“รองนายกรัฐมนตรี” พร้อมด้วย “ผู้บัญชาการทหารบก” ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี รับฟังบรรยายสรุปความคืบหน้าปฏิบัติการตามนโยบาย คดีสำคัญในพื้นที่ และแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมทั้งมีกำหนดตรวจเยี่ยมคณะแพทย์ภายในพื้นที่ จ.ยะลา ขณะที่ “ประยุทธ์” เผยกรณี 49 คนไทยถูกทางการพม่าจับกุม ข้อหารุกล้ำดินแดน เพราะเข้าใจผิดในพื้นที่รอยต่อ ย้ำเคยเตือนแล้ว แนะให้จำเป็นบทเรียน บอก “ผบ.สส.” เดินทางไปเจรจาแล้ว ยันไม่มีปัญหาชายแดน เชื่อสถานการณ์คลี่คลาย เพราะมีความร่วมมือที่ดีในการปราบปรามสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมหารือแก้ปัญหา เพื่อกระชับความสัมพันธ์
วันนี้ (9 ก.ค) ที่กองการบินกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และนายทหารชั้นผู้ใหญ่เดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อไปติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหา โดยจะนำแผนงานและโครงการที่ได้รับการรวบรวมจากคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใต้ ประมาณ 300 กว่าโครงการลงไปในพื้นที่เพื่อให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะงบประมาณในด้านการพัฒนาและความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาเราแก้ไขปัญหาในหลายด้านด้วยกันทำให้งบประมาณกระจายออกไป ดังนั้นต้องมาดูว่าช่วง 3 เดือนในการใช้จ่ายงบประมาณของปีนี้ควรจะลงน้ำหนักในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ทั้งนี้สำหรับแผนงานและโครงการก็จะลงพื้นที่ทั้งหมด37 อำเภอ แต่ติดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาและงบประมาณที่ไม่เพียงพอที่จะลงพื้นที่พร้อมกันจึงทำให้ต้องทยอยลงแต่ละพื้นที่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะสั่งกำชับกับกองกำลังเทพสตรี ในเรื่องการป้องกันชายแดนเกี่ยวกับการลักลอบชิ้นส่วนวัตถุระเบิดที่จะเข้ามาตามแนวชายแดน ซึ่งมีการอ้อมผ่านเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งนี้ต้องการพยายามปิดกั้นเส้นทางเหล่านั้น เพราะถ้าปิดกั้นไม่ได้ก็จะมีการใช้วัตถุระเบิดมากขึ้น และจะเกิดอันตราย อย่างไรก็ตามได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ควบคุมเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะชิ้นส่วนประกอบระเบิด สารตั้งต้น
“เดือนหน้าถือว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ จะมีการหารือเรื่องการปรับและการใช้กำลัง ตลอดแนวชายแดนทั้ง 7 กองกำลังทั่วประเทศ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งผมคิดว่าไทยต้องพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น และหาหนทางในการแก้ไขปัญหาชายแดนให้ได้ รวมถึงความร่วมมือในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝ่าย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการประชุมกับหน่วยงานความมั่นคง ฝ่ายปกครอง พร้อมติดตามผลการปฎิบัติงานสถานการณ์ความไม่สงบและความคืบหน้าคดีสำคัญ โดยมี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้บังคับหน่วยถึงระดับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งที่ประชุม กอ.รมน.ภาค 4 สน.จะบรรยาย สรุปสถานการณ์ และผลการปฎิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความคืบหน้าการปฎิบัติตามนโยบายผู้บังคับบัญชา รวมทั้งความคืบหน้าคดีสำคัญในพื้นที่ ส่วน ศอ.บต.ได้บรรยายสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จชต.
จากนั้นในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก และคณะจะเดินทางไปเยี่ยมชมการให้บริการทางการแพทย์โดยความร่วมมือของสาธารณสุข และชุดแพทย์เคลื่อนที่ศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงเรียนยะหาศิริยานุกูล ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา
ขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีทหารพม่าควบคมตัวคนไทย 49 คนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ในพม่าว่า ตนจะหารือกับพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย ผบ.กองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) ในฐานะ ผบ.กองกำลังเทพสตรีเกี่ยวกับเรื่องชายแดนทางด้านจ.ระนอง ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความเข้าใจผิดของประชาชนที่เข้าไปทำกินในพื้นที่ของพม่าอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องเข้าไปดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยและเจรจา ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้นมีหลายระดับ คือระดับกองกำลังที่ดูแลแนวชายแดนร่วมกับทางส่วนราชการจังหวัดที่จะเข้าไปพูดคุย ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่กลไกของคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่น (ทีบีซี) ระหว่างไทย-พม่า และสุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การพูดคุยอยู่ในระดับกองกำลังและรับปากว่าจะดูแลคนไทยทั้ง 49 คนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีการควบคุมตัว จับขัง หรือทำร้ายใดๆทั้งสิ้น ทุกคนยังอยู่ในสภาพที่ปกติ และอยากกลับบ้าน ซึ่งขอให้เป็นอุทาหรณ์ว่าการไปทำอะไรก็ตามในประเทศเพื่อนบ้านต้องเคารพกติกา ขณะเดียวกัน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส.ได้เดินทางไปประเทศพม่า โดยตนได้ขอให้ผบ.สส.พูดกับกับทางพม่าในประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี และต้องรอฟังผลจากผบ.สส.
“ทั้งนี้ความจริงแล้วมีประชาชนบุกรุกเข้าไปพื้นที่พม่าเป็นจำนวนกว่าพันคน แต่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจนเหลือ 49 คน ที่ถูกควบคุมตัว เพราะมีการตรวจพบอาวุธสงคราม ซึ่งก็ต้องพูดคุยกัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายของประเทศพม่าแรง และเขาไม่สามารถละเว้นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากพูดถึงกฎหมายถือว่าหนักหนาสาหัส แต่ถ้าอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีก็ต้องพูดคุยให้ได้ โดยขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงแค่การควบคุมตัว ซึ่งได้มีการขอร้องว่าไม่อยากให้แจ้งข้อหา เพราะจะมีเรื่องยุ่งยากตามมา เนื่องจากจะต้องนำคนเหล่านี้ไปยังเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า อย่างไรก็ตาม คิดว่าวันนี้น่าจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าอยู่ในระดับที่ดี ที่ผ่านมาได้มีการร่วมกันจับอาวุธสงคราม พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศพม่าก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงความทัดเทียม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว