ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -และแล้วศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่พรรคฝ่ายค้ายเริ่มโหมโรงรัวกลองไว้เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ก็มีอันต้องล่าช้าออกไป
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) บอกกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ว่า จะไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้ยังจะมีอีกหลายโครงการค่อยๆ ปรากฏความล้มเหลวออกมา และยังมีเวลาอีกถึงเดือนพฤศจิกายน
ส่วนการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในช่วงนี้ก็จะใช้วิธีการยื่นกระทู้ถามสด เช่น ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
ที่สำคัญ มีงานใหญ่อีก 2 งานให้พรรคฝ่ายค้านต้องออกแรง คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 และอภิปรายผลงาน 1 ปี รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูขึงขังเอาจริงเอาจังอย่างมาก
วันที่ 3 ส.ค.นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แถลงย้ำว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นการทำหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการรังแก ตามที่สื่อบางฉบับพยายามตีกัน และในขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์มอบการบ้านให้สมาชิกรวบรวมข้อมูลยื่นอภิปรายแล้ว และจองกฐินที่ตัวนายกฯ เพราะถึงแม้จะมีการปรับ ครม.หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่นายกฯ จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ขอให้รัฐบาลเตรียมตอบคำถามของฝ่ายค้านให้พร้อม
ต่อมาวันที่ 4 ส.ค.นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงประเด็นการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นอภิปราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นหลัก โดยจะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวใน 5 ประเด็น คือ 1.โครงการรับจำนำข้าว 2. เรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะราคายางพาราในภาคใต้ 4.เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่เกิดจากการจัดการน้ำล้มเหลว ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 800 ศพ รวมทั้งการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งใช้วิธีการจัดซื้อวิธีพิเศษเอื้อต่อการทุจริตได้ง่าย และ 5.ประเด็นที่รัฐบาลเปิดให้กัมพูชาได้รับสิทธิ์ในการจัดการประชุมมรดกโลกครั้งต่อไปแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากการแถลงของนายชวนนท์ วันต่อมา (5 ส.ค.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็แถลงตอบโต้ว่าประเด็นอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นการตัดแปะข่าวจากหนังสือพิมพ์ และยังเหน็บกลับด้วยการตั้งคำถามถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ 10 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการที่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ไปเกณฑ์ทหาร
ทำให้นายเทพไท ออกมาตอบโต้อย่างทันควันว่าทำไมพรรคเพื่อไทยออกมาตีโพยตีพาย ดิสเครดิตการทำงานของฝ่ายค้าน ด้วยการเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ต้องตอบ 10 คำถามก่อน ซึ่งหากดูคำถามล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ไร้สาระ และไม่เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคำถามทั้ง 10 ข้อนี้ตนตอบแทนก็ได้
นอกจากนี้ นายเทพไทยังตอบโต้นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยกเอาผลโพลมาอ้างว่า มีคน 52% ไม่สนับสนุนให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า หากพรรคเพื่อไทยยึดผลโพลในการทำงานจริง ทำไมผลโพลที่ระบุว่าให้ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกสูงถึง 77.9% ทำไมไม่ถอนออกไป การหยิบยกเอาผลโพลเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจแสดงว่าพรรคเพื่อไทยเอาแต่ได้
ประเด็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจึงกลายเป็นสงครามปากของทั้งสองฝ่าย และไม่หยุดเพียงเท่านั้น เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาผสมโรงว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น นายกฯไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย เพราะเก่งอยู่แล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เท่าที่ดูแล้วก็ไม่มีอะไร และเยาะเย้ยกลับว่า ฝ่ายค้านมาบอกประเด็นก่อนทำไม เดี๋ยวจะจืดหมด
ส่วนการที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าอภิปรายไปที่นายกฯ คนเดียว นายกฯ จะกลัวหรือ ระวังเจอนายกฯ อัปเปอร์คัตขวาแล้วจะน็อก ตนอยู่การเมืองมานานดูแล้วไม่มีอะไร
เท่านั้นยังไม่พอ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรค เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ว่า หากฝ่ายค้านอภิปรายนอกเรื่อง ไม่เข้าประเด็น หรือโฟกัสไปที่นายกฯโดยที่ไม่ใช่เรื่องการบริหารงาน ก็จะมีการอภิปราย “ไม่ไว้วางจิต”ฝ่ายค้านกลับทันที โดยได้เตรียม ส.ส.กว่า 10 คนไว้คอยตอบโต้อภิปรายไม่ไว้วางจิตในแต่ละเรื่องแล้ว เรื่องที่เตรียมไว้ อาทิ กรณีนายอภิสิทธิ์ใส่เสื้อแดงขึ้นเวที การเลียนเสียง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ การใช้เอกสารเท็จสมัครเข้ารับราชการทหาร กรณีนายชวนนท์ คัดค้านนาซาใช้สนามบินอู่ตะเภาสำรวจชั้นบรรยากาศ กรณี ส.ส.ประชาธิปัตย์แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่ประชุมสภา
สงครามน้ำหลายผ่านหน้าสื่อบานปลายออกไป เมื่อนายอภิสิทธิ์ได้ตอบโต้ว่า ที่พรรคเพื่อไทยขู่ว่าจะมีการอภิปรายนายอภิสิทธิ์กลับนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง และไม่ทำให้กระบวนการของสภาเป็นอย่างที่ควรจะเป็น การที่ยังพยายามกล่าวหาเรื่องการเกณฑ์ทหารของตนนั้นก็เป็นเรื่องเก่าที่ตนเคยชี้แจงไปหมดแล้ว แต่พยายามย้ำในบางประเด็นเพื่อกลบเกลื่อนหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่า ขั้นตอนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพราะสมัยประชุมเปิดจนถึงเดือนธันวาคม และต้องรอให้การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2556 และอภิปรายผลงาน 1 ปีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เสร็จสิ้นก่อน
การปรับเกมซักฟอกรัฐบาลของฝ่ายค้าน อาจเนื่องมาจาก การประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคได้แนะนำ ส.ส.ว่า เรื่องที่จะอภิปรายนั้น สามารถติดตามประเด็นผ่านทางสื่อได้ แต่อย่านำข้อมูลมาทั้งหมด ขอให้มีการต่อยอดและสืบสาวเก็บข้อมูลพยานหลักฐานให้ครบถ้วน ชัดเจน และบางเรื่องก็ไม่สมควรเปิดเผยประเด็นต่างๆ ก่อน ควรเก็บไว้เป็นหมัดน็อกเพราะยังมีเวลา 120 วัน ให้ค่อยๆ รวบรวมข้อมูลไป
ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้ชี้แจงว่า ส.ส.พรรคออกไปพูดเรื่องประเด็นที่จะซักฟอก เพราะบางครั้งฝ่ายรัฐบาลก็ปรามาสว่าไร้น้ำยา หรือเป็นเรื่องเดิมๆ ก็ขอให้อดทน ตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้อมูลต่อไป สำหรับตนก็ยืนยันที่จะต้องเป็นผู้อภิปรายเพราะเป็นหัวหน้าพรรค จะมีการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ฝ่ายค้านจะชะลอการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไป หางเครื่องรัฐบาลอย่างนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทีเยาะเย้ยว่า นี่คือความไม่เป็นเอกภาพของพรรคฝ่ายค้าน ก่อนหน้านี้มีการโปรโมตวันละ 3 เวลาว่ายื่นอภิปรายแน่ แล้วประธานวิปฝ่ายค้านดันฉีกไปอีกทาง ถือว่าเสียรังวัด อย่างเรื่องจำนำข้าว ที่เอาเข้าจริงก็ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ หรือลึกลงไปมากกว่าที่เป็นข่าว หรือได้จากการตัดแปะจากหนังสือพิมพ์ แล้วเอาไปสร้างอุปาทานหมู่กับสาวกกันต่อในบลูสกายชาแนล
คำพูดของนายอนุสรณ์อาจมีเค้าความจริงอยู่บ้างว่าที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์มักหาข้อมูลอภิปรายจากการตัดแปะหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็ไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทยเคยทำ แต่ปัญหาหลายปัญหาที่เกิดจากการทำงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำนำข้าว ความไม่สงบในภาคใต้ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาค่าครองชีพสูง ปัญหาราคาพลังงาน จึงเป็นหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะหาข้อมูลหลักฐานเป็นหมัดเด็ดเปิดอภิปรายให้ประชาชนตาสว่างเสียที ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากหากพรรคประชาธิปัตย์จะทำงานจริงจังสมกับเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เห็นควรให้ชะลอการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลออกไป โดยรอให้การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2556 และอภิปรายผลงาน 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เสร็จสิ้นก่อน