xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.เกาหลีใตัก้มหัวขอโทษประชาชน พี่ชายพัวพันคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีลีเมียงบัค แห่งเกาหลีใต้เมื่อวันอังคาร(24) โค้งศีรษะขอโทษประชาชนทั้งประเทศ
เอเอฟพี/บีบีซี - ประธานาธิบดีลีเมียงบัค แห่งเกาหลีใต้เมื่อวันอังคาร (24) โค้งศีรษะขอโทษประชาชนทั้งประเทศ ต่อกรณีที่พี่ชายและคนใกล้ชิดของเขาถูกกล่าวหาพัวพันคอร์รัปชัน

“ผมขอก้มศีรษะและขอโทษด้วยที่เป็นเหตุแห่งความกังวลแก่ประชาชน สืบเนื่องจากเรื่องนี้” นายลี กล่าวในถ้อยแถลงสั้นๆ “หัวใจผมสลาย โดยเฉพาะเรื่องที่น่าเสียใจนี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดของผม”

ประธานาธิบดีรายนี้บอกด้วยว่า เรื่องอื้อฉาวนี้ทำให้เขารู้สึกไม่กล้าสู้หน้าใคร และไม่สามารถโทษคนอื่นได้ นอกจากต้องโทษตัวเองที่ไร้ความสามารถ และยอมรับการลงโทษในทุกรูปแบบ พร้อมระบุว่า หลังจากนี้เขาจะทำงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อประชาชนให้บรรลุในหน้าที่ รวมทั้งทำงานอย่างจริงใจและถ่อมตน

นายลีซังดุก พี่ชายของประธานาธิบดี ถูกตำรวจควบคุมตัวข้อหาคอร์รัปชันเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยอดีต ส.ส.6 สมัยและที่ปรึกษาทางการเมืองของลีเมียงบัครายนี้ถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบน 600 ล้านวอน(ราว 15 ล้านบาท) จากนายธนาคารของสถาบันการเงินที่มีปัญหา เพื่อขอให้ช่วยเหลือไม่ให้ถูกลงโทษ

ลูซี วิลเลียมสัน ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำกรุงโซล รายงานว่า ในฐานะพี่ชายของผู้นำเกาหลีใต้ การถูกจับกุมและเป็นไปได้ที่จะโดนดำเนินคดี อาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรครัฐบาลในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่อดีตผู้ช่วยของเขาก็ถูกคุมตัวในข้อหาคอร์รัปชั่นเช่นกัน

มีความโกรธกริ้วอย่างกว้างขวางต่อปัญหาอื้อฉาวในภาคธนาคารบ่อยครั้ง และนับตั้งแต่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาผู้คุมกฎระเบียบเกาหลีใต้ได้สั่งปิดธนาคารที่มีผลดำเนินงานย่ำแย่ไปแล้วถึง 20 แห่ง หลายแห่งในนั้นเป็นธนาคารออมสิน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาหลังเกิดวิกฤติการเงินเอเชียเมื่อปี 1997

แต่วิกฤตการเงินในรอบล่าสุดในปี 2008 ที่ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเกาหลีใต้ซบเซา ก็ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้งขึ้น ธนาคารเหล่านี้จึงประสบปัญหาขาดเงินทุนและสภาพคล่อง เมื่อต้นปี 2011 ผู้กำกับดูแลการเงินในเกาหลีใต้จึงเริ่มระงับการดำเนินงานของธนาคารบางแห่งที่มีเงินหมุนเวียนไม่พอ และมีธนาคารออมสินอยู่สองแห่งที่เกิดปัญหา จึงใช้วิธีติดสินบนพี่ชายประธานาธิบดีลีเมียงบัค เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น