xs
xsm
sm
md
lg

พท.ไม่ถอนพรบ.ปรองดอง เลื่อนร่างกม.10ฉบับมาถก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (1ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม หลังจากที่ประธานได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบ พ.ร.ฏ.เปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไปแล้ว นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ได้มีการขอเลื่อนระเบียบวาระ ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ขึ้นมาพิจารณาก่อน 10 ฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่..)พ.ศ...

** ไม่ถอนร่างปรองดองเรื่องไม่จบ

แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน ) ขอหารือว่า การขอเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าว เพื่อให้มีผลในการประชุมนัดพิเศษนัดนี้หรือให้มีผลต่อการกำหนดระเบียบวาระการประชุมนัดปกติต่อไป ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อน เพราะหากขอเลื่อนระเบียบวาระ เพื่อแก้ปัญหากฎหมายล้างผิดที่มีการเลื่อนระเบียบวาระครั้งที่ผ่านมา แล้วก็มาเลื่อนมาทับแบบนี้ไปเรื่อยๆ ที่สุด พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เป็นปัญหาก็คาอยู่ในวาระของสภาฯ อยู่ดี
" ตอนที่สภาขอเลื่อน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณาก่อน แม้ฝ่ายค้านจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ ฟังจนสภาเดือด มาวันนี้ยังไม่ได้พิจารณา ก็มาขอเลื่อนออกไป ครั้งที่แล้วเอาสภาฯ มาสร้างปัญหา แต่ครั้งนี้จะเอาสภาฯ มาแก้ปัญหาที่ท่านสร้าง ดังนั้น อยากทราบเหตุผลว่า การเลื่อนระเบียบวาระเพื่อความสงบของบ้านเมือง หรือเพราะใบสั่งที่เปลี่ยนไป ถึงแม้จะเลื่อนไปอย่างไรปัญหาห็ยังไม่จบ ตราบใดที่กฎหมายยังคาอยู่ในสภาฯ เพราะเมื่อพิจารณาหมดทั้ง 10 ฉบับแล้วท่านก็ต้องเลื่อนวาระมาอีกเรื่อยๆ"
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนเห็นว่ามีคนอยู่ 4 กลุ่ม ที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้คือ ประธานสภาฯ นายกฯ ผู้ที่เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ ทั้ง 4 ร่าง และเสียงข้างมากในสภา โดยประธานสภาฯ ไปเจรจากับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะผู้เสนอร่าง และไปหารือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย แต่เนื่องจากประธานสภาฯ ไม่รับคำปรารถนาดีของตน ที่จะไปขอเข้าพบประธาน เพื่อสอบถามความคืบหน้าเป็นการภายใน จึงต้องมาถามในสภาฯ ว่ามีผลการไปเจรจาคืบหน้าเป็นอย่างไร รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาจากนี้ ประธานจะใช้วิธีนัดประชุมพิเศษแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อเลี่ยง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือจะใช้วิธีการอย่างอื่น และอีกส่วนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไปเจรจากับพล.อ.สนธิ และผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าแกนนำพรรครัฐบาล และเป็น ส.ส. ขอให้ถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไป เพราะหากเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ความรับผิดชอบก็หนีไม่พ้นตัวนายกฯ เอง การโยนความรับผิดชอบให้สภาฯ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นการปัดความรับผิดชอบของนายกฯ อย่าทำแบบปากว่าตาขยิบ อย่ามาอ้างว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง เพราะครม.เคยมีมติเรื่องนี้ให้ไปจัดสานเสวนา รับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อนำมาเป็นประโยชน์สนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดองต่อไป โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพดำเนินการเรื่องนี้ จึงปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะกระทรวงมหาดไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ผลที่ออกมาอาจจะไม่เป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ หรือควรประสานไปยัง ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ให้ถอนรายชื่อออกมา เพราะหากมีรายชื่อไม่ครบ 20 คน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะตกไป
" การเลื่อนระเบียบวาระไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ซื้อเวลา ลดกระแสการต่อต้านกฎหมายนี้ชั่วคราว และเมื่อถึงเวลาเหมาะ ก็เชื่อว่าจะได้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาอาละวาดในสภาฯ อีก ยืนยัน ขอให้ถอน พ.ร.บ.ปรองดองนี้ออกไป เพราะจะเป็นการดึงเชื้อไฟออกจากกองเพลิง ให้บ้านเมืองสงบ อย่างน้อยก็เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งตราบเท่าที่รัฐบาลไม่เสนอเรื่องที่เป็นปัญหากับประเทศอีก และหากยังพยายามจะมีมติขอเลื่อนระเบียบวาระอีก พวกเราก็จะไม่ร่วมลงมติในเรื่องนี้" นายจุรินทร์ กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่า ให้ถอนปรองดอง และไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะไปคุยกับเจ้าของญัตติให้ถอน แต่พูดว่าส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีการยื้อ พ.ร.บ.ปรองดอง ออกไป และจะไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนก็ได้ทำตามที่พูด แนวโน้วก็ออกมาดี เท่าที่ฟังสมาชิก ก็คล้อยตามว่าต้องยื้อออกไปก่อน ส่วนจะทำในรูปแบบใด ก็ให้เป็นความเห็นของสมาชิกที่ต้องหารือกันต่อไป

**อ้างรอปชป.เสนอร่าง มาประกบ

ขณะที่นายสุนัย จุลพงษธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ต้องเลื่อนกฎหมายทั้ง 10 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะอยากจะรอคอยโอกาสให้ฝ่ายค้านเปลี่ยนใจ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ว่า จะเสนอกฎหมายเข้ามาด้วย ประชาชนจึงตั้งข้อสงสัยว่า คำว่า ปรองดอง ทำไมกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านบอกให้ล้ม แต่ไม่ใส่ชื่อบอกให้ล้มกฎหมายปรองดอง เพราะจะมีการล้มสถาบันฯ ตำรวจก็ไปจับ วันนี้ท่านใช้วาทกรรมว่า ต้องไปสานเสวนา ขณะนี้รัฐบาลก็กำลังทำอยู่
" เพื่อรอเวลาให้มีการปรึกษาหารือ เผื่อจะเปลี่ยนใจฝ่ายค้านที่เคยเสนอกฎหมายปรองดองต่อสาธารณชน ได้เปลี่ยนใจเสนอกฎหมายประกบ แล้วมาแก้ไขตามกลไกที่สภาฯ เคยดำเนินการไป ซึ่งการเสนอเลื่อนระเบียบวาระ เป็นไปตามข้อบังคับที่ 46 ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องไปพาดพิงกับนายกฯ ที่เป็นฝ่ายบริหาร อย่าให้มีการฉุดกระชากไปถึงเก้าอี้ของนายกฯ เลย เอาเท่านี้พอ ท่านกล่าวให้ร้ายบอกนายกฯ ปากว่าตาขยิบ ผมไม่อยากตอบโต้ เป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน ควรใช้ถ้อยคำที่ดีต่อกัน ผมไม่อยากให้ไทยกลายเป็นประเทศที่บอบช้ำที่สุดจากปัญหาความขัดแย้งภายใน หากจะเห็นความสงบของบ้านเมือง อย่างน้อยให้เริ่มต้นจากพวกเรา อยากขอให้วันนี้จบลงเพียงว่าให้เลื่อน 10 ฉบับหรือไม่ ไม่ต้องตำหนิกันแล้ว ไปเปิดวันพุธหน้า วันนี้ถือเป็นปฐมฤกษ์ อยากให้วันนี้เริ่มต้นปรองดองด้วยจิตใจที่ดีต่อกัน" นายสุนัย กล่าว

** ปชป.ไม่ร่วมลงติ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลื่อนระเบียบวาระในวันนี้ จะมีผลในสัปดาห์ถัดไปที่จะเป็นการประชุมวาระพิเศษ หรือวาระปกติ การที่ต้องบรรจุระเบียบวาระนัดพิเศษ เป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาของกฎหมายปรองดอง ใช่หรือไม่ จึงถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ถอน ซึ่งความเห็นของประธาน กับสมาชิก ก็ไม่ตรงกัน มาบอกรอฝ่ายค้านเปลี่ยนใจ ที่ต้องถามเพราะทุกฝ่ายเห็นด้วยเรื่องความปรองดอง แต่ความหมายของ ปรองดอง คือ การเห็นพ้องต้องกันของสังคม ว่าต้องการความสามัคคีในชาติ แต่ พ.ร.บ.ปรองดอง ตอนเสนอทำให้สถานการณ์การเมืองมันร้อนระอุ มีการชุมนุมกัน บางฝ่ายประกาศว่า วันใดกฎหมายปรองดองเข้าสภา ที่หน้าสภาจะมีคนมาชุมนุมอีก หากประธานสภาฯ นายกฯ และส.ส. เห็นพ้องว่า จะสร้างความปรองดอง ก็ขอให้ถอนอกไป ส่วนต่อไปจะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล และฝ่ายค้านต้องไปหารือกัน แต่หากกฎหมายปรองดองยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังเปิดช่องให้คืนเงิน มีการล้างผิดความเห็นพ้องของคนในชาติ ก็คงไม่เกิด เพราะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม
อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้าน ยังคงแสดงความเห็นคัดค้าน เพราะเห็นว่าไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา เพราะที่สุดแล้ว พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ค้างในสภาฯ อยู่ดี การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ถอนออกไป แต่หากยังพยายามจะขอเลื่อนระเบียบวาระแบบนี้ พวกตนก็ขออนุญาตไม่ร่วมลงมติด้วย
หลังจากมีการแสดงความเห็นกันพอสมควร ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 272 ต่อ 1 ไม่ลงคะแนน 6 และงดออกเสียง 8 เสียง ให้เลื่อนระเบียบวาระนำกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยนายสมศักดิ์ ได้ระบุว่า การเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าว จะมีผลในการประชุมสภาฯ ตามปกติในสัปดาห์หน้า โดยตามวาระ จะมีการพิจารณากฎหมายทั้ง 10 ฉบับก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่อยู่ในวาระแรกต่อไป
จากนั้น นายสมศักดิ์ สั่งปิดประชุมเมื่อ 15.15 น. ส่วนการประชุมนัดต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 8 ส.ค.

** ขอเวลาศึกษาแก้รธน.3-4 เดือน

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 11 คน ว่า คณะทำงานฯ ชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยกลาง และ คำวินิจฉัยส่วนตน ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสิ่งใดมีผลผูกพัน และไม่ผูกพัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาว่าจะโหวต ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ได้หรือไม่ หรือหากมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา จะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง คาดว่าคงใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 3-4 เดือน โดยรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 11 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย 7 คน ได้แก่ นายโภคิน พลกุล นายวราเทพ รัตนากร นายภูมิธรรม เวชยชัย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายพีรพันธุ์ พาลุสุข นายสามารถ แก้วมีชัย พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล นายชยุต ภุมมะกาญจนะ พรรคชาติพัฒนา 1 คนคือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และพรรคพลังชล 1 คน คือ นายสันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการ ตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องดี เพื่อที่จะได้มีเวลาหารือร่วมกันจนตกผลึก และนำไปสู่ข้อสรุปที่มีแนวทางเดียวกัน ส่วนจะจะขัดกับแนวทางของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น เห็นว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการฯแล้ว ก็ต้องให้เขาไปหารือ หากเขาต้องการแก้ทั้งฉบับ ก็คงไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดนี้ขึ้นมา
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่พรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน เพราะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ไม่ผิด และให้ดำเนินการเดินหน้าต่อได้ทันที แต่ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่สมควรเร่งรีบ ต้องเดินอย่างรอบคอบ และควรแก้ไขเป็นรายมาตรา จะง่ายกว่าในการมีส.ส.ร.
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้มอบหมายให้เลขาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือเพื่อสอบถามความชัดเจนในเรื่องนี้ นอกจากนี้นายกฯ ยังมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ รมว.มหาดไทย เข้าไปดูแลในเรื่องการสานเสวนา
น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ตนเห็นว่า ควรเดินหน้าโหวต วาระ3 ต่อไป เพียงแต่ต้องมีการปรับยุทธวิธีบ้างเล็กน้อย ตามที่นายกฯ บอก คือ แค่ถอยเพื่อลดความขัดแย้ง แล้วทำความเข้าใจกับประชาชนสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ แต่ต้องมีการโหวตวาระ 3 แน่
ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ส.ค. ทางกลุ่ม นปช. จะมีประชุมเพื่อหาข้อสรุป เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากมีคำวินิจฉัยกลางออกมาแล้ว

** อย่าจัดเวทีเฉพาะหมู่บ้านแดง

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หยุดบิดเบือนความจริง ที่คนทั่วโลกรับรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังรัฐบาลนี้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ผลักดัน กม.ปรองดอง ซึ่งในคลิปเสียงของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ก็ระบุชัดเจน ว่าทุกอย่างต้องรอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ตัดสินใจ จึงจะเดินหน้าได้
ดังนั้นการที่พรรคร่วมรัฐบาล ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไป และบอกว่า จะจัดเวทีทำความเข้าใจกับประชาชนนั้น ก็อยากเรียกร้องว่า การจัดเวทีต้องให้ความรู้ว่า เหตุใดต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน จะแก้ไขมาตราใดบ้าง ไม่ใช่กรอกหูประชาชนให้ล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า มีเจตนาแอบแฝงซ่อนเร้น ล้มรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่ เพื่อประโยชน์ของพ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้อง
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะไปร่วมเวที เพื่อให้เหตุผล ให้ความจริงกับประชาชน จึงอยากให้เชิญฝ่ายที่เห็นต่าง ทั้งประชาธิปัตย์ และภาคประชาชน พร้อมกับจัดให้มีการถ่ายทอดสดเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่แอบไปจัดเวทีในหมู่บ้านเสื้อแดง แล้วก็เหมารวมว่า เป็นความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ มาสนับสนุนความต้องการของตัวเอง

** วงที่ปรึกษาผู้ตรวจฯหนุนรัฐถอยแก้รธน.

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับลักษณะ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่คณะทำงานด้านรัฐศาสตร์ ได้ไปรวบรวมและนำเสนอมา และได้มีการอภิปรายเปรียบเทียบกันอย่างกว้างขวาง โดยที่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งในประชุมครั้งหน้า ก็จะได้พูดคุยกันต่อถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย
ทั้งนี้นายกิตติศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลฯ ออกมามีประเด็นที่เหมือนกับที่คณะที่ปรึกษากฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยมีข้อเสนอไปยังรัฐสภา เช่น ในเรื่องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรมีการทำประชามติ ถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน แต่การที่รัฐบาลยอมที่ถอยในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการจัดเวทีสานเสวนาเสียก่อน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่รัฐบาลต้องการทำให้ประชาชนเกิดการยอมรับ และไว้วางใจในรัฐบาล
" การที่รัฐบาลยอมกลับลำในเรื่องนี้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลยอมรับว่าสิ่งที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้มีปัญหา ซึ่งเมื่อรัฐบาลจะจัดเวทีสานเสวนา เราก็ต้องให้เกียรติรัฐบาล และสภาว่าเขามีเจตนาดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกไว้วางใจ ซึ่งสภาที่ดี ผู้นำที่ดี จะต้องไม่ทำอะไรที่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้ไม่ไว้วางใจ เพราะย่อมไม่เป็นผลดีกับการบริหารงานของรัฐบาลเอง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการประชุมครั้งนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 5 คน ประกอบด้วย นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายกิตติศักดิ์ ปรกติ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

** ยื่นสอบจริยธรรม"ค้อนปลอม"

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ได้เตรียมยื่นเรื่องถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร กรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้พูดว่ามีการติดต่อกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ในการเป็นประธานสภา ในฐานะประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในงานวันเกิดของนายสมศักดิ์ ที่ อ.น้ำหนาว จ. เพชรบูรณ์ ซึ่งเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นพฤติกรรมที่มีความผิดร้ายแรง และเสื่อมเสียต่อเกียรติ ศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ของ ส.ส. และกรรมมาธิการ พ.ศ. 2553
ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของนายสมศักดิ์ จะต้องมีความสุจริต เที่ยงธรรม และมีความอิสระ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ และขัดต่อบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรค 4 ที่ประธานรัฐสภา และคนที่มาทำหน้าที่แทน ต้องปฏิบัติหน้าที่วางตัวเป็นกลาง จึงขอให้ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้พิจารณาสอบสวน และลงโทษต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น