xs
xsm
sm
md
lg

ลูกแม่โดมนัดรวมพลพรุ่งนี้ เช็กบิล"นิติเรด" "เหลิม"ลุยดัน"ปรองดอง"ช่วย"แม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"ลูกแม่โดม"นัดรวมพล ตะเพิด"นิติราษฏร์" พรุ่งนี้ จี้อธิการบดีมธ. สอบวินัย-อาญา ยกแก๊ง "สมคิด" ย้ำต้องตัดไฟแต่ต้นลม หวั่นบานปลาย บ่นเป็นอธิการบดีแล้วเหนื่อย ชี้เหตุมาจากความคิดหลากหลาย กระดิกไปข้างไหนก็ถูกด่า ด้าน "เหลิม" เปลี่ยนประเด็นใหม่ เตรียมดัน พ.ร.บ.ปรองดอง แต่เนื้อหานิรโทษให้ "แม้ว" ปชป.เตือน จะยิ่งสร้างความขัดแย้งหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ.นี้ เวลา 14.00 น. ศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแนวร่วมรวมพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และปกป้องสถาบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นัดเคลื่อนไหว เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการกระทำของกลุ่มนักวิชาการ "คณะนิติราษฏร์" ที่ใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนเอง ด้วยการล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 รวมทั้งเรียกร้องไปยังอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มีการสอบสวนเอาผิดทั้งทางวินัย และทางกฎหมายต่อคณะนิติราษฏร์ โดยนัดรวมพลหน้าคณะวารสารฯ และจะมีกิจกรรมเดินขบวนแสดงพลัง ประกาศเจตนารมณ์ ที่ลานปรีดี

ทั้งนี้ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรชื่อดังในฐานะตัวแทนศิษย์เก่า จะยื่นหนังสือต่ออธิการบดี ที่ตึกโดม และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการร้องเพลงถวายพระพร หันหน้าไปยังโรงพยาบาลศิริราช โดยในเอกสารยังเชิญชวน ลูกแม่โดม และผู้จงรักภักดี เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายกนก ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ชี้แจงกรณีมีข่าวออกมาว่า "กนก นำทีมลูกแม่โดม นัดรวมพลดีเดย์ ตะเพิดนิติราษฎร์ บ่ายสอง 2 ก.พ. จี้อธิการบดี มธ.สอบวินัย-อาญา ยกแก๊ง ใช้เครือข่ายออนไลน์กระจายข่าวรวมพลัง" โดยระบุว่า "เพิ่งเสร็จจากงานแถลงข่าวคอนเสิร์ต Do for Dad ของพี่แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง (3 มี.ค.นี้) ออกมาเจอแถลงการณ์ "กนกนำทีมลูกแม่โดม ตะเพิดนิติราษฎร์ จี้อธิการ มธ.สอบวินัย-อาญา" เผยแพร่ไปตามเว็บข่าวต่างๆ ผมงงมาก แต่เดิมคือ พี่ๆ เพื่อนๆ วารสารฯ ชวนให้ไป "ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีว่าจะมีมติอย่างไร" ในวันที่ 2 ก.พ. ผมก็จะไปร่วมประชุมด้วย เพราะเราไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์แน่ แต่ที่จะ "ตะเพิด - ให้อธิการเอาผิดทางวินัยและอาญา - มีเดินขบวน!!" ตรงนี้มาได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่ประชุมเลย หรือพวกเราไปประชุมกันตอนไหน? ทำไมกนก..แกนนำคนนี้ ไม่รู้เรื่องเลย! ถามผมหรือยังว่า เห็นด้วยกับมตินี้หรือไม่? ทาง มธ.ก็เพิ่งมีมติห้ามนิติราษฎร์ใช้สถานที่ เห็นที..โดนแม่ด่าอีกแล้ว ทะลึ่งจะไปนำขบวน..."

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเผยแพร่เอกสารของกลุ่มวารสารฯ ยังใช้เครือข่ายเฟสบุ๊ก เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูล กระจายไปยังสาธารณะโดยผ่านเว็บไซซ์ http;// www.facebook.com/Jctu9999 พร้อมกับระบุชื่อผู้ประสานงาน วิลาศินี โฆษจันทร์

** ย้ำต้องตัดไฟแต่ต้นลม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Somkit Lertpaithoon" ระบุ ที่ประชุมกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติเอกฉันท์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อเคลื่อนไหว กรณีมาตรา 112 อีกต่อไป จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพนั้น

ล่าสุด นายสุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนักวิชการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้เขียนบันทึกชื่อ "วิพากษ์ผู้วิพากษ์" และนำไปแบ่งปันบนเฟซบุ๊ก ของนายสมคิด มีเนื้อหาว่า

"มีหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์เคลื่อนไหวเรื่อง ม.112 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกต่อไป โดยมองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นี่ก็เป็นมุมมองหนึ่งที่เข้าใจได้ครับ แต่ผมอยากให้พวกเรามองอีกมุมมองหนึ่งด้วยว่า การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องออกมาตรการนี้ คงเป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะเกรงว่าอาจจะลุกลามจนกลายเป็น 6 ตุลาฯ ครั้งที่สองได้ และถ้าจะเกิดก็คงจะเกิดที่ธรรมศาสตร์ เหมือนเมื่อปี 2519 เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่า มาตรการนี้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็น การตัดไฟแต่ต้นลม มากกว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพ ครับ เพราะที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ ก็เปิดโอกาสให้กลุ่มนิติราษฎร์ ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่เคลื่อนไหวมาหลายครั้งแล้ว สรุป ก็คือ ผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยครับ"

ซึ่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์ ตอบอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ว่า "ผมไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเสรีภาพในทางวิชาการในมธ. แต่ต้องแยกเสรีภาพทั้งสองนี้ออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขยายความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความวุ่นวายใน มธ. และประเทศ"

ทั้งนี้ นายสุวินัย ได้โพสต์ข้อความตอบกลับอีกครั้งว่า "ใช่เลยครับ ท่านอธิการ ตรรกะ ที่ผู้วิจารณ์ใช้ในการวิพากษ์การตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้ ผมว่าตะแบงไป และเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของสถานการณ์ ที่เปลี่ยนไปเลย อีกทั้งยังประเมินความแหลมคมของสถานการณ์ต่ำไปด้วยครับ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน้าเพจเฟซบุ๊กของนายสมคิดนั้น มีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์ ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายมุม ซึ่งในมุมหนึ่ง นายสมคิด ก็ได้โพสต์ข้อความว่า "เป็นอธิการบดี มธ.ก็ลำบากหน่อย เพราะ 1.แสดงความไม่เห็นด้วยทางวิชาการกับนิติราษฎร์ ก็มีคนออกมาประท้วง ด่า และข่มขู่คุกคาม ให้ปลดจากตำแหน่ง 2.อนุญาตให้นิติราษฎร์ ใช้ที่มหาวิทยาลัยก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมากดดันคัดค้าน ต่อว่า 3.เห็นว่าควรพอได้แล้วกับ 112 ( หลังจากอนุญาตไปแล้ว 4-5 ครั้ง ) คนกลุ่มแรกก็ออกมาอีก 4.เห็นว่าไม่ควรไล่ล่าแม่มดก้านธูป คนกลุ่มแรกออกมาชมคนกลุ่ม 2 ออกมาว่าอีก สังคมไทยไม่ยอมให้คนยืนบนความถูกต้อง และพอดีพองามเลยหรือไง"

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้โพสต์แสดงความเห็นบนหน้าเฟซบุ๊กของอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ว่า "อาจารย์ครับ โดยส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับแก้ไข ม.112 เเต่ก็ไม่อยากให้ ban กิจกรรมของนิติราษฎร์ อยากให้เขาได้มีเวทีแสดงออกบ้าง ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วครับ"

นายสมคิดได้ชี้แจงว่า "ให้เสรีภาพเต็มที่ครับ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง จนเกิดความแตกแยก" และ "ไม่ได้ห้ามเรื่องอื่นๆ นะครับ จะแก้รัฐธรรมนูญ คัดค้านรัฐประหาร ก็ทำได้"

**อดีตอุปนายกอมธ.แก้ต่างแทน"วรเจตน์"

นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า พื้นที่ มธ. ถือเป็นดินแดนประชาธิปไตยทุกตารางนิ้ว สำหรับกรณีที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิบการบดี มธ. แจ้งมติที่ประชุมกรรมการบริหาร มธ. ว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพื่อเคลื่อนไหวกรณีแก้ไข มาตรา 112 นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในความเป็นประชาธิปไตยของ มธ.ต้องเคารพต่อประชาคมของมหาวิทยาลัยด้วย

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ต้องนำไปศึกษาว่ามติบอร์ด ถือเป็นมติประชาคมมธ.ส่วนรวม หรือไม่ และส่วนตัวในอดีตเคยทำกิจกรรมร่วมกับ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นน้อง ยืนยันว่า นายวรเจตน์ไม่มีความคิดที่จะล้มสถาบันฯ

**แก้ ม.112 ไม่ใช่แนวทางปรองดอง

พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมว่า ความเห็นส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการ ที่ประกอบด้วยตัวแทนพรรคการเมือง มีมติไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคก็สามารถเสนอความเห็นได้ แต่ในขณะนี้ ประเด็นการแก้ไขยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่มีความชัดเจนจะแก้ไขประเด็นใดบ้าง ขณะที่การนิรโทษกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า ดำเนินการศึกษา ซึ่ง กมธ. ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งนี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การลงทุน เกรงจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น จะกระทบการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ

นายไชยา พรหมมา โฆษกกมธ. ระบุว่า กมธ.ให้ความเห็นที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นความคิดทางวิชาการเกี่ยวกับ มาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้มีการแก้ไขมาตรานี้ เกรงว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงและเกิดการเผชิญหน้าในสังคม

** อัด"ปู"ตั้งแก๊งนิติเรดเป็นที่ปรึกษาครม.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ดูเหมือนว่ากลุ่มที่เคยร่วมงานกับทางกลุ่มนิติราษฎร์ เริ่มที่จะแยกตัวออกมา เนื่องจากรู้แล้วว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ความคิดเห็นของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ยังคงสร้างความสับสนให้กับประชาชนในหลายๆ แง่ เช่น การที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า จะต้องมีการสะสางให้เสร็จสิ้น หรือการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งบุคคลที่เคยเข้าชื่อร่วมแก้ไข มาตรา 112 มาเป็นที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย บางคน ที่ออกมาสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขหมวดที่ 2 ด้วย

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำคำสัมภาษณ์สนับสนุนการแก้ไข มาตรา 112 ของ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. และทนายความกลุ่มคนเสื้อแดง มาป็นหลักฐานยืนยันว่า คนเหล่านี้เคลื่อนไหวสนับสนุน กลุ่มนิติราษฎร์ในการแก้ไข มาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับย้อนถาม นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า คนเหล่านี้ถือเป็นแดงเทียมตามที่ นายก่อแก้ว ออกมาแก้ตัวหรือไม่

ทั้งนี้ นายชวนนท์ ยังเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงความจริงใจว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังบุคคลเหล่านี้ ด้วยการไล่นายโรเบิร์ต ออกจากการเป็นทนายความส่วนตัว

** "ภูมิใจห้อย"ร่วมวงยี้ "นิติราษฎร์"

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรคประจำสัปดาห์ ว่า พรรคภูมิใจ ได้แสดงจุดยืนต่อต้านแนวความคิดแก้ไข ม.112 มาโดยตลอด เพราะเป็นเรื่องไม่บังควร และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องช่วยกันปกป้องไม่ให้ใครมาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ทั้งนี้ คณะนิติราษฎร์ เป็นกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นทางวิชาการ สามารถทำได้ แต่เมื่อเสนอแล้ว สังคมไม่ตอบรับ ก็อยากให้ยุติความคิดนี้ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ก็อยากให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจน เพราะก่อนหน้าที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ผ่านมา ก็มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย พยายามที่จะเสนอญัตติ กรณีคณะนิติราษฎร์ เข้าสู่ที่ประชุม ดังนั้น เพื่อความชัดเจน ไม่อยากให้สังคมมองว่าเล่นหลายบทบาท และมีความเห็นสอดคล้องกับคณะนิติราษฎร์ ก็ควรให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถอนญัตติดังกล่าวออกไป

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีหลายส่วนที่ไม่ได้ส่งเสริมการปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย ปล่อยให้บางอำนาจเข้ามาแทรกแซงการบริหารประเทศไทย หรือ ม.237 เกี่ยวกับการยุบพรรค ที่จะตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจใช้กลไกเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ และกลั่นแกล้งได้ รวมถึงยังมีมาตราอื่นๆ ที่สมควรจะแก้ไข แต่เวลานี้ พรรคภูมิใจไทย เห็นว่า การจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องขึ้นกับเวลาและสถานการณ์ว่าช่วงใดเหมาะสม อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นผู้พิจารณาและพร้อมรับฟังข้อเสนอของ คอป.

ดังนั้น ถ้า คอป. เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ก็คงจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ศึกษาแนวทางนี้อยู่แล้วว่า จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ

"ถ้ารัฐบาลใช้เวลาตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ดี ก็เชื่อว่าจะมีเวลาอยู่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ช่วงเวลานี้ พรรคเห็นว่ายังไม่เหมาะสม แต่ถ้าหากวิปรัฐบาลมีโรดแมปเดินหน้าในเรื่องนี้ ก็ควรจะรับฟังความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญด้วย" นายศุภชัยกล่าว

** "เพื่อไทย"ยันใส่เกียร์ถอย ไม่แก้ม.112

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มคณะนิติราษฎร์ ที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไข มาตรา 112 ว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลแสดงท่าทีต่อการเสนอแก้ไข มาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์นั้นชัดเจน และไม่ควรมีคำถามใดๆ ขึ้นมาอีกแล้ว เพราะว่านายกรัฐมนตรี ก็ได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้ว และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้วเช่นกัน อีกทั้งมติการดำเนินการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หลักในการพิจารณาแก้ไขข้อกฏหมาย ก็มีความชัดเจนว่า ไม่มีแนวทาง และแนวคิดที่จะแก้ไข มาตรา 112

"จะเห็นว่าทุกอย่างมีความชัดเจน ยกเว้นแต่ทางพรรคประชาธิปัตย์ ที่เจตนาจะไม่เข้าใจ และเจตนาที่จะสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับสังคม เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากพื้นที่ทางการเมือง ดังนั้น ท้ายที่สุดก็ต้องดูว่า ประชาชนจะใช้วิจารณญาณเช่นใด"

**อ้างไม่ได้ตัดหาง"นิติราษฎร์"

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เคยสนับสนุนข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มคณะนิติราษฎร์ แต่เมื่อมาถึงเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 เหตุใดจึงปล่อยให้กลุ่มดังกล่าวถูกโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการปล่อยเกาะ หรือการทอดทิ้ง ตามที่ทางพรรคประชาธิปัตย์พยายามที่จะกล่าวหา เพราะประเด็น คือ สังคมประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย เราไม่มีการผูกยึดกับบุคล หรือองค์กรใดๆ นอกเหนือจากเหตุผล หรือข้อเท็จจริงในแต่สถานการณ์
 

ทั้งนี้ ตนมองว่าข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ มีหลายแนวทางที่เป็นประโยชน์กับสังคมประชาธิปไตย แต่บางข้อเสนอ บางแนวทางก็เห็นว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็มีการตั้งข้อสังเกตุ และแสดงความคิดเห็นต่างออกมา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติตามวิถีทางของประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่มีการนำเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 มาเชื่อมโยงกับความจงรักภักดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ รมช.เกษตรฯ กล่าว กรณีดังกล่าวประเด็นอยู่ที่ว่า ฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ไข มาตรา 112 ก็ให้เหตุผลว่า ทำด้วยความจงรักภักดี แต่ฝ่ายที่ออกมาสนับสนุนเสนอให้แก้ไข ก็ระบุว่า ต้องการปรับแก้ไข เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ผู้ใดนำมาใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะฉะนั้น จึงเป็นผลของ 4-5 ปี ที่ผ่านมา โดยปล่อยให้คนบางกลุ่มบางฝ่าย แอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเกี่ยวกับสถาบันการเมืองโดยขาดเหตุผล มุ่งเน้นเป้าหมายที่จะให้ฝ่ายตัวเองดีขึ้น ส่วนฝ่ายตรงข้ามกลับมัวหมองในสายตาของประชาชนมายาวนานทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ควรจะทำในเวลานี้ คือ สดับตรับฟังกันทุกฝ่ายแล้วยอมรับความจริงว่า ประเทศนี้ต้องปกครองโดยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทุกฝ่ายควรยุติการเอ่ยอ้างถึงสถาบันเบื้องสูง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ตนคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

** "เหลิม" ดันพ.ร.บ.ปรองดองฯแทน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ตนซุ่มออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ไม่ได้ซุ่ม ทำมานานแล้ว และไม่ใช่กฎหมายนิรโทษ แต่เป็นพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ก็บ้านเมืองมันทะเลาะกัน มันไปไม่ได้ ซึ่งตนเขียนเสร็จแล้ว 6 มาตรา ส่วนจะเสนอได้เมื่อไรนั้น ขอให้ตนเดินสายไปยังภาคอีสานก่อน นี่ไปมาหลายจังหวัดแล้ว

"ปล่อยบ้านเมืองไปอย่างนี้ มันไปไม่ได้ กรรมการปรองดองมาประชุมเสร็จก็จบ คอป. ประชุมเสร็จก็จบ คอ.นธ. ประชุมเสร็จก็จบ ต้องออกเป็น พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ไม่ใช่นิรโทษกรรม" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

เมื่อถามว่า จะเดินสายเฉพาะภาคอีสานอย่างเดียวหรือ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไปทั่วหมด ขณะนี้ไปหลายจังหวัดแล้ว ส่วนภาคใต้ ยังไม่ได้ไป วิธีการหาเสียงมันต้องไปที่ได้แน่นอนก่อน ที่ยังไม่แน่ ไปก็เปลืองน้ำมันรถ

เมื่อถามว่าหากมีเสียงต่อต้านมากจะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ต้องเอาเสียงส่วนใหญ่ ต่อต้านก็ตัดไป เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าจะมีกระแสต้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ทำอะไรในระบอบประชาธิปไตย หากไม่มีการต่อต้าน มันก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการต่อต้านมัน คือ เผด็จการ เชื่อว่าไม่มีความรุนแรงอะไร เพราะทุกฝ่ายได้หมด

เมื่อถามว่าสาระสำคัญคืออะไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนตั้งหลักไว้ว่าทุกอย่างต้องกลับไป 18 ก.ย.2549 ทุกภาคส่วนได้หมด ส่วนหลักการและเหตุผลนั้น ยังบอกไม่ได้ เมื่อถามว่าจะเดินสายนานหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า อีกนิดหนึ่ง ขณะนี้มั่นใจแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ รอประชาชนหนุน

เมื่อถามว่าจะเสนอในนามใคร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เสนอในนามพรรค ให้ตนไปรณรงค์ไปถามประชาชนให้มั่นใจก่อน แล้วจะเสนอพรรค ประชาชนเอาด้วย พรรคเอาด้วยก็จะเปิดแถลงข่าวชี้แจงแต่ละมาตรา ให้พรรคไปเสนอสภา ทุกคนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบต่อการปฏิวัติ ได้รับเท่าเทียมกัน

เมื่อถามว่าเมื่อปรองดองกันแล้ว คนที่อยู่ต่างประเทศจะกลับมาได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ทุกคน ตนไม่บอกว่าใครอยู่ต่างประเทศ ในประเทศ เรียบร้อยหมด เขียนเองจริงๆ 6 มาตรา เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่บอก หากท่านไม่กลับ แล้วจะว่าอย่างไร อยู่เมืองนอกสนุกแล้ว

เมื่อถามว่าให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้แล้วหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ต้อง เฉลิมเขียนเองไม่มีผิด

** เตือน"เหลิม"อย่าสุมฟืนเข้ากองไฟ

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม มีแนวคิดที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่ที่ประชุมสภา ว่า ก็หวังว่าจะเป็นแค่ความคิดของร.ต.อ.เฉลิม เพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เพราะไม่เช่นนั้น กรณีนี้จะกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ของสังคมทันที เพราะเวลานี้ประเทศชาติมีหลายเรื่องที่ต้องทำ อีกทั้งยังไม่ถึงเวลา บ้านเมืองเราไม่อยากให้เกิดบรรยากาศขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก และไม่ควรสุมฟืนเข้ากองไฟ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ประเด็นทางการเมืองที่น่ากังวลในตอนนี้อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่อง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีการกล่าวอ้างจากรัฐบาลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีเนื้อหาที่พาประเทศกลับไปช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี 49 ซึ่งหมายความว่า จะไม่มีการพูดถึงการทุจริต และคอร์รัปชัน โดยทางฝ่ายค้านเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะนำพาประเทศไปสู่ความขัดแย้ง เพราะเป็นการทำเพื่อคนๆ เดียว หรืออีกชื่อหนึ่ง ก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแปลงโฉม หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับชาติมาเกิด

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของร.ต.อ.เฉลิม ที่มีเนื้อหาให้ทุกอย่างกลับไปก่อนการรัฐประหารปี 2549 ก็เพื่อทำให้มีผลในการล้มล้างคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกคดี ซึ่งจะยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมเพิ่มมากขึ้น เพราะหากเป้าหมายสุดท้ายของรัฐบาล อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีวาระซ่อนเร้นเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ การปรองดองก็ไม่มีทางสำเร็จ และจะยิ่งสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนด้วย โดยมีตัวอย่างจากการเยียวยาสองมาตรฐาน กรณีจ่ายเงินให้คนเสื้อดง 7.75 ล้านบาท มาแล้ว เพราะเป็นประเด็นที่ประชาชนรับไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น