ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- แม้ในช่วงโค้งแรกการช่วงชิงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่” แทน “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้จะเบียดกันชนิดลมหายใจรดต้นคอระหว่าง บิ๊กอู๋-“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” และ บิ๊กปาน-“พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต”
แถมประหนึ่งดูเหมือนว่า ในโค้งแรก พล.ต.อ.ปานศิริจะมีภาษีเหนือกว่าด้วยซ้ำ เนื่องเพราะมีความสนิทสนมกับ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตัวจริงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ขณะเดียวกันก่อนหน้าที่จะประการผลไม่นานนักก็เป็นที่รับรู้เป็นการภายในว่า บิ๊กปานแอบซุ่มเงียบไปขอ
ความร่วมมือในการทำงานกับนายตำรวจที่คุมกำลังในส่วนต่างๆ ราวกับว่า เก้าอี้ตัวนี้แบเบอร์เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ก่อนที่จะการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) คณะทำงานได้เตรียมแฟ้มประวัติและผลงานของคู่ตัวเต็งทั้งสองเอาไว้ให้ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ต.ช.โดยตำแหน่งพิจารณา แต่เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น นางสาวยิ่งลักษณ์กลับไม่พูดพร่ำทำ เพลงเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์เพียงคนเดียวให้ที่ประชุม ก.ต.ช.พิจารณา เสมือนหนึ่งมีการ “ล็อกโผ” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยไม่ได้ว่า อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.ต.อ.อดุลย์วิ่งเข้าป้ายแบบม้วนเดียวจบโดย ก.ต.ช.ใช้เวลาเพียงแค่ราว 40 นาที ชนิดไม่ต้องลุ้นหรือล็อบบี้กันให้วุ่นวายเหมือนเมื่อครั้ง “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี”
ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่า ในความเป็นจริงแล้ว พล.ต.อ.ปานศิริก็จัดว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้มีอำนาจทุบโต๊ะเลือก ผบ.ตร.อย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตรแค่ไหน
เรียกว่าสนิทกันตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจเสียด้วยซ้ำไป เพราะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่เรียนทันกันในโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จังหวัดนครปฐม โดย พล.ต.อ.ปานศิริเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 28(นรต.28) ขณะที่ นช.ทักษิณเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 26(นรต.26)
แถมในสมัยที่ นช.ทักษิณ ก้าวขึ้นเถลิงอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี และรั้งตำแหน่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก็เลือก พล.ต.อ.ปานศิริ ให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) โดยให้โยกมาจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญและผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ตัวนี้จำต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลเป็นพิเศษ เหมือนเช่น พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ก่อนที่จะผิดพลาดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในการจัดการกับม็อบหน้ารัฐสภาที่ต่อต้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ จนถูกเด้งและโยก บิ๊กแจ๊ส-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างมาเป็นใหญ่แทน
ด้วยเหตุดังกล่าว ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ พล.ต.อ.อดุลย์คือนายตำรวจที่มีหัวใจสีแดง และจงรักภักดีต่อระบอบทักษิณยิ่งกว่า พล.ต.อ.ปานศิริ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้แสดงออกที่ชัดแจ้ง เพราะไม่เช่นนั้น พล.ต.อ.อดุลย์จะไม่มีทางได้รับความไว้วางใจจาก นช.ทักษิณ ชินวัตร ให้มาตำแหน่งอันสำคัญยิ่งเช่นนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ตำรวจคือต้นธารของกระบวนการยุติธรรมที่สามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ปรารถนาได้
โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลไม่มีความมั่นคง และสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับการชุมนุมของกลุ่มพลังต่างๆ เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงมีความสำคัญ กระทั่งกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในเสาหลักที่จะค้ำบัลลังก์ของรัฐบาลเลยทีเดียว
“กรอบการพิจารณาที่นายกฯ เน้น และให้ความสำคัญคือ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ต้องพัฒนาและนำองค์กรต่อไปในทิศทางตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันปราบปรามยาเสพติด การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ โดยเฉพาะการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสองปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องได้ผู้บังคับบัญชาที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินการในสิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งนายกฯ เสนอรายชื่อเพียงคนเดียว”
เหตุผลที่นางสาวยิ่งลักษณ์กำหนดเอาไว้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ข้างต้นตามที่ปรากฏเป็นข่าวจากคำให้สัมภาษณ์ของ “พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” โฆษก ก.ต.ช. รวมทั้งที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาน่าจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง และถ้าจะว่าไปแล้วก็น่าจะเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้ ความจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ไว้ใจและเป็นมือเป็นไม้ในการปฏิบัติงานตามคำสั่งได้ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ว่า หลัง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ลงจากเก้าอี้ ผบ.ตร.แล้ว ใครคือนายตำรวจที่ระบอบทักษิณให้ความไว้วางใจมากที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่า หลังจากรัฐประหาร เครือข่ายตำรวจสีแดงได้ถูกตัดตอนและโยกย้ายไปให้พ้นจากตำแหน่งสำคัญพอสมควร
สุดท้ายหวยจึงมาหยุดลงที่ชื่อ 2 นายพลตำรวจชื่อ ปานศิริและอดุลย์
อย่างไรก็ตาม ถามว่าแล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ นช.เคาะชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์แทนที่จะเป็น พล.ต.ท.ปานศิริ
แน่นอน ถ้าหากย้อนกลับไปดูเส้นทางการเติบโตของ พล.ต.อ.อดุลย์ก็จะพบเงื่อนงำที่น่าสนใจและน่าจะเกี่ยวข้องกับการปูนบำเหน็จให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 9 สืบต่อจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ได้
หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ “สมีกี้ร์-อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง” นำกองทัพแดงบุกเข้าล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหรืออาเซียนซัมมิทที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา วันที่ 11 เมษายน 2552 จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องประการยกเลิกการประชุม ขณะที่ผู้นำชาติต่างๆ ต้องหนีตายกันอย่างโกลาหล นายตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวก็คือ พล.ต.อ.อดุลย์คนนี้
10 มิถุนายน 2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ล้มอาเซียนซัมมิทที่พัทยาเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า....”เดิมกำหนดไว้ที่ภูเก็ต แต่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ช่วงดังกล่าวโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้นำประเทศต่างๆ ได้ จึงต้องจัดที่พัทยา ซึ่งผมเหมือนคนได้ใจ เพราะก่อนหน้านี้เคยจัดที่หัวหินแล้วประสบความสำเร็จ งานนี้ถ้าตายเรียกว่าตายกลางอากาศแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะตำรวจมีแผนการปฏิบัติสมบูรณ์ ยิ่งได้ พล.ต.ท.อดุลย์(ยศในขณะนั้น) แสงสิงแก้ว ผช.ผบ.ตร.ซึ่งมีชื่อเสียงในภาคใต้มาช่วยยิ่งมั่นใจ แต่สุดท้ายไม่ได้ทำอะไรเพราะกลัวจะผิดกฎหมาย ส่วนตัวยังคิดว่า พล.ต.ท.อดุลย์จะมีฝีมือมากกว่านี้”
นายสุเทพบ่นด้วยความผิดหวังเนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า ความสัมพันธ์ของ พล.ต.อ.อดุลย์และพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั้นแนบแน่นขนาดไหน
นั่นคือร่องรอยแรกที่สังคมได้เห็นถึงจุดยืนของบิ๊กอู๋ว่าแท้ที่จริงแล้วเขาเลือกที่จะยืนอยู่ข้างไหน
และว่ากันว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความประทับใจให้กับ นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นอย่างมาก กระทั่งบันทึกชื่อของบิ๊กอู๋เอาไว้ในบัญชีส่วนตัวกันเลยทีเดียว
ส่วนร่องรอยประการที่สองก็คือ การที่ พล.ต.อ.อดุลย์ได้รับความไว้วางใจจาก นช.ทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างยิ่งยวดเพราะนอกจากจะเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) แล้ว ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)” อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ ดังนั้น คนที่รั้งเก้าอี้ตัวนี้รัฐบาลจึงจำต้องมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันนโยบายนี้ให้ประสบความสำเร็จและโดนใจประชาชน
จากนั้นชื่อของ พล.ต.อ.อดุลย์ก็โดดเด่นอีกคำรบเมื่อได้รับมอบหมายให้นำทีมควบคุมการชุมนุมของม็อบการเมืองหลังจากหลานเขย-พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นพลาดท่าให้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและม็อบเสื้อหลากสีในการชุมนุมขัดขวางการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติจนรัฐบาลต้องถอยแล้วถ่อยอีกด้วยความช้ำใจ
ขณะที่ชื่อของ พล.ต.อ.ปานศิริเริ่มจากหายไปจากบัญชีของ นช.ทักษิณเมื่อเขามิได้เข้ามาช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกในเหตุการณ์จลาจลเผาบ้านเผาเมืองของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ตามที่นายใหญ่ต้องการเท่าที่ควร
และท้ายที่สุดความชัดเจนก็เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ ก.ต.ช.จะมีมติเป็นเอกฉันท์เลือก พล.ต.อ.อดุลย์เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ไม่นานนัก เนื่องจากมีข่าวสะพัดภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเป็นที่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาต่อมาว่า พล.ต.อ.อดุลย์ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ซึ่งด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ยิ่งใกล้วันประชุม ก.ต.ช.ยิ่งทำให้ชื่อของ พล.ต.อ.อดุลย์มีภาษีเหนือกว่า พล.ต.อ.ปานศิริหลายเท่าตัวนัก กระทั่งในที่สุดก็ได้รับคัดเลือกจาก ก.ต.ช.เป็นเอกฉันท์ให้นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.คนต่อไป
นั่นแสดงว่า พล.ต.อ.อดุลย์ต้องปวารณาตัวที่จะรับใช้ในทุกรูปแบบ ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ได้รับการคัดเลือก ส่วนจะรับใช้ในลักษณะใดบ้างนั้น สังคมคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ผบ.ตร.คนนี้จะทำงานรับใช้ประชาชนหรืออยู่ในเก้าอี้เพื่อตอบสนองนายใหญ่ผู้ดลบันดาลตำแหน่งให้เท่านั้น
ที่สำคัญคือ พล.ต.อ.อดุลย์จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การเดินทางไปพบกับนักโทษชายทักษิณที่หนีคดีแผ่นดินนั้น เหมาะแล้วหรือ เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.ต.อ.อดุลย์คือตำรวจ และเป็นถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ร้ายหลบหนีคดีมาลงโทษตามกฎหมายของบ้านเมืองให้ได้
ดังนั้น พล.ต.อ.อดุลย์จึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 อย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
นี่ขนาดยังไม่ได้เป็น ผบ.ตร.เต็มตัวยังยอมก้มหัวศิโรราบขนาดนี้ ถ้าได้เป็นจริงๆ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้หรือ
พล.ต.อ.อดุลย์จะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หรือผู้พิทักษ์ระบอบทักษิณกันแน่
ขณะเดียวกัน ถ้าหากกล่าวถึงจุดด่างพร้อยของการทำงานแล้ว ก็ต้องบอกว่า แม้ พล.ต.อ.อดุลย์ก็มีชื่อเสียงโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้จนได้รับสารพัดรางวัล แต่กับเหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนทั้งประเทศกรณี “จ่าเพียร” พล.ต.อ.สมญา เอกสมเพียร” ก็ทำให้สังคมอดแปลกใจต่อมติของ ก.ต.ช.ที่เป็นเอกฉันท์ดังกล่าวไม่ได้
หากยังจำกันได้ ก่อนที่จ่าเพียร-วีรบุรุษแห่งเทือกเขาบูโดจะเสียชีวิต เขาได้ขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโยกย้ายไปเป็นผกก.สภ.กันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งมีตำแหน่งว่างอยู่ และเห็นว่าเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่รับราชการตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนมาเป็นเวลา 40 ปี แต่สุดท้ายไม่ได้รับการพิจารณา โดยไม่ทราบเหตุผลชัดเจน
และผู้บังคับบัญชาคนที่จ่าเพียรทำหนังสือร้องเรียนมาถึงก็คือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา สบ.10
แต่คำร้องขอของจ่าเพียรก็มิได้รับการตอบสนอง กระทั่งในที่ก็ต้องเสียชีวิตภายใต้เงื้อมมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ
ดังนั้น สิ่งที่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมตำรวจจะต้องจับตากันต่อไปก็คือ หลังก้าวขึ้นรับตำแหน่งโดยสมบูรณ์แล้ว การโยกย้ายนายตำรวจในทุกระดับชั้นจะมีเรื่องฉาวโฉ่เกิดขึ้นตามมาหรือไม่ จะมีกรณีสารพัดตั๋วปรากฏออกมาให้สะท้านเมืองเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งกาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์
อย่างไรก็ตาม นอกจากเก้าอี้ ผบ.ตร.ที่ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่า พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้วเข้าป้ายไปอย่างสบายใจเฉิบแล้ว สิ่งที่มิอาจมองข้ามได้เช่นกันก็คือ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อดีตผบ.ตร.ที่ชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน ภรรยาของ นช.ทักษิณจะได้รับการจัดวางตำแหน่งแห่งหนให้อยู่ที่ตรงไหน
ทั้งนี้ กระแสข่าวที่เล็ดลอดเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายวังจันทร์ส่องหล้า ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะไม่ล้างมือในอ่างทองคำอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะรั้งตำแหน่งแสนาบดีคนสำคัญในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
ว่ากันว่า เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีคือเก้าอี้ที่น้องสาวร้องขอเอาไว้ให้กับผู้เป็นพี่ชายเรียบร้อยแล้ว โดยมีภารกิจสำคัญคือการสานต่องานด้านการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล
และนั่นน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปรับคณะรัฐมนตรีต้องเลื่อนออกไป
ส่วนหลังจากนั้น เส้นทางชีวิตทางการเมืองของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะเดินทางไปในเส้นทางไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่า นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมานจะมีความอดทนกับน้องสาวและน้องสามีของตนเองมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้านานวันไป คะแนนนิยมในรัฐบาลยิ่งเสื่อมโทรม หวยก็อาจจะออกมาที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ที่จะถูกผลักดันให้รั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ได้....
ขนาดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยังเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้
แล้วทำไม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีบ้างไม่ได้
ล้อมกรอบ//
9 แคนดิเดต ผบ.ตร. เรียงตามอาวุโส
1.พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร.
2.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร.
3.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร.
4.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.
5.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.
6.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ปรึกษา (สบ 10 )
7.พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10)
8.พล.ต.อ.ชลธาร จิราณรงค์ หน.นรป.(สบ 10)
9.พล.ต.อ.อมรินทร์ อัครวงษ์ ที่ปรึกษา (สบ.10)