xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศนี้มีไว้ “ขาย”

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

            ไม่น่าเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลของทักษิณ
        ไทยจะกลายเป็นชาติที่ล้มเหลวได้เหมือนเขมร

วันนี้ขออนุญาตแย่งซีนโต๊ะข่าวกีฬา หวังว่าคุณ “เดื่อ” และคุณ “สวรรยา” คงไม่ถือโทษโกรธเคือง ขออภัยไว้ล่วงหน้า

วิ่งมาราธอน อาจถือได้ว่าเป็นกีฬาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็ว่าได้เพราะมีการแข่งขันต่อเนื่องมาโดยตลอด กีฬาอื่นขาดได้ แต่หากวิ่งมาราธอนขาดไปแล้วโอลิมปิกไม่สมบูรณ์เป็นแน่

การวิ่งเป็นพื้นฐานของคน ดังนั้นการวิ่งระยะทาง 42 กม.เศษให้เร็วกว่าคนอื่นๆ จึงเป็นกีฬาประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคหรืออุปกรณ์พิเศษอะไรมากมาย หากแต่อาศัยความมุ่งมั่นและการฝึกซ้อมเอาชนะตนเองอันเป็นจิตวิญญาณของนักกีฬาเป็นสำคัญ

วิ่งที่ไหนก็ฝึกซ้อมได้เพราะสนามแข่งก็คือพื้นที่ราบทั่วไป จะมีรองเท้าหรือไม่ ยอดนักวิ่งบางคนยังวิ่งเท้าเปล่าเสียด้วยซ้ำ ประเทศที่ด้อยพัฒนาจึงมีโอกาสเป็นผู้ชนะได้เท่าๆ กับนักกีฬาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นกีฬาไม่กี่ประเภทที่ “ทุน” ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบให้เกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

กีฬาโอลิมปิกในยุคปัจจุบันตั้งแต่ครั้งที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ได้กลายเป็นมหกรรมทางการค้าไปพร้อมๆ กับการแข่งขันกีฬา เนื่องจากผู้จัดประสบความสำเร็จจัดแล้วมีกำไร เป็นต้นแบบทำให้หลายๆ ชาติในเวลาต่อมาต่างแย่งกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล

ประเทศในโลกมีประมาณ 200 ประเทศในขณะที่ชาติสมาชิกโอลิมปิกที่พร้อมส่งนักกีฬาเข้าร่วมน่าจะมีมากกว่า 100 ประเทศ ทำให้ต้องมีการจำกัดจำนวนนักกีฬาที่จะเข้าร่วม วิ่งมาราธอนก็เช่นเดียวกัน

โอลิมปิกในปี ค.ศ. 2012 ที่ลอนดอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตั้งเป้านักกีฬากรีฑาเข้าร่วมไว้ประมาณ 2,000 คน เงื่อนไขของการส่งนักกีฬาวิ่งมาราธอนเข้าแข่งขันก็คือ มาตรฐาน A ชาติละไม่เกิน 3 คนหากมีสถิติวิ่งได้ไม่เกินกว่า 2:15:00 (อ่านว่า 2 ชั่วโมง 15 นาที 0 วินาที) หรือ มาตรฐาน B ไม่เกิน 1 คนหากมีสถิติวิ่งได้ไม่เกินกว่า 2:18:00 สำหรับเพศชาย

เหตุก็คือ หากทุกชาติสามารถส่งนักกีฬาโดยเสรีอย่างไม่จำกัดจำนวน ชาติที่ร่ำรวยก็จะมีโอกาสส่งนักกีฬาที่รู้ว่าวิ่งอย่างไรก็ไม่ชนะเข้ามาเกะกะ ทำให้มีนักกีฬาที่ไม่ผ่านมาตรฐานเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือป้องกัน “ชาติหน้าด้าน” ขายสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

อย่าลืมว่าสำหรับประเทศด้อยพัฒนาที่ล้มเหลว ผู้ปกครองยินดี “ขาย” ทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อประโยชน์ส่วนตน สิทธิในการส่งนักกีฬาก็เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีคนอยากซื้อ เช่นเดียวกับ นายฮิโรชิ เนคโกะ ชื่อจริงคือ คูนิอากิ ทะคิซากิ ดาราตลกชาวญี่ปุ่นที่ยินยอมสละสัญชาติญี่ปุ่นไปถือครองสัญชาติเขมรเพื่อให้สามารถสวมสิทธิแทนนักกีฬาเขมรเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนในนามนักกีฬาชาติเขมร

เป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาจากประเทศด้อยพัฒนาจะเสียเปรียบในเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐให้เล่นกีฬาและเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ นายเนคโกะจึงอาศัยช่องนี้เสนอตัวเข้าเป็นตัวแทนทั้งที่สถิติที่ดีที่สุดของเขาเมื่อปลายปีที่แล้วคือ 2:30:26 ที่ไม่ผ่านทั้งมาตรฐาน A และ B แถมยังช้ากว่านายเฮม บุนติง (Hem Bunting) นักกีฬาเขมรแท้ที่ได้เหรียญกีฬาซีเกมส์และเคยเป็นตัวแทนเข้าแข่งโอลิมปิกครั้งที่แล้วที่ปักกิ่งที่วิ่งได้ 2:23:29 เมื่อต้นปีนี้ เร็วกว่านายเนคโกะเขมรเทียมเกือบ 7 นาทีแต่ไม่ได้สิทธิไปแข่งกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้จากประเทศของเขาเอง

ด้วยความเร็วที่มีของนายเนคโกะเมื่อนำไปเปรียบกับซามูเอล วันจิรุ(Samuel Wanjiru) จากเคนยาแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกคนล่าสุดจากปักกิ่งที่วิ่งชนะด้วยเวลา 2:06:32 นายเนคโกะวิ่งช้ากว่าเกือบ 24 นาที หรือจะวิ่งอยู่ข้างหลังห่างจากผู้นำกว่า 8 กม.เลยทีเดียว

เขมรเทียมเช่นนายเนคโกะสมควรจะได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งโอลิมปิกหรือไม่? แม้เขมรจะไม่มีนักกีฬาที่ผ่านมาตรฐาน A หรือ B แต่ก็สามารถอาศัยข้อยกเว้นส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้ 1 คนเพื่อแสดงสปิริตของนักกีฬา แต่การที่ดาราตลกผู้ทำมาหากินอยู่ในญี่ปุ่นเป็นหลัก มิได้อาศัยอยู่ในเขมรติดต่อกันมากกว่า 1 ปีหลังได้สัญญาติตามกฎของสหพันธ์กรีฑานานาชาติจะมาเป็นตัวแทนเขมรเข้าแข่งโอลิมปิก ถ้าไม่เรียกว่าขายสิทธิแล้วจะให้เรียกว่าอะไร

ประเทศนี้มีไว้ “ขาย” หรือ country for sale จึงเป็นเรื่องที่ต่างชาติมองประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ว่าเป็นประเทศที่ล้มเหลว หรือ fail state หรือ banana republic เพราะขาดซึ่งกฎเกณฑ์หรือหลักนิติรัฐนิติธรรม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการชี้นำของนักการเมือง/ผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว

การพร้อมที่จะขายทุกสรรพสิ่งเพื่อแลกกับประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ปกครองโดยผู้นำที่ฉ้อฉลจึงเป็นเครื่องชี้สำคัญที่บอกว่าเป็นประเทศที่ล้มเหลวหรือไม่ ตัวอย่างของประเทศไทยที่ดีก็คือโครงการบัตรอีลิทที่ขายอธิปไตยให้ต่างชาติแลกเศษเงินในสมัยรัฐบาลทักษิณ

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เขมรอ้างว่านายเนคโกะบริจาคเงิน 2-3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐให้สมาคมกรีฑาเขมรก่อนที่จะได้รับสัญชาติและสิทธินักกีฬาเขมรในการเข้าแข่งขันโอลิมปิก หากเป็นจริงก็เป็นราคาที่ถูกแสนถูกเพราะนายเนคโกะที่มีอายุ 34 ปีในชาตินี้ไม่มีทางที่จะเป็นตัวแทนนักกีฬาญี่ปุ่นเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกได้ด้วยสถิติที่เขามีอยู่ มีแต่ต้องรอชาติหน้าแต่เพียงอย่างเดียว

ทางการเขมรอาจมองว่าเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวหรือความสัมพันธ์ระหว่างเขมรและญี่ปุ่นโดยอาศัยนายเนคโกะเป็นเครื่องมือ แต่สิ่งที่ต้องตอบให้ดีกว่านี้ก็คือ ใช้หลักอะไรในการคัดเลือกส่งนายเนคโกะไปเป็นตัวแทนเขมรเข้าแข่งโอลิมปิกทั้งๆ ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติใดแม้แต่ข้อเดียว

การต้อนรับขับสู้นักโทษหนีคดีเมื่อช่วงสงกรานต์เป็นอย่างดีราวกับว่าเป็นประมุขตัวแทนรัฐไทย ในขณะที่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจใดๆ เลย นั่งดูดายประเทศเพื่อนบ้านที่นอกจากจะไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศแล้วยังไม่เคารพความเป็นชาติของไทยอีกด้วย ระหว่างไทยกับเขมรไม่รู้ว่าใครจะเป็นชาติที่ล้มเหลวมากกว่ากัน

คำว่า “ชาติ” จึงมีความหมาย นอกจากจะแสดงถึงถิ่นที่อยู่ของตนเองแล้วยังแสดงถึงตัวตนในสังคมโลกอีกด้วย ทุกคนในชาติจึงถือเป็นชาติพันธุ์เดียวกันและมีหน้าที่ปกป้องรักษาชาติเอาไว้แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตเพราะต่างก็ได้ประโยชน์จาก “สัญชาติ” ที่ตนเองมีอยู่อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลานของตนเองในอนาคต หากรัฐบาลไม่ปกป้องรักษาชาติด้วยการปกป้องรักษาประโยชน์ที่เป็นของชาติเอาไว้ก็ต้องออกไป

การจะพูดว่า ผม/ดิฉัน เป็นพลเมืองของโลกเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะผูกพันตนเองว่ามี “สัญชาติ”ใด หรือการที่อดีตผู้นำประเทศถึงกับไปยินยอมใช้ “สัญชาติ” ของประเทศอื่นเพื่อหนีคดีนอกจากจะเป็นการดูถูกชาติของตนเองที่มีหน้าที่ปกป้องแล้วยังเป็นการทรยศหักหลังบ้านเกิดของตนเองอย่างไม่น่าให้อภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น