xs
xsm
sm
md
lg

20แกนนำแดง ศาลฯนัดชี้ขาด ปมข่มขู่ผิดเงื่อนไขประกันตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - “ก่อแก้ว”พร้อมแกนนำเสื้อแดง 20 คน เตรียมนอนคุก! อีกรอบ หลังศาลอาญาพิจารณาทบทวนคำสั่งให้ประกันตัว “ก่อแก้ว” กรณี “ส.ส.ปชป.” ยื่นหนังสือให้ศาลมีคำสั่งทบทวนฯ หลังยั่วยุปชช.ให้ออกมาจับตัวศาลรธน.“วีระ-กี้ร์-เต้น” ซวยโดนหางเลข ด้าน"หางแดง"ป่วนนอกสภา ไล่9 ตุลาการ พร้อมเร่งให้สภาโหวตวาระ 3 "ปู"ปัดอ้างรอฟังกฤษฏีกาชี้แนะ ก่อนตัดสินใจ "เหลิม"ห่วงเก้าอี้ แนะแก้รายมาตรา จะช้าไป 3-6 เดือน ก็ไม่เห็นเป็นไร

วานนี้ (16 ก.ค.) นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้เรียกประชุมผู้บริหารศาลอาญา เพื่อพิจารณากรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาทบทวนคำสั่งให้ประกันตัวนายก่อแก้ว พิกุลกอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีแถลงข่าวยั่วยุให้ประชาชนออกมาจับตัวศาลรัฐธรรมนูญ

นายทวี กล่าวว่า คณะทำงานได้พิจารณาหลักฐาน มีแผ่นวิซีดี เอกสารการถอดข้อความ ภาพจากสื่อทีวี หนังสือพิมพ์และวิทยุ เห็นว่า ภาพและเสียงของนายก่อแก้วมีพฤติการณ์หมิ่นเหม่การผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ดังนั้น ศาลอาญาจึงมีมติให้ทำคำสั่งออกหมายเรียกนายก่อแก้วมาไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. นอกจากนี้ พบว่ายังนักการเมืองที่ตกเป็นจำเลยอื่นๆ ของศาลมีพฤติกรรมคล้ายกัน จึงมีมติให้ออกหมายเรียกนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจำเลยในคดีก่อการร้ายอื่นทั้ง 3 สำนวน รวม 20 คน มาศาลเพื่อไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค.นี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ศาลจะไต่สวนนายนิพิฏฐ์ก่อน 1 ปาก แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าคัดค้าน หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว จำเลยก็อาจขออุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาได้ แต่จะขอให้ศาลอาญายุติการไต่สวนไม่ได้

นายทวีกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดที่กระทบต่ออำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา เพราะนักการเมืองที่ตกเป็นจำเลยต้องพึงระมัดระวังคำพูดว่า ต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อศาลอาญา การพูดไปโดยไม่สนใจใยดีต่ออำนาจศาล ยอมส่งผลร้ายแก่ตัวเอง และต่อสังคม หากวันที่นัดไว้ เป็นช่วงเปิดสมัยประชุมไปแล้ว แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 131 จะให้เอกสิทธิ์จำเลยที่เป็น ส.ส.ไม่ต้องมาศาลในวันที่ 9 ส.ค.ก็ตาม แต่ศาลอาญาจะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ไม่เป็น ส.ส.ไปก่อน ส่วนคนที่เป็น ส.ส.จะถูกพักการพิจารณาไว้จนกว่าจะปิดสมัยประชุม เมื่อถึงเวลานั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่มาก็ถือว่าหนี เข้าลักษณะผิดสัญญาประกัน ออกหมายจับได้ทันทีไม่มีไต่สวน

“ขอแนะนำจำเลยที่เป็น ส.ส. โดยเฉพาะที่เป็นแกนนำ แม้ว่าท่านจะใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นจะต้องไม่กระทบสิทธิต่อบุคคลอื่น ไม่ยุยงส่งเสริม วานใช้หรือโฆษณาให้ประชาชนกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะนายก่อแก้ว เห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อสัญญาประกันตัว แล้วเรื่องนี้กระทบต่อสถาบันศาลยุติธรรม จึงเป็นหน้าที่ศาลอาญาจะต้องทำ” นายทวีกล่าว

***'ปู'ปัดตอบรอกฤษฎีกาชี้แนะ

วานนี้ ( 16 ก.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงถึงท่าทีของรัฐบาล หลังศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.)มีคำวินิจฉัยออกมาในส่วนของ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่า รัฐบาลจะขอฟังข้อมูลจากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน จากนั้นจะนำมาหารือในครม. ซึ่งกระบวนการทั้งหมด จะหารือกันในที่ประชุมครม.วันนี้ (17 ก.ค.)

ส่วนความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นที่แตกต่างในขณะนี้ ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่ทั้งหมดเราต้องรอการตีความ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลมีนัยยะสำคัญ ขอฟังการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกากับความเห็นของครม.ก่อน รวมทั้งดูในข้อกฎหมายด้วย ซึ่งเบื้องต้นการประชุม ครม.วันที่ 17 ก.ค. คณะกรรมการกฤษฎีกา คงนำคำวินิจฉัยของศาลและการตีความมาแสนอต่อครม.

เมื่อถามว่าคิดว่า ควรชะลอการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไว้ก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องรอฟังกฤษฎีกาก่อน เมื่อถามย้ำว่า ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขอฟังความเห็นของกฤษฎีกาก่อน เมื่อถามว่า กลุ่มนิติราษฎร์ เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า ยังสรุปไม่ได้ ต้องรอการตีความของกฤษฎีกาก่อน

** รอคำวินิจฉัยประกาศในราชกิจจาฯ

ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมกฎหมายของพรรค กล่าวภายหลังการประชุมแกนนำพรรคว่า ที่ประชุมเห็นว่าขณะนี้คำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัว ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ระบุชัดเจนว่า ตุลาการศาลรธน.ต้องทำความเห็นส่วนตัวพร้อมแถลงด้วยวาจา ก่อนลงมติพร้อมให้ประกาศคำวินิจฉัยส่วนตัวในราชกิจจานุเบกษาภายใน 15 วัน ซึ่งคำวินิจฉัยที่ศาลอ่านให้ฟังนั้น ยังไม่รู้ว่าจะเหมือน หรือแตกต่างจากคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัวที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่

สำหรับกรณีที่โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาอธิบายคำวินิจฉัยของศาลฯนั้น ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องมาอธิบาย ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลฯในวันนี้ จึงยังไม่ชัดเจน จึงทำอะไรไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ออกมาอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะไม่มีความชัดเจนเลย เมื่อมีคำแนะนำออกมา ถ้าเราไม่ทำตาม ก็คงมีคนไปร้องศาลอีก และศาลก็สามารถรับฟ้องได้ตามมาตรา 68 เพราะได้สร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว

ส่วนแนวทางหลังจากนี้ ก็มีหลากหลาย จะเดินหน้าโหวตวาระ3 ไปเลย หรือจะให้ทำประชามติก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่า ควรเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้เลย เพราะสุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านประชามติ จากประชาชนอยู่ดี และดีกว่าทำก่อนด้วย เพราะประชาชนสามารถเปรียบเทียบได้

**"เหลิม"ฟันธงแก้รายมาตรา

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรรีบเร่งลงมติวาระ 3 ควรใจเย็นๆ ศึกษาให้ถ่องแท้ คำวินิจฉัยส่วนตนเป็นอย่างไร เราก็ยังไม่ทราบ เราทราบแต่คำวินิจฉัยส่วนกลาง แต่โดยหลักการมี 3 ช่องทาง คือ 1. จะลงระเบียบวาระที่ 3 เลยหรือไม่ ซึ่งมุมมองของตน หากไปลงมติในวาระที่ 3 ทันที จะก่อให้เกิดการโต้แย้ง และจะนำไปสู่ความยุ่งยากเหมือนเมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา 2.ไปถามประชามติพี่น้องประชาชนก่อน แล้วค่อยยกร่าง แต่ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ติดตามการเมือง ถ้าตามการเมืองท่านเขียนไม่ได้เลย เพราะพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศมาตลอดว่า หากชนะการเลือกตั้ง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเราชนะมา 265 ที่นั่ง ก็แสดงว่า ประชาชาชนได้แสดงประชามติ เมื่อ 3 ก.ค.54 มาเรียบร้อยแล้ว อีกนัยหนึ่ง หากจะไปถามประชาชนว่า เห็นควรให้แก้หรือไม่ ประชาชนบางส่วนก็จะบอกว่า มาถามทำไม เพราะยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขอะไร เหตุใดจึงไม่แก้เสียก่อนแล้วจึงไปถามประชามติทีหลัง

3. แก้เป็นรายมาตรา เพื่อป้องกันปัญหาในภายภาคหน้า ซึ่งตนคิดว่า แนวทางนี้ดีที่สุด และศาลก็ว่าไม่ได้ พวกคัดค้านก็ลำบาก เพราะต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ในสภา

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องตั้งธงว่า ต้องการแก้ไขรูปแบบใด และกำหนดรายละเอียด จากนั้นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูว่า ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไปทำให้ยุ่ง มันก็ยุ่ง ซึ่งถ้ารัฐบาลใช้ตน คิดว่าเวลา 90 วัน ก็นานเกินไป เมื่อถามว่าจะไปหาแนวร่วมในพรรคอย่างไร เพราะสมาชิกหลายคน ก็พยายามเร่งให้มีการลงมติในวาระ 3 ร.ต.อ.เฉลิม ตอบว่า ถ้าทำอย่างนั้น ปัญหาก็จะเกิด ซึ่งมันต้องตั้งหลัก ต้องทำอะไรให้ประชาชนพอใจมากๆ เสียก่อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ยาก

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้แก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า ตนไม่เคยเห็นด้วยกับระบบศาลคู่ เพราะควบคุมไม่ได้ ถ้าระบบศาลเดี่ยว มีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ ซึ่งระบบศาลคู่ เพิ่งมีเมื่อตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ เป็นลำดับแรกๆนั้น ตนยังไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเวลาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขแบบคลาสสิก แก้ไขแบบกระด้างไม่ได้

"วอนเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทย วันนี้ท่านทั้งหลายต้องรู้ว่า เราเป็นรัฐบาล อะไรก็ตามที่สงบนิ่ง มันจะเป็นผลดีให้ท่านนายกฯ บริหารราชการด้วยความราบเรียบ เราไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะช้าไป 3 - 6 เดือน ไม่เป็นอะไร ยังทำได้ วันนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้แก้ไขเป็นรายมาตรา มันจะเร็วยิ่งกว่าตั้ง ส.ส.ร. และพอแก้ไขเป็นรายมาตราเสร็จ ก็ไม่ต้องทำประชามติ เสร็จเร็วกว่าการจะดื้อดึง ลงมติวาระ 3 ที่อาจมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีก เดี๋ยวก็ต้องไปกินไทลินอล กันทุกเช้า วันนี้เมื่อศาลบอกแก้ได้เป็นรายมาตราได้ ก็ง่ายแล้ว" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

**แนะถอนร่างเก่า แล้วเสนอใหม่

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรมนูญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ตนขอพูดชัดๆว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 จะเดินหน้าได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก โดยการหยิบยกมาหารือในที่ประชุม จากนั้นก็ขอมติในที่ประชุมว่าจะทำอย่างไรต่อไป

แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือ โละของเดิมทิ้ง แล้วให้ ส.ส.และส.ว. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นรายมาตรา ซึ่งตรงนี้จะไม่ทำให้เสียเงิน หรือต้องไปตีความ แต่ความเห็นที่ตนเสนอมานี้ จะทำได้ หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสภาฯ หากตนมีอำนาจ ที่จะใช้ดุลยพินิจ ตนก็จะยืนยันแนวคิดนี้ เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประเทศและ ไม่ยอมให้คนไทยฆ่ากัน

ทั้งนี้ ในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่รอการลงมติในวาระ3 ขณะนี้ถือว่ายังไม่ตกไป ส่วนวิธีการถอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องให้เจ้าของผู้เสนอญัตติทั้งหมด ถอนในห้องประชุม ก็จะสามารถเริ่มการแก้ไขฉบับใหม่ได้ทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตัดสินใจของพรรคการเมือง ต้องรอฟัง “คนทางไกล” หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการกล่าวหากัน เพราะสิ่งที่หารือ ก็ต้องหารือด้วยเหตุ ด้วยผล ก็คงไม่มี “ใบสั่ง” อะไร

** "เจริญ"เบรก"ค้อนปลอม"ไม่ควรชี้นำ

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการแสดงความเห็นของนายสมศักดิ์ ที่ระบุให้ ส.ส.-ส.ว. ควรเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ส่วนตัวมองว่า ในฐานะประธานรัฐสภา ไม่ควรที่จะแสดงความเห็นออกมา

อย่างไรก็ตาม ในหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (5) ระบุว่า เมื่อพิจารณาวาระสอง เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ก่อนที่จะมีการลงมติวาระสามต่อไป ดังนั้นเมื่อพิจารณาประเด็นนี้ รัฐสภา สามารถลงมติในวาระสามได้ นอกจากนั้นแล้วในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้นำความเห็นส่วนบุคคลมาทำเป็นคำวินิจฉัย และได้ให้ข้อแนะนำว่า ควรทำประชามตินั้น ถือเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่มีสภาพบังคับ ทั้งนี้ความเห็นของรัฐสภา อาจจะแตกต่างกับของพรรคเพื่อไทยก็ได้ อย่างไรก็ตามต้องรอการหารือกับทางกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยอีกครั้งหนึ่ง

" การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม สามารถทำได้ทันที ตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่เชื่อว่า จะต้องมีคนนำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก ดังนั้นจึงต้องคุยกันให้จบ ไม่ใช่ปล่อยให้คาราคาซัง ส่วนที่ต้องทำประชามติ ปัญหาคือ จะต้องทำช่วงไหน จะทำประชามติก่อนลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม หรือต้องทำช่วงไหน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้ หากจะทำประชามติทั้งก่อน และหลังโหวตรัฐธรรมนูญ วาระสาม ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำถึง 2 ครั้ง" นายเจริญ กล่าว

ส่วนที่มีการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าแต่ละองค์กรมีหน้าที่ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลตรงไปตรงมา เหมือนศาลยุติธรรม ก็ไม่มีปัญหา

**"แก๊งแดง"ให้เร่งโหวตวาระ3

วานนี้ (16 ก.ค.) ที่รัฐสภา เครือข่ายวิทยุชุมชนปกป้องประชาธิปไตย และความเป็นธรรม นำโดย นายพลท เฉลิมแสน ในฐานะเลขาธิการเครือข่าย เข้ายื่นแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา ผ่านไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้เร่งดำเนินการลงมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ให้เร็วที่สุด เพื่อยุติการสร้างมาตรฐานใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

นายพลท กล่าวว่า เครือข่ายวิทยุชุมชนฯ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ มาตรา68 เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องได้ด้วยตนเอง และ เปรียบเสมือนใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อแนะนำว่า ให้ทำประชามติก่อน หากจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่ยอมชี้ชัดว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ รวมไปถึงการระบุว่า หากจะลงมติในวาระที่ 3 นั้น สามารถทำได้แต่ประธานรัฐสภาต้องรับผิดชอบนั้น ถือเป็นการวินิจฉัยใช้เทคนิคทางกฎหมาย ข่มขู่ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการละเมิดหลักกฎหมายมหาชน ดังนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประมุขนิติบัญญัติจึง ต้องยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง ชอบธรรม ด้วยการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติรับร่างในวาระที่ 3ทันที นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังสนับสนุนการดำเนินคดีต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้ อย่างถึงที่สุด และจะรณรงค์การถอดถอนตุลาการ ให้พ้นจากตำแหน่งด้วย

**"เสื้อแดง"บุกศาลรธน.ไล่ 9 ตุลาการฯ

วันเดียวกันนี้ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่ใช้ชื่อว่า ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยรักความเป็นธรรม รักความถูกต้องทั้งประเทศ จากสถานีวิทยุชุมชน จ.ปทุมธานี และ ต.สำโรง จ.สมุทรปราการ ประมาณ 30 คน นำโดย นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ได้เดินทางมาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน โดยได้การนำผ้าสีดำ มาผูกที่ป้ายสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผาโลงศพจำลอง ที่ติดรูปตุลาการทั้ง 9 คนไว้โดยรอบโลงศพ และชูป้ายประณามตุลาการทั้ง 9 คน โดยการชุมนุมปราศรัยครั้งนี้ ก็ได้มีการถ่ายทอดเสียงและภาพผ่านทางรายการวิทยุ และโทรทัศน์ ของกลุ่มคนเสื้อแดงปทุมธานี

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ที่มาในวันนี้ เนื่องจากจะมาขับไล่ตุลาการฯทั้ง 9 คน ที่เป็นอำนาจเถื่อน โดยทางกลุ่มได้ไปแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับตุลาการฯทั้ง 9 คน รวมแล้วกว่า 200 สำนวน ในข้อหาแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงาน ที่มีอำนาจกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 ปลอม และใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 - 268 และมีความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 อันเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่สภาในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่เป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ได้เป็นอำนาจที่มาจากประชาชน แต่เป็นศาลที่ พล.อ.สนธิ กำหนดขึ้นมาเอง จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีใดๆ ไม่มีผลบังคับ เหมือนกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฐสภา ทางกลุ่มจึงได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ที่สถานีตำรวจภูธรคูคต เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ดำเนินคดีจับกุมตามกฎหมาย อาญาของแผ่นดิน และหลังจากนี้ก็จะเดินทางไปสำนักงบประมาณ เพื่อคัดค้าน ไม่ให้นำภาษีประชาชน มาจ่ายเงินเดือนให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน รวมทั้งในวันที่ 17 ก.ค. เวลา 12.00 น. ก็จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำใบแจ้งความ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปมอบให้กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดูแลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามจับกุมตัวตุลาการทั้ง 9 คน มาดำเนินคดี

**มาร์ค เตือนอย่าดันทุรังลงมติวาระ 3

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำแนะนำที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ช่องไว้ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากดึงดันที่จะลงมติในวาระ 3 ก็จะทำให้ประเด็นที่มีทางออกแล้วกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก

** ให้รอดูรายละเอียดคำวินิจฉัย

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องว่า ขณะนี้คณะตุลาการยังไม่ได้มีคำสั่งอะไร แต่บอกว่าให้ผู้ที่สงสัยอ่านคำวินิจฉัยหลาย ๆ รอบแล้วจะเข้าใจ ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ให้รออ่านคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตน ที่จะออกมาแล้วจะถึงบางอ้อ

** คนอีสานพอใจคำวินิจฉัยศาลรธน.

อีสานโพล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอีสาน ภายหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ” ส่วนใหญ่พอใจในคำวินิจฉัย และต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และทำประชามติในกรณีแก้ทั้งฉบับ และส่วนใหญ่ ก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ

** "สุเมธ"ออกโรงป้องศาลรธน.

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการค้นหาข้าราชการต้นแบบ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม ถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจิฉัยในคำร้องมาตรา 68 ว่า ความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม ทุกประเทศ แต่สังคมต้องยอมรับกฎ กติกา และคำนึงถึงชาติบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้ความเห็นของตัวเอง ของกลุ่ม หรือ ของสีต่างๆ มาสร้างความขัดแย้ง จนทำร้ายประเทศชาติ

ส่วนที่มีกระแสกดดันให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายสุเมธ เห็นว่า เมื่อสังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้บางครั้งเกิดความขัดแย้งขึ้น องค์กรต่างๆ จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแล กฎ กติกา และควบคุมสังคมให้มีระเบียบเรียบร้อย อยู่ในกฎระเบียบ หากบ้านเมืองไหนไม่มีกฎระเบียบ ก็อยู่ไม่ได้ ทุกองค์กรจึงมีประโยชน์ทั้งหมด หากสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นก่อนจะดำเนินการอะไร ก็ควรย้อนกลับไปดูเหตุผลของการตั้งศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก ว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อเหตุใด

** "กนก"นำทีมคว่ำบาตรนิติเรด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) นายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรเล่าข่าวในเครือเนชั่น ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Kanok Ratwongsakul Fan Page ระบุว่า "ผมเป็นลูกแม่โดมคนหนึ่ง คนที่จบออกมาด้วยการรับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ในหลวง เหมือนลูกแม่โดมอีกมากมาย จะอย่างไรผมก็ยืนอยู่ข้าง "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" ผมและเพื่อนพ้องน้องพี่วารสารศาสตร์ทุกรุ่น ไม่อยากให้คนที่บังอาจ คิดลิดรอนพระราชอำนาจของในหลวง..อยู่ในรั้วธรรมศาสตร์!

พวกนี้อาศัยคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ แสดงความเห็นโดยไม่แยแสหัวใจคนไทย รวมหัวกันย่ำยีความรู้สึกของสังคม ผมขอเรียกร้องให้ลูกแม่โดมทุกคน บัณฑิตจากสถาบันอื่น ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันปกป้องศูนย์รวมจิตใจของไทย ด้วยการคว่ำบาตรทางสังคมทุกๆด้าน ต่อ "นิติราษฎร์" กลุ่มนี้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด Fan Page นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ขยับเข้าใกล้ 1 แสนเข้าไปทุกที และยังมีคนมากด Like และแสดงความเห็นในหัวข้อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

**จะทำประชามติต้องแก้ม.291 ก่อน

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่า กรณีการจัดทำประชามติ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อเสนอแนะในคำวินิจฉัย ว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรที่จะทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าต้องการที่จะแก้ไขหรือไม่นั้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ระบุ การออกเสียงประชามติ จะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 291 ที่อยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไข และอยู่ในวาระ 2 ขณะนี้นั้น นั้น ไม่ได้บัญญัติเรื่องการจัดทำประชามติไว้ ซึ่งหากมีการจัดทำประชามติ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 หรือไม่ เรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน เพราะต้องไปดูว่า ในมาตรา 165 กำหนดในเรื่องการจัดทำประชามติว่า อย่างไรบ้าง ซึ่งในมาตรานี้ เป็นการจัดทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จึงพูดได้ว่า หากครม.มีปัญหาเกี่ยวกับการบริหาร และต้องการที่จะถามประชาชน ซึ่งมาตรา 165 ก็ให้นายกรัฐมนตรี ไปปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อให้เห็นชอบในการจัดทำประชามติ เกี่ยวกับนโยบาย และมองว่าเป็นคนละประเด็นกันกับการจัดทำประชามติ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

" ทั้งนี้เห็นว่าหากรัฐสภา จะมีการจัดทำประชามติ ก็ต้องไปดำเนินการแก้ไขในมาตรา 291 ก่อน โดยเพิ่มกระบวนการในการจัดทำประชามติ และมอบหมายให้ กกต.เป็นผู้จัดทำประชามติ โดยนำเอา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาใช้โดยอนุโลม เพื่อไปถามประชาชนว่า ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับหรือไม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอแนะ หากถามประชาชนว่าอย่างไร ก็สามารถทำได้ จะมี ส.ส.ร.หรือไม่มี ก็แล้วแต่ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็มาถามประชาชนอีกครั้ง ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ ซึ่งเรื่องนี้มองว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ว่าจะตัดสินใจอย่างไร" แหล่งข่าว กล่าว

**แก้รธน.ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการสัมมนาเรื่อง รูปแบบและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ภายใต้โครงการการศึกษารัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย ที่สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดขึ้นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และต้องมีมุมมองทางการเมืองที่เหมาะสม คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ก็เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เปรียบเสมือนกับการซ่อมแซมบ้าน วิธีคิดทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องมีการสรุปข้อดีข้อเสียจากรัฐธรรมนูญเดิม โดยประเทศไทยนั้น ร่ำรวยประสบการณ์ทางรัฐธรรมนูญ แต่เรากลับไม่เคยเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสิ่งที่ได้เลย

นายนครินทร์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่สมัครเป็น ส.ส.ร.นั้น ควรเขียนเอกสารของตนออกมาเผยแพร่กับประชาชนว่า มีความคิดอย่างไร ไม่ใช่เป็นเพียงเสือมือเปล่า เพราะการที่เราร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องหาผู้ที่เหมาะสม หากเอาคนที่ไม่เคยทำมาทำแล้ว มันก็คงไม่เป็นผลดี จึงขอย้ำว่า เราต้องมีเวลาในการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ตัดสินใจ และต้องคำนึงไว้ว่า ประชาธิปไตยในครั้งนี้ทำผ่านตัวแทนเสมอ มิได้ทำโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น