤตยูโร เตรียมชง 10 มาตรการขอให้รัฐช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอการค้าไทยเผย 7 กลุ่มธุรกิจอ่วมวิกฤตยูโรโซน ส่งออกลดลงชัดเจน คาดลากยาวถึงครึ่งปีหลัง เตรียมชง 10 มาตรการต่อรัฐบาลช่วยกอบกู้เศรษฐกิจไทย ด้านโพลชี้ผู้ประกอบการไม่เห็นแผนรับมือของรัฐบาล

นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ทำการสำรวจสมาชิกของหอการค้าไทยจำนวน 7 กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตยูโรโซน พบว่าธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบในทิศทางที่แย่ลง และจะเพิ่มผลกระทบมากขึ้นในระยะยาวเนื่องจากยังไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ชัดเจน โดยเฉพาะยอดการส่งออกสินค้าไปตรงตลาดยุโรปในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ลดลงถึง 12.6% และยังได้รับผลกระทบทางอ้อมในการส่งออกไปตลาดอื่นๆ ทั้งในเอเชีย และสหรัฐฯ เนื่องจากผู้ส่งออกทั่วโลกส่งสินค้าไปยุโรปได้น้อยลง ทำให้ส่งสินค้าไปแข่งในตลาดอื่นทดแทน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พบว่าการส่งออก 6 เดือนลดลง 10% และคาดว่าการส่งออกทั้งปีก็น่าจะติดลบที่ 10% กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ การส่งออก 6 เดือนลดลง 10.89% เฉพาะตลาดยุโรปลดลง 23.58% กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออก 6 เดือนลดลง 12.15% เฉพาะยุโรปลดลง 5.3% ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน เพราะตลาดยุโรปมีสัดส่วนการส่งออกของไทยถึง 13%

กลุ่มอาหาร การส่งออก 6 เดือนลดลง 10.15% และคาดว่าทั้งปีจะลดลง 10-15% เพราะสินค้าหลายๆ รายการยังมีปัญหาในด้านการส่งออก โดยเฉพาะกุ้ง กลุ่มยางพารา การส่งออกลดลง 33% และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและจีน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศส่งออกไปยุโรปเป็นตลาดหลัก กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ การส่งออกที่ผ่านมาลดลงไม่ถึง 10% เนื่องจากมีการวางแผนการตลาดไว้ล่วงหน้า และคาดว่า 6 เดือนที่เหลือจะลดลงเล็กน้อย

ส่วนกลุ่มท่องเที่ยว ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวลดลงและมีคุณภาพลดลงเนื่องจากไม่มีกำลังซื้อ และนักท่องเที่ยวจองห้องพักช้ากว่าปกติ โดยคาดว่าในช่วง 6 เดือนที่เหลือจะมีนักท่องเที่ยวลดลง เช่น นักท่องเที่ยวจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

นายวิชัยกล่าวว่า แม้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยูโรโซนจะยังไม่รุนแรง และยังไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 5% แต่ในอนาคตผลกระทบอาจรุนแรงขึ้นได้และอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ผลกระทบขยายวงกว้าง จะต้องมีแผนการและมาตรการรับมือ โดยหอการค้าไทยเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินการหามาตรการรองรับวิกฤตดังกล่าว โดยได้นำเสนอมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว จำนวน 10 มาตรการเพื่อให้รัฐบาลเร่งพิจารณา

สำหรับ 10 มาตรการนั้น แยกเป็นมาตรการระยะสั้น 4 มาตรการ ได้แก่ 1. รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) 2. การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน 3. ทบทวนนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 4. รุกตลาดส่งออกในยุโรปที่ยังดีอยู่ เช่น เยอรมนี เบลเยียม และหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดเก่า เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย อาเซียน แอฟริกา และละตินอเมริกา พร้อมสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ 5. ลดต้นทุนทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางคือเกษตรกร จนถึงผู้ผลิต และ 6. เร่งเจรจา FTA กับอียูเรื่องการผ่อนผัน GSP

มาตรการระยะกลาง 1 มาตรการ ได้แก่ การพัฒนาระบบลอจิสติกส์และด่านการค้าชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า (ถนนเมียวดี) ลาว กัมพูชา เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า และเตรียมรับ AEC

ส่วนมาตรการระยะยาว มี 3 มาตรการ ได้แก่ 1. ขอให้ติดตามและเร่งเจรจา FTA และทบทวนการเจรจา TPP กับสหรัฐฯ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. สร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกมากขึ้น พัฒนาปรับปรุงคุณภาพ และสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ 3. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชน หอการค้าไทยมีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวโดยหาตลาดใหม่เพิ่มการค้าขายกับประเทศในภูมิภาคให้มากขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย และประเทศในอาเซียน โดยไม่ทิ้งตลาดเดิม ต้องสำรองเงินทุนระยะสั้น และวางแผนการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้สำรวจผู้ประกอบการจำนวน 800 รายต่อสถานการณ์วิกฤตยุโรปที่มีผลกระทบต่อธุรกิจไทย พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 52.3% เห็นว่ารัฐบาลไม่มีแผนรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปที่ชะลอตัว มีเพียง 47.7% ที่เห็นว่ามี โดยเห็นว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มเติมแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หาตลาดใหม่ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และปรับลดอุปสรรคและกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการมากถึง 58.5% ที่เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีผลงานในเรื่องการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป พร้อมทั้งเสนอให้ทำงานให้จริงจังกว่าที่เป็นอยู่ และควรร่วมมือกันทำงานกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
กำลังโหลดความคิดเห็น