xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-ราชินีทรงห่วงไฟใต้ "ปู"ลอยตัวหนีปัญหา โยน3รองนายกฯรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ในหลวง-ราชินี ทรงห่วงประชาชน 3 จังหวัดใต้ หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่อง ด้าน "ปู"นั่งหัวโต๊ะประชุม กปต. ปัดประกาศเคอร์ฟิว หวั่นก่อปัญหาเพิ่ม พร้อมสั่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ส่วนการติดตามงานมอบ 3 รองนายกฯ รับผิดชอบ "ปึ้ง"เสนอตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยงโจรใต้ "เหลิม"อัดปชป.เข้าใจผิด ยันไม่รื้อโครงสร้างแก้ใต้ โวซ้ำ 40 ผู้ต้องหาติดต่อมอบตัว

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์จนถึงตอนนี้ค่อนข้างจะรุนแรง พระองค์ท่านก็ยิ่งเป็นห่วง

ส่วนการแก้ปัญหาตามแนวพระราชดำริ ขณะนี้มูลินิธิชัยพัฒนายังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ โดยผู้หญิงจะเน้นทำอาชีพเย็บปักถักร้อย ผลิตผ้าคลุมศรีษะ หรือฮิญาบ และทำขนมจำหน่ายตามร้านน้ำชา ส่วนผู้ชาย ก็จะเน้นฝึกอาชีพเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะประธานมูลินิธิชัยพัฒนา ด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ และมีเงื่อนไขเรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานที่บ้านเกิด

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขอให้ไปถามรัฐบาล เพราะปัญหาสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม การแก้ปัญหาต้องเข้าไปแก้ไขบูรณาการความคิดและด้านกำลังและแนวทางทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว จุดนี้อาจจะพูดง่าย แต่ต้องทำให้ได้ ส่วนตนจะช่วยในส่วนที่รับผิดชอบ

พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม และภัยพิบัติต่างๆ จึงได้มีพระราชเสาวนีย์ในการสร้างฟาร์มตัวอย่างทั่วประเทศกว่า 60 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งอาหารเป็นหลัก โดยเฉพาะที่ภาคใต้ ซึ่งกำลังเกิดปัญหา พระองค์ได้แนะนำให้ประชาชนได้รวมตัวสร้างฟาร์มตัวอย่างในพื้นที่ดินสาธารณะ จากนั้นนำผลผลิตเพื่อบริโภคในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อตัดปัญหาการเดินทาง ซึ่งรวมถึงการเป็นธนาคารอาหารที่ไม่ต้องไปซื้ออาหารจากตลาดทุกวัน อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการถูกซุ่มโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบ

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงห่วงพระสงฆ์ในภาคใต้อย่างมาก เนื่องจากขณะนี้พบว่าพระสงฆ์จำนวนมาก ได้ลาสิกขา และย้ายออกจากบริเวณที่เกิดปัญหาทางภาคใต้ ทำให้ประชาชนที่ยังนับถือพุทธศาสนาไม่มีขวัญกำลังใจ และไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ ดังนั้น ทางกองทัพได้รับสนองพระราชเสาวนีย์ในการขอความร่วมมือ ถามความสมัครใจไปยังพระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในการที่จะไปจำวัดในภาคใต้ให้ได้วัดละ 5 รูป เพื่อที่จะสามารถประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆ ได้ และยังเป็นขวัญกำลังใจแก่คนในพื้นที่ด้วย

**ปูนั่งหัวโต๊ะประชุมร่วม17กระทรวง

เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคง และ 17 กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผบ.เหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

ทั้งนี้ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวก่อนประชุมว่า ในการหารือครั้งนี้ ได้เชิญเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซียคนปัจจุบัน และอดีตทูตเข้าร่วมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยวัตถุประสงค์ของการประชุม ก็เพื่อติดตามการทำงาน รวมถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งศูนย์นี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้สั่งการด้วยตัวเอง และจะมีการหารือถึงปัญหาความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ พร้อมให้ข้อสังเกตในการปรับปรุงการทำงานด้วย

**เสนอตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยงโจรใต้

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ตนได้นำนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายธนะ ดวงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และนายณรงค์ ศศิธร อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย เพราะจากการประชุมร่วมกับเอกอัครรราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในประเทศมุสลิม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าเราต้องทำงานอย่างใกล้ชิดและร่วมมือกับประเทศมาเลเซียในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านความมั่นคง ฝ่ายข่าวกรอง เป็นต้น ให้มากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่อยู่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้และจะทราบข้อมูลดี รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเส้นทางการเงินที่สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะนำข้อมูลต่างๆ จากการประชุมกปต.ครั้งนี้ ไปให้เอกอัครราชทูตไทยที่ประจำการในประเทศมุสลิมใช้ชี้แจงต่อประเทศนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพถึงขั้นตอนและการดำเนินการของรัฐบาลไทยด้วย

** “ปู”ยังไม่ใช้เคอร์ฟิวดับไฟใต้

ภายหลังการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะหากทำแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหา โดยการประชุมครั้งนี้ ได้มีการทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของการทำงานและจัดงบประมาณให้สอดคล้อง เพราะการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา เป็นเรื่องของหลายหน่วยงานที่ต้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งได้ขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ในเรื่องการดูแลบริเวณแนวชายแดน

***สั่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผลคืบหน้าของการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้มีการเร่งรัดดำเนินการตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมในเรื่องการเสริมสร้างความปลอดภัย และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน 4 เรื่อง คือ

1.การจัดให้มีเขตรักษาความปลอดภัย (Safety Zone) เป็นการเฉพาะ โดยเน้น 13 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญและชุมชนสาธารณะ 7 พื้นที่ คือ อ.เมือง จ.ปัตตานี, อ.เมือง จ.ยะลา, อ.เบตง จ.ยะลา, อ.เมือง จ.นราธิวาส, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส, อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมทั้งพื้นที่ที่มีสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้งอีก 6 พื้นที่ คือ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี, อ.ธารโต จ.ยะลา, อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส, อ.ระแงะ จ.นราธิวาส, อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

2.การติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิด (CCTV) ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.การจัดให้มีการตั้งด่านตรวจที่ ต.ควนมีด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
4.การตรวจสอบการย้ายถิ่นของบุคคล และการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ และให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในปี 2555 แต่ยังไม่ดำเนินการ ต้องไม่นำงบประมาณไปใช้นอกพื้นที่ แต่ให้นำไปจัดทำแผนงาน โครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Safety Zone และกล้อง CCTV

***ตั้ง 3 รองนายกฯ ดูแลปัญหาใต้

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวอีกว่า การประชุมเป็นการรับทราบความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นชอบในหลักการเรื่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการติดตามการดำเนินงานจากระดับพื้นที่ขึ้นมาในระดับสูงเพื่อพิจารณาตกลงใจแก้ปัญหา โดยมีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้ามาช่วยเสริมการทำงานด้านข้อมูลเพื่อให้มีการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วตรงกัน

**ย้ำ"ปู"ไม่คิดรื้อโครงสร้างแก้ใต้

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาโวยวายก็เป็นความเข้าใจผิด เพียงแต่เป็นการพัฒนาการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยที่ผ่านมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่บางครั้งอาจมีข้อขัดข้อง ที่ฝ่ายทหารไปสั่งการอะไรไม่ได้ทั้งหมด หรือบางทีนายอำเภอตั้งด่านตรวจโดยที่กำลังมีน้อยก็สั่งให้ทหารมาช่วยไม่ได้ ส่วนตำรวจกับทหารส่วนมากประสานกันได้ เพราะว่าเป็นรุ่นน้องรุ่นพี่กัน

ทั้งนี้ ในส่วนของตำรวจจะประชุมระดมความเห็น ในวันที่ 10 ส.ค. และตั้งกองบัญชาการติดต่อสื่อสาร เพื่อประสานงานด้านการข่าว ที่ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่วนการตั้ง 3 รองนายกฯ มาร่วมกันการทำงาน ไม่ทำให้เกิดความสับสนในการสั่งการ การทำงานตอนนี้ มีการบูรณาการอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลพรรคเดียว อำนาจหลักอยู่ที่นายกฯ คำสั่งด้านยุทธการก็เป็นของกองทัพบกและกอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้รับผิดชอบ

**โว40โจรใต้ติดต่อมอบตัว

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า มีแนวร่วมผู้ก่อการในพื้นที่ภาคใต้ประสานขอเข้ามอบตัวกับตน 40 คน โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อหลักๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดี การประกันตัว หรืออยู่ในที่ควบคุมในการต่อสู้คดี ซึ่งต้องมาดูก่อนว่าข้อหาที่กระทำผิดและมามอบตัวนั้น หน่วยความมั่นคงยอมรับได้หรือไม่ เพราะมีเหตุที่ทำให้ทหารตำรวจเสียชีวิตไปค่อนข้างมาก และจะมามอบตัวกันง่ายๆ จะทำได้หรือไม่ เบื้องต้นหากข้อหาไม่หนักมาก ก็อาจพิจารณาในลักษณะเดียวกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในอดีต

“คนที่ขอมอบตัวได้ส่งทนายมาพูดคุย ผมก็ให้ไปพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาก่อน โดยในวันที่ 10 ส.ค. ผมจะไปประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วฟังรายงานเรื่องนี้ หากยอมรับได้ ก็จะเปิดทำเนียบฯ มาพูดคุยกันเลย อาจจะให้ญาติของผู้ต้องหา 100 คนจะมาพบก่อน ซึ่งผมก็จะบอกกับญาติเหล่านั้นว่า ขออย่าให้ผู้ต้องหาหนี ขอให้มามอบตัวกันเถอะ ซึ่งนี่เรียกว่าเป็นการทำงานเชิงรุก ซึ่งรัฐบาลที่แล้วไม่ได้ทำ สมัยที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขได้ภายใน 99 วัน ผ่านไป 2 ปี 8 เดือนก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เหมือนกัน ถามว่าเคยมีใครติดต่อมามอบตัวไหม” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

สำหรับปัญหากำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไม่เพียงพอนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กำลังจะเสนอให้มีการนำทหารที่ปลดประจำการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาบรรจุในอัตราของตำรวจที่ขาดแคลน เบื้องต้นคาดว่าประมาณ 4,000 คน จากที่ตอนนี้คาดแคลนอยู่ราว 5,000 คน

**"มาร์ค"ย้อน"เหลิม"เด็กเลี้ยงแกะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เสนอสูตร 9-5-29 ใช้ในการดับไฟใต้ว่า ตนอยากย้ำว่านโยบายที่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย คือ นโยบายที่ สมช. จัดทำขึ้นและรัฐบาลนี้ได้ให้ความเห็นชอบ แต่เมื่อไปดำเนินนโยบายกลับไม่ทำตามนั้น บุคลากรที่รัฐบาลมอบหมายให้มาทำงาน ก็ไม่ได้เป็นคนทำนโยบายและไม่มีความเชื่อในแนวทางนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า 2 ปี 8 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลประชาธิปัตย์แก้ปัญหาไม่ได้ว่า เวลาที่ ร.ต.อ.เฉลิมมาคุยกับตน ส่วนตัวไม่ได้พูดแบบนี้ แต่บอกว่าที่อยากจะเชิญฝ่ายค้านไปหารือ เพราะเห็นว่าช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลทิศทางและแนวโน้มหลายอย่างดูดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิมพูดกับตนส่วนตัว แต่เวลาไปพูดข้างนอกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสิ่งที่ตนกำลังจะเสนอไม่ได้บอกว่าให้ใช้นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ แต่ให้ใช้นโยบายที่จัดทำขึ้นตามกฎหมาย ศอ.บต. ที่รัฐบาลนี้ให้ความเห็นชอบ แต่กลับไม่ปฏิบัติตามนโยบายของตัวเอง

“ผมอยากให้ละเรื่องการเมืองซะบ้าง ไม่อย่างนั้นเป็นเรื่องการเมืองทุกเรื่อง ข้าวเสียหายทุกวันนี้ก็เป็นเพราะถือทิฐิว่าต้องกลับไปใช้นโยบายจำนำ ภาคใต้ต้องเป็นแบบนี้ เพราะไม่ยอมแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่งานด้านความมั่นคงความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูว่าเหตุการณ์ที่ลุกลามจากการประเมินผิดพลาดในปี 44 ทุบโครงสร้างทิ้งเกิดความรุนแรงในปี 47 เป็นต้นมา ควรจะเป็นบทเรียนได้แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**อัดรัฐบาลสุดมึนแก้ปัญหาใต้

นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้รับผิดชอบดูแล 5 จังหวัดชายแดนใต้ รู้ว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้องมีบทบาทหลักควบคู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศอ.บต และผอ.กอ.รมน. ซึ่งการที่รัฐบาลเริ่มตื่นตัวจัดทำยุทธศาสตร์และตั้งกรรมการต่างๆ ขึ้นมาในขณะนี้ ถือว่ายังสับสน เพราะจากการที่รัฐบาลได้เคยแถลงนโยบายผ่านรัฐสภา ระบุว่าจะมุ่งเน้นการเมืองนำการทหาร แต่ปรากฎว่ารัฐบาลบริหารมา 1 ปี กลับนิ่งเฉยไม่ได้แก้ไขปัญหาตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ว่าจะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีองค์กรที่ทำหน้าที่ปฏิบัติคือ ศอ.บต.และกอ.รมน.

"การตั้งคณะบูรณาการหรือเพนตากอนจึงเป็นการซ้ำซ้อนกับกพต. แถมยังตั้งอยู่ส่วนหลังห่างไกลพื้นที่ แล้วจะมีใครไปติดตามคอยขับเคลื่อนนโยบาย ประเมินผล รับฟังปัญหาที่แท้จริงจากประชาชน การให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ไม่มีใครลงไป ซึ่งทำให้การแก้ปัญหายิ่งช้าลง ดังนั้น อยากเสนอด้วยความหวังดีให้แต่งตั้งลงไปดูแลสักคนขับเคลื่อนนโยบายที่มีอยู่แล้ว พร้อมทั้งให้มีการประชุมกพต.เดือนละครั้งเหมือนการประชุมครม.เศรษฐกิจ เพราะกพต.เปรียบเหมือนครม.ภาคใต้"

**ผบ.ทร. กำชับกำลังพลระวัง

ที่หอประชุมกองทัพเรือ กทม. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า ได้กำชับกำลังพลที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น โดยขอให้กองทัพเรือได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งตนมีความห่วงใยและสั่งการให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบมีรูปแบบใหม่ๆ ในการดำเนินการ ซึ่งเราจะต้องเร่งปรับยุทธวิธีให้รับกับสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น