xs
xsm
sm
md
lg

ยุค ‘ยิ่งลักษณ์’ เด็ดหัว 13 บิ๊กองค์กร อีก 3 คนจ่อคิว-ดึง ‘คนสนิท’ เสียบแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
     9 เดือนรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ย้ายหัวองค์กรใหญ่แล้ว 13 คน ยึดอำนาจได้แล้ว 8 รอส่งคนใหม่เสียบอีก 3 บีบออก 1 ส่งทั้งญาติและข้าราชการในสังกัดเข้าประจำการ คุมพื้นที่เมืองเบ็ดเสร็จด้วยตำรวจ มหาดไทย ราชทัณฑ์ ที่ดิน ด้านเศรษฐกิจมีคลังและประธานแบงก์ชาติสายเดียวกันดูแล แถมฮุบแบงก์รัฐเรียบ ใครยังไม่ภักดีเจอย้าย-ปลด

     การตอบแทนกลุ่มคนเสื้อแดงที่ช่วยต่อสู้ร่วมกับพรรคเพื่อไทยในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง โดยแกนนำเสื้อแดงอย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ชูเรื่องไพร่กับอำมาตย์ วันนี้กลายเป็นอำมาตย์สมใจในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วน จตุพร พรหมพันธุ์ ที่จ่อคิวเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงมหาดไทยยังคงต้องรอวัดใจผู้นำรัฐบาลอย่างยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะตอบแทนบุญคุณคนนี้อย่างไร หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสิทธิ์การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจตุพร

     ในแกนนำระดับรองของคนเสื้อแดงต่างยกสถานะเข้าไปเป็นข้าราชการการเมืองกันพร้อมหน้า ทั้งเป็นเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาฯ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ หรือปูนบำเหน็จมอบตำแหน่งรองโฆษก ฯลฯ ดังนั้นวาทะเรื่องไพร่กับอำมาตย์ที่จุดประเด็นกันจึงเงียบหายไป

จากเพรียวพันธ์ถึงปิยสวัสดิ์

     เมื่อตำแหน่งทางการเมืองจัดสรรกันเบ็ดเสร็จชนิดที่ไม่แคร์สายตาคนไทยทั้งประเทศ จากนั้นคิวการเด็ดหัวข้าราชการระดับสูงที่มาจากฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มต้นขึ้น ที่ฮือฮามากที่สุดหนีไม่พ้นการดันเอาพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร-ดามาพงศ์) ณ ป้อมเพชร เข้าเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้วยการย้ายพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ไปนั่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และโยกเอาเลขาฯ คนเก่าอย่าง ถวิล เปลี่ยนศรี ไปนั่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

     จากนั้นมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์จากชาติชาย สุทธิกลม เป็นพันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เพื่อเตรียมการรองรับหากพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามามอบตัว ด้วยการจัดเรือนจำพิเศษสำหรับนักโทษการเมือง

     เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่คลี่คลายลง อธิบดีกรมชลประทานอย่าง ชลิต ดำรงศักดิ์ ก็ต้องรับชะตากรรม และข้าราชการระดับสูงอีกหลายตำแหน่งที่ต้องถูกโยกย้ายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทยต้องหลีกทางให้พระนาย สุวรรณรัฐ อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) สมชาติ วงศ์วัฒนาศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่ง อาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

     ขณะที่ในฟากที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจแต่เป็นหน่วยงานรัฐ เช่น ธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ที่มีบอร์ดชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทน หนึ่งในนั้นคือจักรพันธุ์ ยมจินดา ที่ควบตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อยู่พักหนึ่ง และท้ายที่สุดรายการ ข่าวข้นคนข่าว ที่มี กนก รัตน์วงศ์สกุล ดำเนินรายการก็ต้องหลุดผังจากช่อง 9 ไปตามคาด หลังจากที่ จ.เจตน์ หรือจิรปาณ ศรีเนียน นักจัดรายการของคนเสื้อแดง เข้าไปยื่นหนังสือถึงการทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง

     ส่วนที่จัดการเรียบร้อยในช่วงยิ่งลักษณ์ 1 คือที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตัวเลขาธิการอย่าง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพียงช่วงสั้นๆ ตำแหน่งเดิมมี ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ นักเรียนวิทยาลัยตลาดทุนรุ่นเดียวกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าเป็นเลขาธิการ ส่วนประธาน ก.ล.ต.ได้อดีตอัยการ ชัยเกษม นิติสิริ ที่ช่วยงานทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอดเข้ามานั่งแทน นวพร เรืองสกุล

     ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มี จรัมพร โชติกเสถียร จากแบงก์ไทยพาณิชย์นั่งเก้าอี้นี้ตั้งแต่ปี 2553 ยุคพรรคประชาธิปัตย์ แต่ได้ สมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์เข้ามาทำหน้าที่ประธานตลาดหลักทรัพย์ มาคุมผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์อีกชั้นหนึ่ง

     การวางคนของรัฐเข้ามาดูแลหน่วยงานด้านตลาดทุนในยุคนี้ ไม่ต่างกับช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ ที่แม้การขายหุ้นชินคอร์ป (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอินทัช)ออกไปในปี 2549 แต่คนในหน่วยงานนี้ก็ออกมาการันตีถึงความถูกต้อง เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ ทางกรมสรรพากรก็ได้ยกประโยชน์เรื่องภาษีของลูกชายและลูกสาวของทักษิณ การวางคนของรัฐบาลเอาไว้ในหน่วยงานสำคัญอย่างนี้ นอกจากจะทำให้คดีความต่างๆ ที่เคยเงียบหายไปแล้ว ยังเป็นตัวช่วยตรวจสอบคู่แข่งทางการเมืองที่มีฐานจากบริษัทในตลาดหุ้นได้อีกแรงหนึ่ง

     ขณะที่ตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กุนซือใหญ่ของรัฐบาลอย่าง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เสียบแทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล พ่อหม่อมหลวงอภิมงคล โสณกุล พรรคประชาธิปัตย์
     ล่าสุดเลิกจ้างกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท การบินไทย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ สามีของอานิก อัมระนันทน์ พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุผลมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับบอร์ดการบินไทย ที่มาเปิดเผยกันภายหลังว่าเป็นเรื่องของการจัดซื้อเครื่องบินที่พรรคเพื่อไทยต้องการนำกลับมาทบทวน หลังจากที่ได้รับการอนุมัติไปในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์

     นอกจากนี้ยังมีคิวสอยต่อที่ธนาคารออมสินที่เดิมมีข่าวจะปลดแต่ท้ายที่สุดก็ต้องรอให้ครบวาระในเดือนกรกฎาคมของเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการ ตามมาด้วยคิวของธนาคารกรุงไทย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ และโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งธนาคารของรัฐเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการบริหารของรัฐบาล เพราะหากติดขัดในเรื่องงบประมาณหรือกฎหมาย ธนาคารรัฐเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่จะผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลเดินหน้าต่อไปได้

ยึดอำนาจรัฐ-สั่งบอร์ดปลด

     ปฏิบัติการล้างคนเก่าเสียบคนใหม่ที่รัฐบาลส่งเข้าไป กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับการเมืองยุคใหม่ ได้ทั้งปูนบำเหน็จให้กับพรรคพวกและทำให้การทำงานของรัฐบาลสะดวกยิ่งขึ้น แม้ผู้บริหารนั้นจะมีฝีมือ ทำกำไรให้กับองค์กรอย่างการบินไทย สาเหตุการเลิกจ้างจึงเป็นเรื่องของการสื่อสารกับบอร์ด ทั้งๆ ที่ปมปัญหาหลักยังคงอยู่ที่การจัดซื้อเครื่องบินมูลค่าหลายแสนล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วในรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่รัฐบาลเพื่อไทยต้องการให้นำเข้ามาสู่การพิจารณาของรัฐบาลชุดนี้อีกครั้ง

     ยุทธวิธีของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ หากเป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐบาลมีโดยตรงจะสั่งดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะตำแหน่งของคนเสื้อแดงที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาของรัฐมนตรี แม้กระทั่งดันขึ้นนั่งเก้าอี้เสนาบดีทั้งๆ ที่แกนนำเคยขุดเรื่องไพร่และอำมาตย์มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้

     วันนี้คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้ว่าในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา พวกเขาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยร่วมกับคนเสื้อแดงหลอกมาใช้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองคืน แกนนำเสื้อแดงก้าวเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร บอกให้เดินหน้าปรองดอง

     การเปลี่ยนตัวข้าราชการในกระทรวงเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ใครที่เป็นคนของรัฐบาลเดิมย่อมทราบชะตากรรม มีบางส่วนที่เป็นคนของรัฐบาลปัจจุบัน แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแหกโผนโยบายของนายใหญ่ก็ต้องถูกปรับออก ตัวอย่างกรณี อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน ทั้งที่เหลืออายุงานอีกเพียง 5 เดือนก็จะเกษียณอายุ แต่ด้วยไม่สามารถสนองใบสั่งเจ้ากระทรวงจึงต้องถูกโยกย้ายไปนั่งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยแทน

     หากเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ใช้อำนาจของบอร์ดที่รัฐบาลส่งคนเข้าไปนั่งแล้วใช้อำนาจของบอร์ดเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร เช่น กรณีของ อสมท และการบินไทย บางหน่วยงานก็ต้องรอให้ผู้บริหารเดิมอยู่จนครบวาระแล้วจึงส่งคนเข้าไปเสียบ เช่น ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังรอจนครบวาระคือธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารกรุงไทย โดยจะมีตัวจักรสำคัญคือข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังที่ถูกส่งไปนั่งเป็นบอร์ดในหน่วยงานเหล่านี้

     โดยเฉพาะธนาคารออมสินที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนองนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด และกำลังมีปัญหาเรื่องการสรรหาตัวผู้อำนวยการคนใหม่ หลังจากที่ประธานธนาคารออมสินอย่าง พรรณี สถาวโรดม ควบตำแหน่งประธานสรรหากรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ และเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งพรรณีและเลอศักดิ์ ยืนคนละข้าง ท้ายที่สุดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดให้มีการเลือกคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ แต่ถึงอย่างไรอำนาจทั้งหมดยังคงอยู่ในมือของรัฐบาล

     แม้ว่าจะมีหลายตำแหน่งที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่ผ่านมายังทำงานให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ เช่น อำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่าง ธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่เปลี่ยนวิธีการทำงานชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี
ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์
ถวิล เปลี่ยนศรี
อนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ
ธนวัฒน์ วันสม
วิเชียร ชวลิต
พนิตา กำภู ณ อยุธยา
ยุทธศักดิ์ สุภสร

กำลังโหลดความคิดเห็น