xs
xsm
sm
md
lg

‘ประชานิยม’เป็นตัวฉุด‘ผลิตภาพ’ในประเทศไทย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม บาร์นส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Populism trumps productivity in Thailand
By William Barnes
09/05/2012

นโยบายแบบประชานิยมของรัฐบาลไทยชุดต่างๆ ตลอดจนความลังเลรีรอไม่อยากจะลงทุนของธุรกิจทั้งหลาย สืบเนื่องจากความทรงจำอันขมขื่นเกี่ยวกับวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 กำลังกลายเป็นปัจจัยบ่อนทำลายความสามารถของประเทศไทยในการขยายเศรษฐกิจของตนเอง ผลพวงที่ตามมาประการหนึ่งก็คือ อัตราค่าจ้างที่ชะงักงันไม่ค่อยขยับไปไหน ทั้งๆ ที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเกือบๆ เป็นศูนย์

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

กรุงเทพฯ – ประเทศไทยพบว่าตนเองกำลังติดอยู่ในสิ่งที่เรียกกันว่า “กับดับของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง” (middle-income trap) ซึ่งอัตราเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับพื้นๆ ธรรมดาๆ โดยไม่อาจเร่งตัวเองให้ไต่ขึ้นไปสู่การเป็นประเทศรายได้ระดับสูง นอกจากนั้นแล้วไทยยังกำลังถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยที่สำคัญอีก 2 ประการผสมผสานกัน ได้แก่การที่พวกเจ้าของธุรกิจชาวไทย “ก่อการสไตรค์ทางด้านเงินทุน” และผลด้านลบของพวกนโยบายประชานิยมซึ่งมีอันตรายที่จะกลายเป็นการบิดเบือนระดับราคาและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

นโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างสูงลิ่ว หรือคำมั่นสัญญาในลักษณะประชานิยมอย่างอื่นๆ ล้วนแต่ล้มเหลวไม่ได้แตะต้องตัวปัญหาที่อยู่ล้ำลึกลงไป อันได้แก่การที่พวกนายทุนในไทยขาดความเต็มอกเต็มใจที่จะผลักดันยกระดับเศรษฐกิจขึ้นไปสู่ระดับที่พวกคนงานซึ่งมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น สามารถที่จะเรียกร้องต้องการค่าตอบแทนที่สูงขึ้นได้

นับตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2001 ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา รัฐบาลไทยชุดต่างๆ ล้วนสาละวนวุ่นวายอยู่แต่กับการเร่งเครื่องปรับแต่งพวกหัวรถจักรทางด้านการคลัง เพื่อให้สามารถกระทำตามคำมั่นสัญญาแบบประชานิยมด้านต่างๆ ตามที่รณรงค์หาเสียงเอาไว้ ภายหลังที่พวกเขาประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยดูเหมือนไม่ค่อยได้ตระหนักกันเลยในเรื่องที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในอาการชะงักงันอย่างชนิดทรุดโทรมอ่อนเพลียเต็มที

ในรอบระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2001-2010 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยมีอัตราเติบโตขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.4% ต่อปี หรือประมาณครึ่งเดียวของอัตราเฉลี่ยของทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น ขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญชาวไทยจำนวนหนึ่งพากันชี้ว่า การแจกจ่ายสิ่งต่างๆ ตามนโยบายแบบประชานิยม แม้กระทั่งเมื่อมีเจตนารมณ์อันดีที่พยายามใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อมาแก้ไขปัญหาช่วงห่างทางรายได้อย่างเรื้อรัง ก็ยังแทบไม่มีประโยชน์อะไรในด้านการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เคยพูดเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ผมเข้าใจดีว่าพวกนักการเมืองจำเป็นที่จะต้อง ... รักษาคะแนนนิยมของพวกเขา แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาปัญหาท้าทายระยะยาวกันด้วย” ทั้งนี้เขายกตัวอย่างความท้าทายดังกล่าว ว่ามีทั้งเรื่องการศึกษาที่ด้อยคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน, การจัดสรรทรัพยากรให้แก่งานด้านการวิจัยและการพัฒนาในระดับที่น้อยมากๆ จนน่าตกใจ, และการที่ประชากรโดยรวมกำลังมีอายุเพิ่มสูงขึ้น

นายประสารยังกล่าวเตือนพวกบริษัท “ค่าแรงงานสูง” ทั้งหลาย โดยชี้ว่าพวกเขาจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงยกเครื่องการดำเนินการของพวกเขา หาไม่ก็จะต้องปิดกิจการไป อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารชาติท่านนี้ ก็ยังอาจจะละเลยไม่ได้มองถึงปัญหาที่มีความสำคัญระดับเป็นตายยิ่งกว่า และเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนานกว่าบรรดาปัญหาที่เขาหยิบยกขึ้นมาเสียอีก

ในปัจจุบัน ผลกำไรของภาคบริษัทธุรกิจในประเทศไทยจัดอยู่ในระดับเป็นกอบเป็นกำทีเดียว ส่วนพวกธนาคารทั้งหลายก็เต็มล้นเอ่อนองไปด้วยสภาพคล่อง กระนั้นก็ตามที ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทส่วนใหญ่กลับทำเพียงแค่เก็บเอากำไรเข้าพกเข้าห่อ แทนที่จะดำเนินการลงทุนตามแผนการยุทธศาสตร์สร้างความเจริญเติบโตในระยะยาว ขณะเดียวกัน ถึงแม้อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำมากๆ จนเกือบเท่ากับ 0% ทว่าอัตราค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงกลับอยู่ในสภาพที่แทบไม่ได้มีการขยับขึ้นเลยในระยะเวลา 10 ปีดังกล่าวนี้

“มีความพยายามอย่างจงใจจากทุกๆ คน ที่จะธำรงรักษาอัตราผลตอบแทนจากเงินทุนเอาไว้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือธำรงรักษาภาวการณ์ขาดแคลนเงินทุนเอาไว้ และด้วยเหตุนี้เองค่าจ้างที่แท้จริงจึงไม่ได้ขยับขึ้นไป นี่เป็นหนทางเดียวที่ผมสามารถใช้มาอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้” นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ผู้มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ (สายงานวิจัย) ของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็น ขณะที่รายงานวิจัยฉบับหนึ่งของธนาคารโลกที่นำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ภาคบริษัทธุรกิจของไทยรีรอลังเลที่จะทำการลงทุนมานาน จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่มันกำลังส่งผลให้การเพิ่มทวีทางด้านผลิตภาพของไทยอยู่ในอาการอ่อนแออย่างยิ่งโดยทั่วหน้า และเรื่องนี้กำลังสร้างความลำบากอย่างมากมายเป็นพิเศษให้แก่ภาคบริการการสร้างงาน ซึ่งเป็นภาคบริการที่ทรงความสำคัญยิ่ง

ในรอบระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา กิจกรรมการผลิตมีส่วนในการสร้างจีดีพีเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30% เป็น 40% ขณะที่มีส่วนในการนำเอากำลังแรงงานของประเทศมาใช้คิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ อยู่ที่ราว 15% โดยแทบไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรนัก ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ระดับค่าจ้างแรงงานแท้จริงก็ค่อยๆ คลานขยับขึ้นไประหว่าง 3% ถึง 4% เท่านั้น ทั้งที่ในกรอบเวลาเดียวกันนี้ ผลผลิตโดยรวมของเศรษฐกิจไทยได้พุ่งพรวดเพิ่มขึ้นไปถึง 50%

นายศุภวุฒิประณามกล่าวโทษวิกฤตการเงินและค่าเงินตราตกฮวบในปี 1997 โดยระบุว่า วิกฤตซึ่งได้ทำให้ธุรกิจไทยในขอบเขตกว้างขวางยิ่งต้องประสบภาวะล้มละลายในทางเทคนิคคราวนั้น สั่งสอนบทเรียนในเรื่องเงินทุนให้แก่ธุรกิจไทยได้เป็นอย่างดีจนเกินไป

“ก่อนวิกฤตครั้งนั้น พวกนายทุนไทยจริงๆ แล้วก็กำลังผลาญเงินทุนไปอย่างไร้ประโยชน์ โดยอิงอยู่กับความเชื่อที่ว่าการเติบโตขยายตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นปกติ ดังนั้นคุณจึงควรต้องใช้ความพยายามเพื่อจับคว้าการเติบโตดังกล่าวเอาไว้ จับคว้าส่วนแบ่งตลาด และทำเงินให้ได้เยอะๆ คุณจะไม่ให้ความใส่ใจอะไรนักถึงผลพวงที่จะเกิดตามมาหรอก” นายศุภวุฒิ อธิบาย

“แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลงด้วยน้ำตา และพวกนายทุนถูกตีกระหน่ำอย่างแรง หลังจากนั้นพวกนายทุนก็เริ่มพยายามที่จะอนุรักษ์รักษาเงินทุน พยายามที่จะใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อทำให้การลงทุนของพวกตน โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนของพวกตน ยังคงได้รับอัตราผลตอบแทนกลับมาอย่างสูง ขณะที่แรงงานเป็นฝ่ายที่ต้องสูญเสีย ... พวกเขาไม่ได้เป็นปีศาจร้ายหรอกนะ มันเป็นเพียงความพยายามที่จะรักษาตัวเองเท่านั้น” เขากล่าว

สภาพเช่นนี้สามารถใช้มาอธิบายสิ่งที่ดูเหมือนเป็นองค์ประกอบที่ขัดแย้งกันของระบบเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ อัตราค่าจ้างแท้จริงส่วนใหญ่แล้วแทบไม่มีการขยับขึ้นเลย ทั้งๆ ที่ตัวเลขอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการได้ลดต่ำลงจนอยู่ใกล้ๆ 0% แล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำมากๆ นี้ยังได้รับการยืนยันจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ในเวลาที่เศรษฐกิจของไทยกำลังดีดตัวกลับกระเตื้องขึ้นจากอุทกภัยอันสร้างความหายนะอย่างร้ายแรงเมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่าตามตัวเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศจะเห็นป้ายประกาศ “รับสมัครงาน” ติดเต็มไปหมด

ทว่าเมื่อหันมาพิจารณาตัวเลขด้านผลิตภาพ มันกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไปและน่าวิตกห่วงใยยิ่ง ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1990 นั้น ผลิตภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอย่างสดใสมากในอัตรา 8.3% ต่อปี ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization หรือ APO)

แต่ตัวเลขนี้ได้ลดฮวบลงมาจนเกือบๆ จะเป็น 0 (0.1%) ทั้งในระยะก่อนและหลังช่วงแห่งความเฟื่องฟูในปี 1995-2000 ต่อจากนั้น ผลิตภาพของไทยก็กลับดีขึ้นมาบ้างในระยะเวลาระหว่างปี 2000-2008 แต่ก็อยู่ในระดับเพียงแค่ประมาณ 2.5% ต่อปีเท่านั้น สำหรับช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ อัตราการเติบโตของผลิตภาพอยู่ในอาการชะงักงันอีก

นับจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ได้เห็นอัตราการเติบโตขยายตัวอย่างสูงลิ่วของผลิตภาพ มาเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งแดนสยามเคยทำได้จนได้รับการจับตามองว่าจะยกระดับประเทศให้ขึ้นไปสู่ฐานะของการเป็นประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้สูง ทำนองเดียวกับความสำเร็จของการไต่ขึ้นไปตามบันไดแห่งการเพิ่มมูลค่า ซึ่งพบเห็นอยู่ในประเทศและดินแดนเอเชียตะวันออกอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และไต้หวัน

ในเวลาเดียวกัน ช่วงเวลาหลายๆ ปีแห่งการเจริญเติบโตได้อย่างง่ายๆ ด้วยการอาศัยการส่งออกสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานราคาถูกๆ และกระบวนการที่เกษตรกรทั้งหลายละทิ้งผละจากไร่นาของพวกตนเพื่อมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม ก็กำลังทำท่าจะจบสิ้นปิดฉากลงแล้วสำหรับประเทศไทย ยิ่งกว่านั้น การที่พม่า ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีฐานะด้อยพัฒนากว่ามากของไทย กำลังจะเปิดเสรีเศรษฐกิจของตนตามที่คาดหมายกันอยู่ทั่วไป ก็ถือเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดกระแสแรงงานอพยพค่าจ้างถูกพากันหนีหายจากประเทศไทยกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน

แน่นอนทีเดียวว่า การพยายามไต่บันไดแห่งมูลค่าเพิ่ม คือความท้าทายทางด้านนโยบายที่สำคัญมาก และไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย ประเทศเพื่อนบ้านอีกรายหนึ่งของไทย นั่นคือ มาเลเซีย ก็เผชิญปัญหาแบบเดียวกันกับไทย โดยที่การลงทุนของมาเลเซียอยู่ในระดับต่ำอย่างเรื้อรังยาวนาน ถึงแม้แดนเสือเหลืองอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่า ตรงที่มีฐานความมั่งคั่งร่ำรวยสูงกว่า กล่าวคือ ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อประชากรแต่ละคนของมาเลเซีย อยู่ในระดับเกือบเป็นสองเท่าตัวของไทยทีเดียว ยิ่งถ้าหากนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่เศรษฐกิจขับดันโดยภาคบริการแล้ว ตัวเลขนี้ของสิงคโปร์ก็สูงกว่าไทยถึง 10 เท่าตัว

การผนวกรวมกันของสภาพการณ์ที่นักลงทุนไม่ค่อยอยากจะลงทุน และการที่มีคนงานจำนวนสูงลิ่วผิดปกติในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ กำลังก่อให้เกิดส่วนผสมทางเศรษฐกิจที่เป็นพิษภัยต่อการพัฒนา นี่เป็นความเห็นของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หุ้นส่วนผู้จัดการ (managing partner) ของบริษัท แอดไวเซอร์ (Advisor Co Ltd) และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากจำนวนประชากรในวัยทำงานที่ไทยมีอยู่ประมาณ 38 ล้านคน ราวๆ 21 ล้านคน เป็นต้นว่า เกษตรกร, คนขับรถแท็กซี่, และอื่นๆ เป็นผู้ที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ สำหรับอีก 17 ล้านคนที่เหลือ ก็มีเพียง 9 ล้านคนเท่านั้นที่ได้เงินเดือนค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ขณะที่อีก 8 ล้านคนนั้น ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน

“เรามีคนงานจำนวนมากมายเหลือเกินที่กำลังทำงานในแบบวันต่อวัน ได้รับเงินค่าจ้างแบบวันต่อวัน ดังนั้น โอกาสความเป็นไปได้ที่พวกเจ้าของธุรกิจจะต้องการลงทุนกับผู้คนเหล่านี้ ลงทุนในด้านการฝึกอบรมตลอดจนเทคโนโลยีและอื่นๆ จึงต่ำเอามากๆ แล้วสภาพเช่นนี้ก็ย้อนกลับมามีส่วนทำให้อัตราการเติบโตของค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำและไร้ความสดใส” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

วิลเลียม บาร์นส์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ผ่านงานมาอย่างโชกโชน ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น