xs
xsm
sm
md
lg

ออกกฎหมายรับใช้ปัจเจก : เหตุให้ประชาธิปไตยล่มสลาย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ถึงแม้ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นและอยู่มาถึง 80 ปี 1 เดือน กับ 20 วัน โดยนับจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันอังคารที่ 14 สิงหาคมนี้ ดูเหมือนว่าจะนานพอที่การปกครองในระบอบนี้จะก้าวไกลจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเจริญแล้ว แต่ในความเป็นจริง ประชาธิปไตยในประเทศไทยมิได้ก้าวไกลเท่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ต้องพูดถึงประเทศในยุโรปเฉกเช่นอังกฤษ และฝรั่งเศส เอาแค่ประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลี สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งอดีตเคยเป็นเมืองขึ้นและได้รับการปล่อยมาไม่นานนี้ ยังมีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพในทางการเมืองเหนือกว่าเรา และที่ประเทศไทยเป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ตลอดอายุ 80 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบการปกครองในประเทศไทยมิได้อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ถูกสลับด้วยการปกครองในระบอบเผด็จการเป็นระยะๆ และในแต่ระยะก็ไม่ได้ช่วยปูพื้นหรือปลูกฝังการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก่อนที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แต่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเพื่อลดความกดดันทางการเมืองเมื่อประชาชนเบื่อพฤติกรรมของรัฐบาลเผด็จการ

ดังนั้นจึงเท่ากับปล่อยให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งหลังจากที่รัฐบาลเผด็จการปล่อยให้มีการเลือกตั้งก็ว่าได้

2. ในส่วนของนักการเมืองในฐานะปัจเจกบุคคล และพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลทางการเมือง ก็มีส่วนอย่างมากในการทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ก้าวหน้า ทั้งนี้อนุมานได้จากปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

2.1 ในส่วนของบุคลากรทางการเมืองในฐานะเป็นปัจเจกบุคคล ถ้าตนเองไม่มีทั้งทุนทางสังคม และทุนเงิน ถึงแม้มีความสนใจทางการเมือง และมีอุดมการณ์โอกาสที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้งคงจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคงไม่มีพรรคใดอยากได้ให้ไปลงสมัครในนามพรรค อย่างมากถ้าเป็นคนมีความรู้ความสามารถก็คงเป็นได้แค่ที่ปรึกษาคอยให้ความคิดให้ความเห็น และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนดี คนเก่ง แต่ไม่มีทุน เป็นนักการเมืองเต็มตัวได้ยาก

ถ้าเป็นบุคคลที่มีทุนทางสังคมคือมีคนนิยมชมชอบ แต่ไม่มีทุนเงินก็สามารถหาพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และมีโอกาสได้ด้วย แต่ครั้นได้เป็นนักการเมืองแล้วก็จะไม่มีความอิสระในการทำงานเพราะถูกครอบงำโดยนายทุนทางการเมือง จึงทำได้แค่เป็นฝักถั่วคอยยกมือตามมติพรรค จึงไม่สามารถจะทำอะไรตามแนวคิดของตนเองได้

แต่ถ้าเป็นคนดีมีทั้งทุนทางสังคม และทุนเงินก็มีอำนาจต่อรองทางการเมือง บุคลากรประเภทนี้ถ้าเป็นคนมีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมก็จะทำให้การเมืองมีคุณภาพ และกำหนดทิศทางทางการเมืองได้

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนไม่ดีทำเพื่อประโยชน์ตนเอง และพรรคพวกก็จะทำให้การเมืองเลวลงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีให้เห็นอย่างดาษดื่น

2.2 ในส่วนของพรรคการเมืองอันเป็นนิติบุคคลทางการเมือง ถ้าถูกตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และพัฒนาจนเป็นสถาบันทางการเมืองจนประชาชนให้ความเชื่อถือก็จะมีทุนทางสังคมสูง พรรคประเภทนี้ถึงแม้จะไม่มีทุนเงินมากนัก แต่ก็มีโอกาสได้รับเลือกตั้งได้ถ้าเลือกผู้ลงสมัครมีอุดมการณ์ทางการเมืองสอดคล้องกับพรรค

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้น โดยเน้นที่คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนทางการเมือง พรรคประเภทนี้จะมุ่งเน้นการได้เป็นรัฐบาลเพื่อหวังใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อเป็นการถอนทุน และมีไม่น้อยที่บวกกำไรเกินควรเข้าไปด้วย

ดังนั้น ผู้ลงสมัครของพรรคนี้จึงอยู่ในสภาพเพียงคอยเติมเต็มออกเสียงหนุนในสภาฯ โดยไม่มีสิทธิโต้แย้งถึงแม้โดยส่วนตัวแล้วจะไม่เห็นด้วยก็ตาม จึงมีสภาพไม่ต่างจากลูกจ้างทางการเมืองของนายทุนพรรค

ด้วยปัจจัย 2 ประการนี้เองประชาธิปไตยในเมืองไทยที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง และผู้ลงสมัครต้องสังกัดพรรคการเมืองจึงก้าวหน้าได้ยาก และเป็นอุปสรรคต่อการแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหารได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังนี้

1. เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง และจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับว่าให้อำนาจทางบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติอิงอาศัยกัน และฝ่ายบริหารซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มทุนของพรรค โดยปกติก็มีอำนาจเงินเหนือ ส.ส.ในฐานะผู้อาศัยทุนของพรรคซึ่งเป็นเงินจากกระเป๋าของกลุ่มทุน ดังนั้นกลุ่มทุนต้องการให้ทางฝ่ายนิติบัญญัติทำอะไรก็ทำได้ดังใจเหมือนนายจ้างสั่งลูกจ้าง หรือเหมือนเจ้าหนี้สั่งลูกหนี้อย่างไรอย่างนั้น

2. เมื่อการบริหารประเทศจะต้องอาศัยการออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติมีความจำเป็นต้องสนองความต้องการของฝ่ายทุน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะออกกฎหมายใดๆ ก็ได้โดยใช้เสียงข้างมากดังที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรณีขอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการออก พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มทุนเพื่อลบล้างความผิดให้แก่คนคนเดียวแต่มีอำนาจทางการเงินเหนือทุกคนในพรรค ดังที่กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นที่วิตกกังวลในหมู่ประชาชนว่าจะนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหม่ และใหญ่กว่าเดิมด้วย

ถ้าเรื่องที่คาดการณ์เกิดขึ้นจริง เชื่อได้ว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยจะล่มสลาย และกลายเป็นเผด็จการอีกครั้งด้วยเสียงเรียกร้องของประชาชนจากแนวคิดที่ว่า เผด็จการที่ยุติธรรมและทำเพื่อส่วนรวม ย่อมดีกว่าประชาธิปไตยที่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น