xs
xsm
sm
md
lg

‘สิงคโปร์’เป็นโมเดลที่เลวสำหรับ‘พม่า’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม บาร์นส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore a poor model for Myanmar
By William Barnes
04/06/2012

สิงคโปร์จัดเป็นเพื่อนมิตรที่โดดเด่นของพม่าทีเดียว ในระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษที่แดนหม่องตกอยู่ใต้การปกครองอันมืดมิดยาวนานของฝ่ายทหาร ครั้นมาถึงเวลานี้ประเทศนี้กำลังเสนอตัวต่อพม่าว่าจะแนะนำเคล็ดลับวิธีการต่างๆ ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับโลกได้ภายในชั่วอายุคนแค่สองสามรุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของ “สิงหะปุระ” แห่งนี้ แลดูอร่ามแวววับเหมาะสมแก่การเป็นแบบอย่างอันเหมาะเจาะ ทว่าโมเดลที่มุ่งเน้นการควบคุมโดยรัฐของสิงคโปร์ กลับเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้นิยมการปฏิรูป ควรที่จะต้องพยายามหลีกหนีไปให้ไกลๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ช่องว่างด้านความเท่าเทียม**

เมื่อเร็วๆ นี้สิงคโปร์กลายเป็นข่าวพาดหัวดังเกรียวกราวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จากการที่ เอดูอาร์โด ซาเวริน (Eduardo Saverin) [3] หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “เฟซบุ๊ก” เว็บไซต์เครือข่ายสังคมชื่อดัง ได้เปิดเผยว่ากำลังยกเลิกการถือหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ โดยจะเปลี่ยนมาใช้สถานะเป็นผู้พำนักอาศัยในสิงคโปร์แทน และเขาตั้งใจที่จะ “ลงทุนให้หายบ้ากันไปเลย”

อย่างไรก็ตาม ซาเวริน คือตัวอย่างล่าสุดของผู้ที่เข้าไปอยู่ในแวดวงชนชั้นนำผู้ร่ำรวยมั่งคั่งมหาศาลระดับซูเปอร์ริชของสิงคโปร์ในเวลานี้ ชนชั้นนำเหล่านี้กำลังลอยล่องอยู่เหนือประชาชนคนสามัญธรรมดา ซึ่งจำนวนมากยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำมาหารายได้ให้เพียงพอแก่การยังชีพในนครซึ่งมาตรฐานการครองชีพแพงลิ่วขึ้นเรื่อยๆ แทบจะตลอดช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรที่อยู่ส่วนครึ่งล่างของสังคมสิงคโปร์นั้น ถ้าหากไม่ถึงขั้นประสบกับภาวะเงินรายได้แท้จริงลดต่ำลงไป อย่างน้อยที่สุดก็พบว่ารายได้แท้จริงของตนไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย

ความไม่เท่าเทียมกันในระดับที่สูงมากเช่นนี้ ยังผสมผสานไปกับความล้มเหลวของ
กระบวนการยกระดับเลื่อนชั้นทางสังคมอีกด้วย และนี่กำลังส่งผลให้พวกชนชั้นสูงอภิสิทธิ์ชนยึดครองตำแหน่งแห่งที่ของพวกตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่แม้กระทั่งรัฐบาลก็ยอมรับว่า มันกำลังเป็นภัยคุกคามต่อกระบวนการกระชับตัวสร้างความแนบแน่นของสังคม

ศาสตราจารย์ ลิม ชง ยาห์ (Lim Chong Yah) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่งของนครรัฐแห่งนี้ ได้กล่าวไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า สัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ที่เป็นเกณฑ์ในการวัดความเสมอภาค ซึ่งของสิงคโปร์อยู่ที่ 0.47 นั้น กำลังขยับเข้าใกล้ “ระดับอันตราย” ที่ 0.5 ที่ปกติแล้วหมายความว่าความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ เริ่มต้นที่จะสร้างความแตกร้าวขึ้นในโครงสร้างทางสังคม นอกจากนั้น เขายังเสนอแนะให้ใช้วิธีบำบัดรักษาอย่างแรงๆ ด้วยการ “ช็อก” เป็นต้นว่า ด้วยการขึ้นค่าจ้างให้แก่คนงานและขึ้นภาษีให้โหดในลักษณะของการลงโทษต่อคนร่ำรวย

คิง ประมาณการว่าในปัจจุบันประชากรถึงหนึ่งในห้าของสิงคโปร์ทีเดียว ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในความยากจน เมื่อวัดตามมาตรฐานหลักเกณฑ์ต่างๆ ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) “พวกเขาสามารถที่จะดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศโดยตรงเข้ามาได้ตั้งมากมาย ... โดยที่ต้องแลกด้วยมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสิงคโปร์” เขาชี้

ปัจจุบันสิงคโปร์เหมือนกับอยู่ในช่วงที่เพิ่งก้าวผ่านพ้นจุดหักเหบางอย่างบางประการไป พวกผู้นำพรรคกิจประชาชน 2 รุ่นแรกนั้นเพิ่งหายลับออกไปจากเวทีหมาดๆ (แน่นอนทีเดียวว่า ยังไม่นับรวมถึง ลี กวนยู ) ส่วนพวกผู้นำรุ่นหนุ่มๆ มากกว่าก็ดูเหมือนยังไม่สามารถเกาะกุมอำนาจเอาไว้อย่างมั่นคงจนกระทั่งมีอิทธิพลบารมีสามารถข่มขู่ประชากรให้ขวัญหายกระเจิดกระเจิงได้เหมือนเหล่าผู้นำรุ่นก่อนๆ

“นี่เป็นประเทศของประชาชนที่ขี้กลัวและถูกข่มขู่อยู่เป็นประจำ ในช่วงทศวรรษ 1950 และ ทศวรรษ 1960 ชาวสิงคโปร์ยังเป็นคนที่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง และชอบเสี่ยงมากกว่านี้อยู่เลย ทว่า ลี และสหายได้เข่นฆ่าจิตวิญญาณของพวกเขาไปจนตายหมดสิ้นแล้ว” คิง กล่าว

ความขี้กลัวขี้ตกใจของประชาชนชาวสิงคโปร์ดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่รับผิดชอบผู้มีอำนาจ ในอดีตได้เคยเปิดช่องให้มีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเป็นชุดใหญ่ หลังจากนั้นก็ติดตามมาด้วยการหันเลี้ยวกลับ 180 องศาอย่างน่าอึดอัด การพลิกผันนโยบายอย่างฉับพลันคราวหนึ่งซึ่งออกจะโด่งดังทีเดียว บังเกิดขึ้นในปี 1970 เมื่อ ลี ประกาศไม่ต้องการให้พลเมืองชาวสิงคโปร์มีลูกมากมีครอบครัวขนาดใหญ่ ภายหลังจากพิจารณาเห็นว่าจำนวนประชากรของประเทศกำลังสูงเกินไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ลี ก็เปลี่ยนความคิด และหันมาขอร้องอ้อนวอน (หลายๆ ครั้ง การขอร้องอยู่ในลักษณะที่แปลกประหลาดเหมือนกับเป็นหนังการ์ตูนทีเดียว) ให้ชาวสิงคโปร์ช่วยกันตั้งอกตั้งใจทำการบ้านแพร่สายพันธุ์กันให้มากขึ้น

ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีผู้สังเกตการณ์ที่สุขุมรอบคอบได้ชี้ออกมาให้เห็นว่า “ความสำเร็จ” ของสิงคโปร์นั้น ได้รับความเกื้อหนุนไม่ใช่น้อยจากการที่เป็นประเทศเกาะขนาดเล็กกะทัดรัด จึงทำให้ดำเนินการควบคุมทางการเมืองและทางสังคมได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นจึงทำให้ “สิงหะปุระ” สามารถที่จะทดลองใช้ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการพัฒนาประเทศซึ่งแข็งกร้าวจริงจังแต่ทรงประสิทธิภาพได้ดี

ในทางตรงกันข้าม พม่ากลับเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชิ้นส่วนอันสลับซับซ้อนแห่งปัญหาทั้งทางชาติพันธุ์, ภูมิศาสตร์, เศรษฐกิจ, และประวัติศาสตร์ โดยที่ขนาดพื้นที่ก็ใหญ่โตกว่าสิงคโปร์ถึง 1 พันเท่า “พวกประเทศที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางอย่างเช่น อินโดนีเซีย, (พม่า), และไทย ...จะค้นพบว่ายุทธศาสตร์แบบที่สิงคโปร์ใช้อยู่ เมื่อนำเอามาดำเนินการในประเทศของตนบ้าง ก็จะประสบความลำบากยากเย็นกว่ามากมายนัก” คิง ชี้

แน่นอนทีเดียวว่า ภาพมายาเกี่ยวกับความสำเร็จในการสถาปนาประเทศสิงคโปร์อันแข็งแกร่งและร่ำรวยขึ้นมา จากสภาพของบ้านเมืองเมื่อปี 1965 ที่เต็มไปด้วยสวนยางสวนปาล์มอันชื้นแฉะอีกทั้งเต็มไปด้วยยุงที่แพร่เชื้อโรคระบาด ตลอดจนชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมซอมซ่อ ย่อมต้องมีมนตร์ขลังสำหรับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายเฉกเช่นพม่า จนกระทั่งปรารถนาที่จะเรียนรู้เคล็ดลับทั้งปวงที่ทำให้สิงคโปร์เจริญมั่งคั่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ภาพมายาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ห่างจากความจริงอย่างที่สุด คิงชี้ว่า ในปี 1965 นั้น สิงคโปร์มีฐานะเป็นหนึ่งในบรรดานครที่พัฒนาไปไกลที่สุดในเอเชียเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรม, มาตรฐานการครองชีพ, อัตราการรู้หนังสือของประชากร

“ความสำเร็จในการสร้างชาติของสิงคโปร์ ถ้าหากพูดกันถึงสิ่งที่เป็นความจริงนะ มันเป็นความสำเร็จซึ่งต้องอิงอาศัยสภาพการณ์อันเอื้ออำนวยเป็นอย่างยิ่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่ไม่น่าจะค้นพบในที่อื่นๆ ได้เลย” เขากล่าว

แน่นอนที่สิงคโปร์สมควรได้รับการยกย่องชมเชยในเรื่องต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ อย่างเรื่องการมีระบบการบริหารราชการที่ค่อนข้างสะอาดไร้สิ่งโสโครก ภายในภูมิภาคซึ่งมืดมัวด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ถ้าหากการประเมินสถานการณ์ของ คิง เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นการฉลาดกว่าที่พม่าควรต้องตรวจสอบทบทวนอย่างสุขุมรอบคอบ เมื่อได้รับคำแนะนำจากรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จแห่งนี้ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับที่ต้องดิ้นรนหนักกับปัญหามีผลิตภาพต่ำ และความไม่สงบสุขทางสังคมก็สูงขึ้นทุกที

**หมายเหตุผู้แปล**
[1] อำมาตย์ท้องถิ่น หรือ local nomenklatura คำว่า nomenklatura เป็นภาษารัสเซีย หมายถึงกลุ่มคนภายในสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ในยุคคอมมิวนิสต์ครองเมือง ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารสำคัญๆ ต่างๆ ไม่ว่าจะในทางรัฐบาล, อุตสาหกรรม, เกษตรกรรม, การศึกษา ฯลฯ โดยผู้ที่เข้าครองตำแหน่งเหล่านี้ ย่อมต้องได้รับการเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย) สำหรับกรณีของสิงคโปร์ ผู้เขียนดูมุ่งหมายที่จะเสียดสีว่า ในเศรษฐกิจส่วนที่ไม่ตกอยู่ในมือต่างชาติของสิงคโปร์ พวกที่บริหารจัดการก็คือกลุ่มคนที่ได้รับการเห็นชอบจากพรรคกิจประชาชนนั่นเอง

[2] โครงการรณรงค์ ทีมมี่ ผึ้งผู้ทรงผลิตภาพ (Teamy the Productivity Bee) เป็นการรณรงค์เพิ่มผลิตภาพโดยเน้นการทำงานเป็นทีมของสิงคโปร์ ซึ่งมีตัวมัสคอตเป็นรูปผึ้งสีเหลือง เริ่มใช้กันตั้งแต่ปี 1982 และปลดเกษียณไปในปี 1999 (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Singapore Visual Archive)

[3] เอดูอาร์โด ซาเวริน (Eduardo Saverin) ผู้ประกอบการและนักลงทุนทางด้านอินเทอร์เน็ตชาวบราซิล ปัจจุบันอายุ 30 ปี เขาเป็น 1 ใน 4 ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เครือข่ายสังคม “เฟซบุ๊ก” เคียงข้างกับ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก, ดัสติน มอสโควิซ, และ คริส ฮิวส์ ตามข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส์ ณ ปี 2012 ซาเวรินเป็นเจ้าของหุ้นเฟซบุ๊กไม่ถึง 5% และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 2,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)

วิลเลียม บาร์นส์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ผ่านงานมาอย่างโชกโชน ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น