xs
xsm
sm
md
lg

ลวงให้หลง (วาทกรรม) แล้วล้วง (ทุนสำรองระหว่างประเทศ?)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันก่อนเขียนลงไปในหน้าเฟซบุ๊ฏของตัวเองในประเด็นภาพรวมใหญ่ของการเมืองไทยที่ผมเห็นจากจุดที่ยืนอยู่ว่า

ในมหาสยามยุทธ์ขณะนี้ อำนาจใหม่พึงใจอยู่กับการรักษาอำนาจในฐานะรัฐบาลผู้ตั้งและใช้งบประมาณทั้งในระบบงบประมาณปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกระบบงบประมาณให้นานที่สุด ยอมถอย, เลี่ยง และชะลอทุกนโยบายที่เป็นจุดเสี่ยงนำไปสู่การปะทะ

ถือหลักเดินหน้าทีละก้าว ขึ้นบันไดทีละขั้น และกินข้าวทีละคำ รักษาและขยายฐานมวลชนไปเรื่อยๆ

ขณะที่อำนาจเก่าดูเหมือนจะพึงใจอยู่กับการรักษาฐานอำนาจที่เหลืออยู่ให้มั่นคง ปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยภาพรวมคือตั้งรับเป็นหลัก ไม่เปิดเกมรุก ไม่ผลีผลามสวนกลับแม้มีโอกาส แต่ก็ไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์ใหญ่คืออะไร

สถานการณ์เช่นนี้ผลลัพธ์รูปธรรมก็คือรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะมีเสถียรภาพในระดับสำคัญ และหากยืนได้ครบวาระหรือใกล้ครบวาระจะมีโอกาสใช้ใช้งบประมาณลงทุนทั้งในระบบงบประมาณและนอกระบบงบประมาณรวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาทบวกลบ

เงินกู้ป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน

เงินกู้สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน 1.6 - 2.0 ล้านล้านบาท

งบลงทุนในงบประมาณ 2 - 3 ปีจิ๊บๆ แต่รวมกันก็ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท


กูรูด้านการลงทุนทางธุรกิจการเมืองดีดลูกคิดในสมองแล้วกระซิบบอกผมว่า ขี้หมูขี้หมาอำนาจใหม่จะมีเม็ดเงินในรูปแบบต่างๆ หากอยู่ครบวาระหรือใกล้ครบวาระไม่ต่ำกว่า 6 - 7 แสนล้านบาท เม็ดเงินจำนวนนี้ย่อมจะกระจายไปอยู่กับอำนาจเก่าบ้างตามระบบ

ประชาชนไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไรจะได้สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ และหนี้เพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาทบวกลบ

อ้อ ยังมีความหวังลมๆ แล้งๆ ตามตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่าภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น อันจะทำให้ประชาชนดีขึ้นไปด้วย

วันต่อมาเขียนขยายความวิธีหาเงินของรัฐบาลนี้ลงไปอีกว่า...

วาทกรรม “ประเทศไทยมีเงินออมเหลือมาก...” ของดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูรมีขึ้นเพื่อสร้างภาพให้คนไทยเชื่อว่าเรากำลังจะลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วมและสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ 3.5 แสนล้านบาท กับอีก 2.07 ล้านล้านบาท ภายใน 3 - 5 ปีได้อย่างสบายๆ แม้ว่าจะต้องกู้ กู้ และกู้ เพราะภายใต้วาทกรรมนี้บอกว่าจะเป็นการกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ได้เป็นหนี้ต่างชาติที่ไหน การลงทุนขนาดใหญที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีรายได้มากขึ้น จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ กลับดีเสียอีกภายใต้ภาวะส่งออกกระเทือนเยี่ยงนี้

ปริศนาที่เราต้องคิดให้ตกเพื่อที่จะไม่ต้องติดอยู่ในกับดักทางความคิดของวาทกรรมนี้ก็คือ

(1)อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “เงินออม?”

(2)มัน “เหลือมาก” จริงหรือ??


สิ่งที่ดร.โกร่งใช้คำว่า “เงินออม” เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าเป็น “เงินของเรา” นั้นมีอยู่เพียงใน 2 ส่วน คือ (1) ทุนสำรองระหว่างประเทศ และ (2) สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์

ในส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น แม้โดยตัวเลขจะมีมาก แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ “เงินของเรา” ทั้งหมด หากแต่เป็นเงินตราต่างประเทศที่แบงก์ชาติซึ่งก็คือนายธนาคารของประเทศไทยถือไว้จากการที่นักลงทุนต่างชาติและ/หรือผู้ส่งออกชาวไทยนำมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อใช้ในประเทศ รวมทั้งการเข้าไปซื้อเก็บไว้ของแบงก์ชาติเองเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไปในรอบหลายปีมานี้

ซึ่งในส่วนหลังนี้ก็มีต้นทุนเป็นดอกเบี้ยพันธบัตร จะพูดแต่ด้านตัวเลขที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้ ต้องพูดถึงด้านต้นทุนด้วย

จึงไม่ควรที่จะไปเรียกว่า “เงินออม” เพราะมันไม่ใช่ “เงินของเรา” อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทั้งหมด

จะพอถือได้ว่าเป็น “เงินของเรา” ก็เฉพาะส่วนที่ได้เปรียบดุลการค้าและดุลการชำระเงิน ซึ่งก็คือค้าขายกำไร มีเงินเหลือ ซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้น

การจงใจใช้คำว่า “เงินออม” เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่าเป็น “เงินของเรา” ทั้งหมด เป็นการพูดเพื่อหวังผล

หวังผลในการ “ล้วง” ออกมาใช้!


ทีนี้มาดูในส่วนสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์บ้าง ถ้ามันมีล้นเหลือจริงๆ ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ 2 ประการนี้ (1) แบงก์พาณิชย์เริ่มแข่งกันขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก (2) บรรษัทใหญ่ๆ รวมทั้งแบงก์พาณิชย์ทยอยกันออกหุ้นกู้มากในช่วงนี้

ปรากฏการณ์ทั้งสองบ่งบอกว่าบรรษัทใหญ่และแบงก์พาณิชย์เตรียมการเสริมสภาพคล่องสำหรับอนาคตอันใกล้ไม่ใช่หรือ เพราะเล็งเห็นว่าภาครัฐกำลังจะเข้ามาแย่งสภาพคล่องไปใช้ลงทุนขนาดใหญ่ต่อเนื่องกันหลายปีใช่ไหม

ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะสภาพคล่องส่วนเกินในระบบน่าจะมีไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เจอโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของกยอ.-กยน.-กบน.ที่ออกทีโออาร์แล้วก็ 3.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 แล้ว ยอดนี้ตามพ.ร.ก.จะต้องกู้ให้หมดภายในมิถุนายน 2556 แล้วจะมีสภาพคล่องส่วนเกินที่ไหนมาเหลือให้กู้อีก 1.6 - 2.0 ล้านล้านบาทในรอบ 3 - 5 ปี

เพราะฉะนั้นเวลาดร.โกร่งอ้าปากว่า “ประเทศไทยมีเงินออมเหลือมาก...” จึงเห็นทะลุไปถึงริดสีดวงทวารว่าน่าจะมุ่งพุ่งเป้าไปที่ทุนสำรองระหว่างประเทศที่แบงก์ชาติดูแลอยู่เสียมากกว่า

ส่วนจะ “ล้วง” มาได้ยังไงนั้นแม้จะสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า...

เมื่อเงินลงทุนภาครัฐก้อนมหาศาลจะต้องเป็น “เงินบาท” เสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อก่อให้เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและทดแทนรายได้จากการส่งออกที่จะลดลงตามแนวคิดรัฐบาลนี้ แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็น “เงินตราต่างประเทศ” หาก “ล้วง” มาได้ไม่ว่าจะโดยรูปแบบใด รวมทั้งรูปแบบออกกฎหมายให้แบงก์ชาติปล่อยกู้แก่โครงการ (คล้ายๆ กรณีออกพ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติปล่อยกู้ขาดทุนแก่ SME ที่โดนน้ำท่วม) ก็คือการแตกเป็น “เงินบาท” ที่แบงก์ชาตินั่นแหละ

ถึงที่สุดก็คือการให้แบงก์ชาติ “พิมพ์เงินบาท” ออกมาให้รัฐบาลใช้นั่นเอง

ซึ่งก็คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ ประสาร ไตรรัตน์วรกุลไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด

ใช่หรือไม่ว่าเนื้อแท้ของวาทกรรมสวยหรู “เอาเงินออมมาใช้” แท้จริงแล้วก็คือ “ให้แบงก์ชาติพิมพ์เงินออกมาให้รัฐบาลใช้” นั่นเอง??

อย่าปล่อยให้เขาลงให้หลงแล้วล้วงเอาง่ายๆ เลยนะพี่น้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น