xs
xsm
sm
md
lg

‘สิงคโปร์’เป็นโมเดลที่เลวสำหรับ‘พม่า’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม บาร์นส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore a poor model for Myanmar
By William Barnes
04/06/2012

สิงคโปร์จัดเป็นเพื่อนมิตรที่โดดเด่นของพม่าทีเดียว ในระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษที่แดนหม่องตกอยู่ใต้การปกครองอันมืดมิดยาวนานของฝ่ายทหาร ครั้นมาถึงเวลานี้ประเทศนี้กำลังเสนอตัวต่อพม่าว่าจะแนะนำเคล็ดลับวิธีการต่างๆ ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับโลกได้ภายในชั่วอายุคนแค่สองสามรุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของ “สิงหะปุระ” แห่งนี้ แลดูอร่ามแวววับเหมาะสมแก่การเป็นแบบอย่างอันเหมาะเจาะ ทว่าโมเดลที่มุ่งเน้นการควบคุมโดยรัฐของสิงคโปร์ กลับเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้นิยมการปฏิรูป ควรที่จะต้องพยายามหลีกหนีไปให้ไกลๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

กรุงเทพฯ – เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้นิยมการปฏิรูปของพม่า เดินทางไปเยือนสิงคโปร์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่ในประเทศนั้นได้พยายามนำเสนอบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศ อันที่จริงแล้ว ในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ความกระหายความกระตือรือร้นของสิงคโปร์ที่จะเกี้ยวพาพวกนายพลชนชั้นปกครองของพม่านั่นแหละ คือลักษณะทางการทูตอันสำคัญประการหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศ ในความพยายามที่จะแหวกแทรกเปิดประตูประเทศที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวสันโดษแห่งนี้

ในตอนนี้ พม่ากำลังถูกเรียกขานว่าเป็น “พรมแดนทางเศรษฐกิจเปิดใหม่แห่งต่อไป” (next economic frontier) ที่เริ่มต้นแง้มประตูออกมาแล้ว และสิงคโปร์ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหล่านายพลอาวุโสของพม่านิยมนำเงินไปฝากยังธนาคาร ตลอดจนไปบำบัดรักษาตัวในโรงพยาบาลของที่นั่นอยู่แล้ว ก็มีความคล่องแคล่วว่องไวเป็นอย่างยิ่งในการเสนอตนเองว่า เหมาะสมควรที่แดนหม่องจะใช้เป็นแบบอย่างอันอร่ามแวววับ ในการพัฒนาก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจชั้นหนึ่งระดับโลกให้ได้ภายในชั่วอายุคนแค่สองสามรุ่น

อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงแล้วเสียงเพรียกหาอันดูมีมนตร์ขลังจากสิงคโปร์นี้ คือเสียงไซเรนร้องเตือนภัยที่พม่าควรต้องคอยมีสติต้านทานอย่าได้ใหลหลง รอดนีย์ คิง (Rodney King) นักเขียนชาวออสเตรเลียผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Singapore: Myth and Reality” (สิงคโปร์: ภาพมายาและความเป็นจริง) ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันหนัก ให้คำแนะนำไว้เช่นนี้

“สิงคโปร์ไม่ได้เป็นโมเดลด้านการพัฒนาที่ดีเลย และก็ไม่ได้เป็นโมเดลแบบที่ประเทศกำลังพัฒนาควรเดินตามด้วย โดยพื้นฐานแล้วสิงคโปร์กำลังโกหกหลอกลวงโลกเกี่ยวกับความสำเร็จในการสร้างชาติของตน” คิง ระบุ “มันเป็นเรื่องน่าวิตกใจหายมากที่พวกเขาเห็นไปได้ว่า ควรที่จะถือสิงคโปร์เป็นโมเดลที่ดีซึ่งควรกระทำตาม”

ระยะเวลาหลายๆ ปีแห่งการเจริญเติบโตอย่างสดใสในสิงคโปร์นั้น ในเบื้องต้นทีเดียวได้รับการขับดันจากกระแสเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าไปในประเทศขนาดเล็กเท่านครรัฐแห่งนี้ และต่อมาในช่วงหลังๆ มาก็ได้รับการขับดันจากการนำเข้าพวกพนักงานคนงานต่างชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนเท่ากับหนึ่งในสามของประชากรทั้งสิงคโปร์ การที่รัฐบาลสิงคโปร์สามารถควบคุมเศรษฐกิจของประเทศตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี คือสิ่งที่ได้รับการอิจฉาริษยาจากฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่น้อย ทว่าในเวลาเดียวกัน การควบคุมเช่นนี้ก็ส่งผลเป็นตัวการตัดรอนศักยภาพสติปัญญาของประเทศชาติในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจสร้างสรรค์ไม่ใช่น้อยๆ เลย

“ความสามารถทางด้านการเป็นผู้ประกอบการของสิงคโปร์ ความสามารถในด้านนวัตกรรมของสิงคโปร์นั้น มีอยู่ค่อนข้างน้อยมาก ประเทศนี้มีภาคเอกชนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กเป็นอย่างยิ่ง ไม่เหมือนกับประเทศอย่างเช่น เกาหลีใต้ หรืออย่าง ไต้หวัน ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบผู้ประกอบการที่เต็มไปด้วยความคึกคักมีชีวิตชีวา ในสิงคโปร์นั้น คุณไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริงเอาเลย” คิงกล่าว นักเขียนผู้นี้เคยทำงานอยู่ในเกาะนครรัฐแห่งนี้หลายปีทีเดียว

สิงคโปร์คงไม่พูดเรื่องนี้ออกมาหรอก ในเวลาที่ติดต่อตามเกี้ยวพาพม่าทั้งในทางการทูตและในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน อัชฟากูร์ เราะห์มาน (Ashfaqur Rahman) ประธานของศูนย์เพื่อกิจการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Foreign Affairs Studies) ในบังกลาเทศ บอกว่า การที่ในอดีตที่ผ่านมา สิงคโปร์แสดงพฤติกรรม ซึ่งตัวเขาเองมองว่า เป็นความพยายามที่จะหาวิธีหลบหลีกไม่ต้องทำตามนโยบายของฝ่ายตะวันตก ซึ่งกำลังทำให้คณะทหารผู้ปกครองพม่าในตอนนั้นกลายเป็นพวกนอกคอกที่สังคมโลกรังเกียจนั้น เขาเองไม่ได้รู้สึกแปลกใจสงสัยอะไรหรอกว่านครรัฐแห่งนี้มีความมุ่งหวังอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ประเมินคาดหมายได้อย่างไม่ยากเย็น

“หลักการพื้นฐานของการใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้ของสิงคโปร์ก็คือ เพื่อหาประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วเป็นความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ สิงคโปร์นั้นได้ไปลงทุนเอาไว้อย่างมากมายในพม่า และทำการค้าขายอย่างมากมายกับประเทศนี้ สิงคโปร์กระทั่งพยายามผลักดันชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนอื่นๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ยินยอมรับเอาพม่าเข้าร่วมอยู่ในองค์การระดับภูมิภาคแห่งนี้ด้วยซ้ำ”

สำหรับพลเมืองชาวพม่าผู้ซึ่งต้องผ่านระยะเวลาหลายสิบปีที่ประเทศชาติเดินแนวทางผิดพลาดจนต้องจมปลักอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซึมเซาเฉื่อยชาไม่รู้จบ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าย่อมรู้สึกตื่นเต้นประทับใจไปกับความสำเร็จของสิงคโปร์ ในการเปลี่ยนแปลงอดีตศูนย์กลางการค้าขนาดย่อมๆ แห่งหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ ให้กลายเป็นประเทศชาติอันทันสมัยและเชื่อมั่นในอนาคต โดยที่มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร อยู่ในระดับสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เป็นเรื่องที่โดดเด่นเตะตามากที่เกาะนครรัฐซึ่งมีประชากรเพียงแค่เท่ากับ 1% ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับยังคงสามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ได้ถึงร่วมๆ ครึ่งหนึ่งของที่ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ได้มา อย่างไรก็ดี เราต้องตระหนักว่าความสำเร็จเช่นนี้ได้รับมา “ด้วยต้นทุนอันมหาศาลเมื่อพิจารณาจากแง่มุมของการพัฒนาอย่างเป็นอิสระ, สิทธิมนุษยชน, เสรีภาพ, และสิทธิของผู้ใช้แรงงาน” ทั้งนี้เป็นข้อความในเอกสารทางวิชาการฉบับหนึ่งซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในปีที่แล้ว

ในส่วนของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ที่ยังไม่ได้ตกอยู่ในกำมือต่างชาตินั้น ส่วนใหญ่แล้วก็ถูกครอบงำโดยพวกสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล และบริหารจัดการโดย “อำมาตย์” ท้องถิ่น (local nomenklatura) [1] ขณะที่พรรคกิจประชาชน (People's Action Party หรือ PAP) ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียวมาโดยตลอดนับตั้งแต่ที่ประเทศนี้ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และทำให้สิงคโปร์มีสภาพเป็นรัฐที่ปกครองโดยพรรคเดียวในทางพฤตินัย ก็จะเป็นผู้ที่คอยเฝ้าจับตามองอยู่ทุกขณะ

“ลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของโมเดลแบบสิงคโปร์ก็คือ การที่รัฐเข้าควบคุมบงการเศรษฐกิจอย่างสูงมากทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม สำหรับพม่าเองก็ได้เคยผ่านยุคสมัยที่ให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้เทคโอเวอร์ทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้วเมื่อปี 1962 ในยุคของ (อดีตนายพล) เนวิน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือเศรษฐกิจพม่าถูกลากให้หล่นลงมากองพับกับพื้นเท่านั้นเอง” คิง ระบุ

“ถ้าหากพวกเขากำลังจะเดินตามโมเดลของสิงคโปร์แล้ว พวกเขาก็จะต้องซ้ำรอยความผิดพลาดต่างๆ ที่พวกเขาเคยทำมาแล้วนั่นแหละ สิงคโปร์นะไม่เอาพวกวิสาหกิจรายบุคคลนะ แต่พม่ากำลังจะต้องพึ่งพาอาศัยวิสาหกิจทั้งหมดที่พวกเขาสามารถรวบรวมเอามาได้ เพื่อฟันฝ่าข้ามให้พ้นช่วงเวลากว่า 50 ปีที่มีแต่สงครามและการกดขี่ทางการเมืองอันยืดเยื้อเรื้อรัง”

คำวิพากษ์วิจารณ์ของ คิง อาจจะดูไม่ค่อยมีน้ำหนักนัก เมื่อพิจารณาจากความมั่งคั่งร่ำรวยของสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในระยะหลังๆ นี้ภายในนครรัฐแห่งนี้เองก็มีเสียงติเตียนเสียงพร่ำบ่นดังขึ้นทุกที จึงทำให้คำพูดของเขาควรค่าแก่การไตร่ตรองมากขึ้น แท้ที่จริงแล้ว ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากกำลังตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า สิงคโปร์ยังสามารถที่จะเป็นแบบอย่าง จนกระทั่งเรียกเป็น “โมเดลแบบสิงคโปร์” ได้ต่อไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไปปีที่แล้ว ปรากฏว่าพรรคกิจประชาชนได้คะแนนเสียงเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศเป็นเอกราชเป็นต้นมาทีเดียว

เรื่องที่ฟ้องให้เห็นจุดอ่อนฉกาจฉกรรจ์อีกประการหนึ่งของสิงคโปร์ ก็คือ ผลิตภาพ (Productivity) นครรัฐแห่งนี้มีชื่อฉาวทีเดียวว่ามีอัตราการเพิ่มของผลิตภาพที่อ่อนแอมาหลายสิบปีแล้ว ถึงแม้เป็นสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ซึ่งไม่จริงจังเคร่งครัดอะไรนัก ยากที่จะมองเห็นได้ เนื่องจากถูกบดบังจากการที่สิงคโปร์มักได้รับการจัดอันดับอยู่เป็นประจำว่าเป็นหนึ่งในชาติผู้มีความสามารถในแข่งขันสูงที่สุดของโลก

พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบล ได้เคยทำให้ ลี กวนยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ เกิดอาการโกรธกริ้วหัวฟัดหัวเหวี่ยงตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน จากการที่เขาเสนอแนะว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์นั้น บังเกิดขึ้นเนื่องมาจากการใส่ทุกสิ่งทุกอย่าง –ได้แก่ เงินทุน และ แรงงาน เพิ่มเข้าไป ยกเว้นแต่ประสิทธิภาพ

นับตั้งแต่ที่ได้เปิดฉากการรณรงค์ในโครงการ “ทีมมี่ ผึ้งผู้ทรงผลิตภาพ” (Teamy the Productivity Bee) [2] เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ก็มุ่งมั่นให้ความเอาใจใส่ จนกระทั่งเปรียบเสมือนเป็นการท่องมนตร์อย่างขึงขังไม่ขาดปาก ว่าจะต้องหาวิธีก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงยิ่งขึ้นให้ได้ กระนั้นก็ตามที ทั้งๆ ที่มีการริเริ่มจัดฝึกอบรมนับเป็นหมื่นๆ รายการแล้ว แต่ผลิตภาพของคนงานสิงคโปร์ก็ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 1% ต่อปีเท่านั้น ในช่วงเวลาตั้งแต่ย่างเข้าสหัสวรรษใหม่

สิงคโปร์สามารถประคับประคองอัตราการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ในช่วงหลังๆ มานี้ ก็ด้วยอาศัยการไหลทะลักเข้ามาของชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้จำนวนประชากรของเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เวลานี้ชาวต่างประเทศและพลเมืองที่มิได้ถือกำเนิดในสิงคโปร์ มีอัตราส่วนเท่ากับประมาณสามในห้าของประชากรทั้งประเทศทีเดียว “เราสามารถเติบโตขยายตัวได้ในระยะ 5 ปีหลังมานี้ ก็เพียงเพราะอาศัยแรงงานที่นำเข้ามา” ลี กวนยู เอง กล่าวยอมรับเอาไว้เช่นนี้เมื่อปี 2010

ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปอีกว่า กระทั่งแรงงานต่างชาติที่ไหลทะลักเข้ามาดังกล่าวนี้ สิงคโปร์ก็ไม่สามารถนำเอามาใช้ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดอยู่ดี “พวกเขานำเข้านักวิทยาศาสตร์และนักเทคนิคทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จากทั่วทุกมุมโลกเลย ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมายังคงอยู่ในระดับเพียงแค่พอไปได้เท่านั้นเอง นักวิทยาศาสตร์นักเทคนิคเหล่านี้กำลังพบว่าตนเองกำลังทำงานอยู่ในโครงสร้างแบบระบบราชการอันน่าอึดอัด” คิง แจกแจง หน่วยงานรับผิดชอบทั้งหลาย “ใช้จ่ายเงินทองมากมายมหาศาลไปในเรื่องทรัพยากรด้านต่างๆ ทว่ากลับไม่สามารถที่จะสร้างบรรยากาศอันเหมาะสมขึ้นมาได้อย่างแท้จริง เรื่องการดึงดูดชักชวนผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามานั้น พวกเขาประสบความสำเร็จอยู่หรอก ทว่าเมื่อพวกเขาได้คนเหล่านี้มาแล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่างๆ ในหนทางที่จะทำให้บังเกิดผลอย่างที่ต้องการได้”

วิลเลียม บาร์นส์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ผ่านงานมาอย่างโชกโชน ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
‘สิงคโปร์’เป็นโมเดลที่เลวสำหรับ‘พม่า’ (ตอนจบ)
สิงคโปร์จัดเป็นเพื่อนมิตรที่โดดเด่นของพม่าทีเดียว ในระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษที่แดนหม่องตกอยู่ใต้การปกครองอันมืดมิดยาวนานของฝ่ายทหาร ครั้นมาถึงเวลานี้ประเทศนี้กำลังเสนอตัวต่อพม่าว่าจะแนะนำเคล็ดลับวิธีการต่างๆ ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับโลกได้ภายในชั่วอายุคนแค่สองสามรุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของ “สิงหะปุระ” แห่งนี้ แลดูอร่ามแวววับเหมาะสมแก่การเป็นแบบอย่างอันเหมาะเจาะ ทว่าโมเดลที่มุ่งเน้นการควบคุมโดยรัฐของสิงคโปร์ กลับเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้นิยมการปฏิรูป ควรที่จะต้องพยายามหลีกหนีไปให้ไกลๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น