xs
xsm
sm
md
lg

เดินตามก้นอเมริกาจะตกหน้าผา หรือถูกหมากัดแน่

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ตามสุภาษิตไทย เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด เนื่องจากอเมริกาก้าวหน้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ในหลายด้าน จึงมองได้ว่าอเมริกาเป็นผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ รวมทั้งทางด้านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและด้านเศรษฐกิจ คงเพราะเหตุนี้ เมืองไทยจึงได้พยายามเดินตามอเมริกามานานโดยการส่งคนไทยไปเรียนในอเมริกา รับคำปรึกษาจากชาวอเมริกัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มาในระยะหลังๆ นี้มีคนอเมริกันด้วยกันเองมองว่าอเมริกากำลังจะตกหน้าผาทั้งทางด้านการศึกษาและทางด้านเศรษฐิจ หากเมืองไทยยังพยายามเดินตามอเมริกาต่อไป โอกาสที่ไทยจะตกหน้าผา หรือถูกหมากัดจึงมีสูงมาก

ทางด้านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โรเบิร์ต แซมวลสัน คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้สังเคราะห์ผลการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้และนำมาเสนอไว้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญพากันมองว่า การรณรงค์ให้ชาวอเมริกันได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอย่างถ้วนหน้ามาตั้งแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นไม่ควรทำกันต่อไปอีกแล้ว ในเบื้องแรก ความพยายามที่จะเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่เข้าเรียนและเรียนจนจบหลักสูตรมหาวิทยาลัยนำไปสู่การลดมาตรฐานทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยลง ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาถึง 45% ยังคิดเชิงวิเคราะห์ไม่เป็นและยังเขียนหนังสือได้ไม่ดีขึ้นหลังจากเรียนในมหาวิทยาลัยไป 2 ปี และหลังจากเรียนไป 4 ปีก็ยังมี 36% ที่ไม่ดีทั้งในด้านการคิดเชิงวิเคราะห์และด้านการเขียน แต่นักศึกษาเหล่านั้นกลับเรียนจบรับปริญญา

เนื่องจากนักศึกษาส่วนมากต้องกู้เงินเรียน เมื่อจบออกไปพวกเขาจึงมีหนี้ก้อนใหญ่ติดไปด้วย (ข้อมูลบ่งว่า ณ วันนี้ หนี้ที่เกิดจากการกู้เพื่อเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว) จำนวนมากหางานทำไม่ได้เพราะไม่มีความรู้ความสามารถตามที่ตลาดแรงงานต้องการส่งผลให้ต้องไปทำงานจำพวกไม่ต้องการปริญญา ผลสุดท้ายการเรียนมหาวิทยาลัยกลายเป็นการเสียทั้งเวลาและเงินพร้อมกับก่อหนี้ที่มีผลกระทบทางลบต่อชีวิตของเยาวชนต่อไปในอนาคต

การมุ่งเน้นการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทำให้ความใส่ใจที่จะทำให้การศึกษาในระดับมัธยมเหมาะสมกับสภาพสังคมและบุคคลลดลงมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งของเยาวชนไม่สนใจที่จะเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่ต้องทนเรียนวิชาส่วนใหญ่ที่ปูทางสำหรับเข้ามหาวิทยาลัยให้ผู้อื่น กลุ่มนี้จึงมักมีความเบื่อหน่ายและไม่ตั้งใจเรียน พวกเขามักสร้างปัญหาและทำลายบรรยากาศของการเรียนการสอนให้ครูและผู้อื่น นอกจากนั้น หลักสูตรยังลดความสำคัญของวิชาชีพลงทั้งที่ตลาดแรงงานยังต้องการผู้จบชั้นมัธยมที่ได้รับการฝึกฝนจนมีความชำนาญทางด้านวิชาชีพจำพวกช่างและงานธุรการในสำนักงานและห้างร้านต่างๆ ทั้งที่งานจำพวกนี้มีความสำคัญยิ่งและมีตำแหน่งว่างที่ยังหาคนทำไม่ได้ แต่การเน้นความสำคัญของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทำให้งานเหล่านี้ถูกหยาม หรือมองข้ามไป

เรื่องที่เล่ามานี้น่าจะสะท้อนสภาพของการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดี มาตรฐานของการเรียนระดับมหาวิทยาลัยไทยเริ่มเป็นจำพวก “จ่ายครบจบแน่” มาตั้งแต่ครั้งการขยายมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างกว้างขวางและเร่งด่วน ผู้จบปริญญาจำนวนมากหางานทำยากเนื่องจากขาดความสามารถที่ตลาดแรงงานต้องการ ในขณะเดียวกันก็มีงานอีกมากที่หาคนงานไม่ได้ส่งผลให้ต้องจ้างคนงานต่างชาติ การเรียนจบมหาวิทยาลัยมักทำให้ผู้มีปริญญา “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” นั่นคือ งานบางอย่างทำไม่ได้เพราะไม่สมเกียรติของบัณฑิต

การให้ความสำคัญต่อการเรียนในมหาวิทยาลัยก่อให้เกิดการกวดวิชาแบบบ้าคลั่งอย่างแพร่หลาย นอกจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว การกวดวิชายังลดทอนเวลาสำหรับทำกิจกรรมอย่างอื่นของเยาวชนลงอีกด้วย ผลสุดท้ายเมืองไทยจึงได้ประชาชนจำพวกคนหัวโตที่ขาดทักษะสำหรับจะเป็นคน หรือที่นักการศึกษามักพูดกันว่าขาด “อีคิว” ส่วนเรื่องการมองข้ามและหยามวิชาชีพนั้น เมืองไทยร้ายแรงกว่าในอเมริกาเสียอีก

ด้วยเหตุดังกล่าวเหล่านี้การปฏิรูปการศึกษารอบสองจะต้องเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง หากทำเพื่อเพิ่มตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาและบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานไม่คุ้มค่าเงินดังครั้งก่อน การศึกษาไทยจะตกหน้าผา หรือถูกหมากัดแน่นอนภายในเวลาอันสั้น

สำหรับทางด้านเศรษฐกิจ อเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจมานานและเป็นหัวเรือใหญ่ในการใช้ระบบตลาดเสรีกระแสหลัก แต่เนื่องจากในระยะหลังๆ นี้อเมริกามีทั้งฟองสบู่ที่นำไปสู่ภาวะวิกฤตบ่อยๆ และมีความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสั่นคลอน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจำนวนหนึ่งจึงมองว่าอเมริกาจะตกหน้าผาหากยังไม่เปลี่ยนทางเดิน ในจำนวนนี้มี 2 คนที่พยายามชี้ให้เห็นสภาพความไม่มั่นคงของอเมริกาและแนวทางออกไว้ในรูปของหนังสือ คนหนึ่งคือ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบล ซึ่งเคยโด่งดังเมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก เขาชี้ให้เห็นความบกพร่องของระบบตลาดเสรีกระแสหลักไว้ในหนังสือชื่อ Globalization and Its Discontents (พิมพ์เดือนเมษายน 2546)

หลังจากนั้น สติกลิตซ์ เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม สองเล่มย้ำเน้นเรื่องความบกพร่องของระบบตลาดเสรีโดยเฉพาะแนวที่กำลังใช้กันอยู่ในอเมริกาซึ่งทำให้เกิดวิกฤตติดต่อกันหลายครั้งในระยะหลังๆ นี้ ได้แก่เรื่อง Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy (พิมพ์เดือนมกราคม 2553) และเรื่อง The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future (พิมพ์เดือนมิถุนายน 2555) ในสองเล่มนี้เขาชี้ให้เห็นว่า ความบกพร่องของระบบตลาดเสรีนั้นรัฐบาลจะต้องเป็นผู้แก้ แต่เนื่องจากรัฐบาลตกอยู่ในความครอบงำของชนชั้นมหาเศรษฐีซึ่งไม่ค่อยมีศีลธรรมจรรยา ปัญหาจึงหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขามองว่าอเมริกากำลังจะตกหน้าผา ถ้าไม่รีบแก้ปัญหาตามที่เขาเสนอไว้ในหนังสือเรื่อง The Price of Inequality

มุมมองของสติกลิตซ์มีข้อมูลสนับสนุนหนักแน่นและข้อเสนอของเขาน่าจะแก้ปัญหาของอเมริกาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำและการถดถอยของศีลธรรมจรรยาลดลง อเมริกาก็ยังจะมีปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนเพราะการขาดความสมดุลสูงที่มีอยู่ในด้านต่างๆ รวมทั้งการบริโภคแบบบ้าคลั่งดังที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ ปัญหานี้มีทางออกตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเจฟฟรี่ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอีกคนหนึ่งเสนอไว้ในหนังสือชื่อ The Price of Civilization: Reawakening American Virtue and Prosperity (พิมพ์เดือนตุลาคม 2554) จริงอยู่เขาไม่ได้ใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่กรอบของข้อเสนอทางออกที่เขาเขียนไว้ในบทที่ 9 ของหนังสือชื่อ The Mindful Society หรือ “สังคมมีสติ” นั่นคือฐานของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไทยจะหยุดคิดสักนิดแล้วเริ่มเดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือยังจะใส่หัวใจทาสเดินตามก้นอเมริกาต่อไปเพื่อให้ตกหน้าผา หรือถูกหมากัด?
กำลังโหลดความคิดเห็น